More

    7 สัญญาณเตือน ชีวิต “การเงินพัง”

    ไม่แปลกที่เราล้วนวิ่งตามกระแสสังคม แล้วใช้เงินซื้อความสุขในตอนนี้ ฮีลใจตัวเองเพื่อไม่ให้เป็นบ้าไปเสียก่อน แต่แน่ใจหรือไม่ว่าชีวิตที่ดีมีความสุขในตอนนี้ แล้วในอนาคตจะไม่พัง ทำอย่างไรให้รอดพ้น “การเงินพัง” Inzpy จะมาชวนเช็ก 7 สัญญาณเตือน “ชีวิตการเงินพัง” กัน

    นิสัยแบบนี้แหละ ทำให้ ‘ชีวิตการเงินพัง’

    ชีวิตการเงินพัง การเงินพัง

    1. มัวแต่สนใจคนรอบตัว ทำ “การเงินพัง”

    วิ่งตามกระแสของคนรอบข้าง โดยไม่มีเป้าหมายเป็นของตัวเอง ไม่รู้แผนระยะยาวของตัวเองคืออะไร เห็นคนมีความฝันก็ฝันตามเขา เห็นเขามีก็อยากมีบ้าง เขามีของหรูก็เอาด้วย เดี๋ยวไม่เข้าพวก เดี๋ยวคุยกับเขาไม่รู้เรื่อง แต่ลืมดูฐานะตัวเอง

    เห็นเขาซื้อคริปโตฯ ก็เล่นคริปโตฯ บ้าง ไม่ได้ศึกษาหาความรู้ เขาซื้อหุ้นตัวไหนก็ซื้อตาม แต่อย่าลืมว่าตอนขาย เขาไม่ได้บอกให้เราขาย พังมากี่รายแล้วกับการทำตามคนอื่นเขาแบบไม่สนอะไร

    2. เสียเงินไม่ว่า เสียหน้าไม่ได้

    จุดจบสายเปย์ที่กลัวน้อยหน้าคนอื่น กลัวหาว่าเราเป็นคนงก ไม่มีน้ำใจ แต่ลืมดูเงินในกระเป๋าตัวเอง เปย์สาว ๆ เปย์เพื่อนเสร็จ วันต่อไปโซ้ยมาม่า แบบนี้วนไป เขาชวนไปปาร์ตี้ ก็ไม่เคยปฏิเสธ กลัวไม่มีใครคบ คนเราถ้าอยากมีเพื่อนแท้ ไม่เห็นต้องฝืนออกหน้าไม่เข้าเรื่องเลย

    จุดจบสายเปย์

    3. ไม่รู้จักประหยัด ไม่ตั้งงบการใช้จ่ายตัวเอง

    ไม่จำกัดงบตัวเอง ว่าค่าเสื้อเดือนนี้ ใช้ได้ x พันบาท เท่านั้นนะ, ค่าขนม x บาทก็พอนะ ไม่เคยเปรียบเทียบราคา เห็นก็ซื้อ อยากได้ก็จ่าย ไม่อดทน ไม่คิดอะไรมาก สุดท้ายใช้เงินเดือนชนเดือน ไม่มีเหลือเก็บ การเงินพัง

    แน่นอนความประหยัดไม่ทำให้ใครรวย เต็มที่ก็ให้เราพอมีกินมีใช้ แต่พลังแห่งการประหยัดยิ่งใหญ่มากกว่าที่คิด เพราะคนรวยทั้งหลาย ล้วนมีความประหยัดเป็นเครื่องมือประกอบทั้งสิ้น ตั้งแต่การเลือกแหล่งวัตถุดิบ การต่อรองราคาที่คุ้มค่า ฯลฯ

    ชีวิตการเงินพัง การเงินพัง งบหมด ประหยัด ช้อปปิ้ง

    4. ค่าใช้จ่ายเยอะกว่ารายได้

    หนักกว่าการไม่เหลือเก็บคือการเงินติดลบตลอด เงินเดือนน้อยนิด ชีวิตร้อยล้าน สุดท้ายต้องยืมเงินเก็บตัวเอง หยิบยืมเงินชาวบ้าน ชักหน้าไม่ถึงหลัง ไม่ว่าคุณจะมีนิสัยใช้เงินฟุ่มเฟือย หรือมีเหตุจำเป็นต้องจ่ายจริง ๆ แต่จุดจบของนิสัยนี้คือต้องก่อหนี้เพิ่มขึ้นเพื่อเอามาใช้จ่าย กลายเป็นปัญหาเรื้อรัง

    5. ปฏิเสธไม่เป็น ทำ “การเงินพัง”

    ถ้าแบบเบสิก คือ เจอแม่ค้าขายเก่งก็ยอมซื้อของเขา เจอคนเรี่ยไรเงินก็จะเห็นใจตลอด ใจอ่อนทุกครั้งที่มีคนมาขอยืมเงิน หนักสุดคือโดนขอให้เซ็นสัญญา เซ็นค้ำประกันให้ เราก็ยอม แพ้ตลอดกับคำว่า “เพื่อนกัน ไม่ไว้ใจกันเลยเหรอ?”

    ใจดี ใจอ่อน ขี้เกรงใจ แม่พระไม่เข้าเรื่อง โอ้โห สุดท้ายต้องใช้หนี้แทน แตกหักกันมาเท่าไหร่แล้วกับเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ

    ชีวิตการเงินพัง การเงินพัง

    6. แต่ละเดือนมีหนี้สินที่ต้องผ่อนมากกว่า 40% ของเงินเดือน

    ผ่อนหนี้ที่ว่า คือรวมทั้งหนี้ที่ดี (สินทรัพย์) และหนี้ที่ไม่ดี (หนี้ที่เกิดขึ้นเพราะความฟุ่มเฟือย) เช่น ผ่อนบ้าน คอนโด รถยนต์ โทรศัพท์ สินเชื่อส่วนบุคคล ฯลฯ หากผ่อนในจำนวนที่มากเกินไป จะไปเบียดกับค่าใช้จ่าย สุดท้าย แม้แต่ค่ากิน-ใช้ ก็ต้องถูกลดทอนลงไป ไม่พอใช้ในแต่ละเดือน

    ยิ่งถ้าจ่ายค่าบัตรเครดิตขั้นต่ำตลอดยิ่งหนัก เพราะดอกเบี้ยจะพอกหางหมูขึ้นเรื่อย ๆ ใช้เท่าไหร่ก็ไม่หมดเสียที

    7. ไม่ออม-ไม่มีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน

    เราจะไม่รู้สึกถึงปัญหา จนกว่าจะเจอเหตุไม่คาดฝันขึ้นมาจริง ๆ ทำ “ชีวิตการเงินพัง” มาหลายรายแล้ว

    ลองถามตัวเองจะมีเงินพอใช้ตอนแก่หรือไม่? ถ้าเกิดตกงานขึ้นมาจะซวยไหม? ถ้าใครป่วยต้องนอนโรงพยาบาลจะทำอย่างไร? ถ้าไอ้นั่นเสียไอ้นี่เสียจะมีพอจ่ายค่าซ่อมไหม? ฯลฯ แล้วเก็บเงินสำรองไว้เสียตอนนี้ แนะนำว่าออมให้พอใช้จ่ายได้ 6-12 เดือน

    หากคุณพบเจอข้อใดข้อหนึ่งในนี้ ให้ลองปรับนิสัย ปรับ Mindset ดู แม้การฮีลใจด้วยเงินจะเป็นวิธีที่สะดวก เพราะสุขภาพจิตสำคัญ แต่สุขภาพการเงินก็ต้องดีด้วย เราถึงจะได้ไปต่อ!


    บทความน่าสนใจ

    IAMMAI
    IAMMAI
    อย่าเรียกงก ให้เรียกระมัดระวังเรื่องการใช้จ่าย ยืนหนึ่งเรื่อง Property เพราะยืนคนเดียว ไม่มีใครยืนด้วย

    Related Post