More

    นิทรรศการ “ผ้าบาติก” ทรงสะสมในพระปิยะมหาราช ในสมัยสานสัมพันธ์กับชวา

    นิทรรศการ “ผ้าบาติก” ทรงสะสมในพระปิยะมหาราช ในสมัยสานสัมพันธ์กับชวา

    Batik นิทรรศการ “ผ้าบาติก” วันนี้ Inzpy จะพาเพื่อนๆ ไปชมความงดงามงานวิจิตรบรรจง ภาพสวยๆ จากลวดลายศิลปะที่ถ่ายทอดผ่านผืนผ้าอันสวยงามเล่าเรื่องราวต่างๆ ในสมัยยุคๆ หนึ่งของความเชื่อ และความศรัทธาจากผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ ด้วยศิลปะอันโด่ดเด่น ถ่ายทอดเทคนิคได้สร้างสรรค์ และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวจากรุ่นสู่รุ่น จากวัฒนธรรมต่างๆ อีกด้วย

    Batik

    อีกหนึ่งในพระราชกรณียกิจสำคัญของ รัชกาลที่ 5 คือ การเสด็จประพาส เพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีมิตรต่างชาติ ศึกษาแบบอย่างการปกครอง ทอดพระเนตรธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม และเลือกสรรแบบแผนความเจริญมาพัฒนาประเทศพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นับเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ที่เสด็จเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการ ครั้งแรกเกิดขึ้นในปีพ.ศ.2413 เสด็จเยือนสิงคโปร์และ ชวา (จาการ์ตาและเซอมารัง) และเสด็จเยือนเมืองต่างๆ ของชวาเพิ่มเติมอีก 2 ครั้งในพ.ศ.2439 และ พ.ศ.2444 รวมทั้งการเสด็จประพาสยุโรปในเวลาต่อมา

    Batik

    ระหว่างการเสด็จเยือน ชวา พระองค์เสด็จไปทอดพระเนตรกิจการต่างๆ เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ในช่วงเวลาดังกล่าว เช่น การสร้างรถไฟ สถานพยาบาล สถานศึกษา เรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมของชวา รวมถึงการเขียนผ้า บาติก ซึ่งถือเป็นงานหัตถศิลป์มีชื่อของเกาะชวา

    Batik

    ด้วยลวดลายผ้าบาติก “ลายฮุก” โรงเขียนผ้าของนางแวน ลาวิก แวน แพบสต์ เมืองยอกยาการ์ตา อีกหนึ่งลวดลายที่สงวนไว้ใช้เฉพาะพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางชั้นสูง “ลายฮุก” มีลักษณะเป็นวงกลมมีนกอยู่ตรงกลาง ล้อมรอบด้วยเปลือกหอย 4 ด้าน โดยวงกลมเปรียบเสมือนไข่ สื่อถึงจุดกำเนิดของสิ่งมีชีวิต ขณะที่เปลือกหอยตามความเชื่อของชาวฮินดูถือเป็นสัญลักษณ์ของน้ำ ส่วนความเชื่อของชวาหมายถึง ความร่ำรวย และมั่งคั่ง

    “ผ้าบาติกมีลวดลายสวยงามเป็นที่พอพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง ทรงซื้อผ้าประเภทนี้กลับมาเป็นจำนวนมาก รวมทั้งมีผู้ทูลเกล้าฯ ถวาย รวมทั้งสิ้น 307 ผืน แต่ละผืนมีความโดดเด่นทั้งในแง่ความงดงามของศิลปะ และในแง่องค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์ของชวา” ปิยวรา ทีขะระ เนตรน้อย ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ กล่าว ผ้าบาติกดังกล่าวได้รับการเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีโดยสำนักพระราชวัง และยังไม่เคยนำออกมาจัดแสดงที่ใดมาก่อน จนกระทั่งพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตนำออกมาศึกษาค้นคว้า และจัดแสดงในรูปแบบนิทรรศการชื่อ ผ้าบาติกในพระปิยมหาราช : สายสัมพันธ์สยามและชวา เพื่อระลึกถึงพระราชก่รณียกิจของ ‘พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว’ ในการเสด็จเยือนชวาทั้งสามครั้ง และเพื่อตระหนักถึงพระมหากรุณาธิคุณและพระปรีชาสามารถของพระองค์ที่ทรงรวบรวมวิทยาการและศิลปวัฒนธรรมมาปรับใช้ในการวางรากฐานพัฒนาประเทศไทยอย่างยั่งยืนสืบมาจนถึงปัจจุบัน

    อีกหนึ่งผืนผ้าบาติกที่ ศาสตรัตน์ มัดดิน ภัณฑารักษ์ประจำนิทรรศการ ภูมิใจนำเสนอ นั่นคือ ผ้าบาติกลาย “สิริกิติ์” (Sirikit) ออกแบบขึ้นเป็นพิเศษเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง สื่อถึงพระสิริโฉมและพระจริยวัตรอันงดงาม เมื่อครั้งโดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จทรงเยือนสาธารณรัฐอินโดนีเซียอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 8-16 กุมภาพันธ์ 2503 และเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างไทยและอินโดนีเซีย ซึ่ง มาเรีย วาโวรันตู ที่ปรึกษานิทรรศการได้แปลความหมายคำว่า “สิริกิติ์” โดย “สิริ” มาจากคำว่า “ศรี”แปลว่า สวย และ “กิต” แปลว่า การรวมกันเมื่อรวมกันแล้วจึงหมายความถึง “สิ่งสวยงามอันหลากหลายที่รวมเป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อให้การรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแข็งแกร่งขึ้น”

    Batik “ลวดลายในผืนผ้าประกอบด้วยสามเหลี่ยมหน้าจั่วที่ภายในเต็มไปด้วยดอกไม้หลากหลายชนิด อาทิ ใบเฟิร์น สัญลักษณ์ของพลังและความแข็งแกร่ง ดอกกานพลู และ ดอกกาแฟ แทนกลิ่นดอกไม้หอม ซึ่งเชื่อว่าช่วยส่งเสริมให้มีความเป็นอยู่ที่ดี เมล็ดข้าวบนพื้นหลังของผืนผ้าเป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่ง และความเจริญรุ่งเรือง ส่วนพื้นหลังสีน้ำทะเลและลายเกล็ดปลา เชื่อว่าสามารถปกป้องผู้สวมใส่จากโรคภัยไข้เจ็บได้” ศาสตรัตน์ กล่าวเสริม

    📍การรับชมนิทรรศการเริ่ม ตั้งแต่บัดนี้-30 เมษายน 2566 ณ ห้องจัดแสดง 3-4

    📍พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชนินีนาถ ในพระบรมมหาราชวัง (วัดพระแก้ว)

    📍เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 09.00-16.30 น.

    📍สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม  โทร.02-2259420 และ http://www.qsmtthailand.org/

    อัปเดตคอนเทนต์ใหม่ ๆ ทาง LINE ฟรี
    Add friend ที่ ID : @inzpy (มี@นำ)เพิ่มเพื่อน

     

    Related Post