More

    เจาะลึก 3 ผลงานเด่น ที่ได้รับรางวัลในเวที “BIDC Awards 2022

    เจาะลึก 3 ผลงานเด่น ที่ได้รับรางวัลในเวที “BIDC Awards 2022

    เรียกว่าผ่านไปอย่างงดงาม สำหรับงานประกาศรางวัลผลงานดีเด่นด้านดิจิทัลคอนเทนต์ประจำปี 2022 ในโครงการ “Bangkok International Digital Content Festival 2022” หรือ “BIDC 2022” โดยทั้ง 23 รางวัล ได้ทำการประกาศผ่านรูปแบบ Virtual Event เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งงานนี้จัดขึ้นโดย กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับเหล่าพันธมิตรทั้งภาครัฐ ได้แก่ TCEB , depa และ CEA และภาคอุตสาหกรรม 5 สมาคม ดิจิทัลคอนเทนต์ไทย คือ TGA, BASA , DCAT , e-LAT และ TACGA

    โดยในการคัดเลือกและตัดสินผู้ที่ได้รับรางวัลในปีนี้ คณะกรรมการแต่ละสมาคมต้องทำงานอย่างหนัก เพราะผู้ส่งผลงานแต่ละสาขาล้วนมากฝีมือ ซึ่งครั้งนี้ Inzpy จะพาไปชมผลงานเด่นของ 3 ทีมที่ได้รับรางวัลจากทางสมาคม DCAT, TGA และ TACGA

    เจาะลึก

    สำหรับรางวัลแรก คือรางวัล Best NFT Character Award  ซึ่งเป็นรางวัลในสาขาคาแรคเตอร์ โดย DCAT หรือ สมาคมดิจิทัลคอนเทนต์ไทยที่มอบรางวัลให้กับผลงาน TEDDYBITS (เท็ดดี้บิทส์) โดย POPTODAY หรือ สุมิตร สีมากุล ที่เริ่มต้นทำ TEDDYBITS ด้วยความชอบล้วน ๆ และเริ่มกระโดดมาสู่ NFT เมื่อเห็นโอกาสของตลาด โดยสุมิตรเล่าว่า “จริง ๆ จุดเริ่มต้นคือชอบพวก Art Toy แต่ด้วยความที่เราไม่ได้เป็น Pure Artist เลยเลือกทำสิ่งนี้ในลักษณะเหมือนของสะสม จึงดีไซน์ NFT ตัวนี้ให้สามารถเก็บสะสมเป็นคอลเลกชันได้

    โดยเลือกคาแรคเตอร์ทำตัว Teddy Bear เพราะทุกคนรู้จักและเข้าใจง่ายอยู่แล้ว แต่สไตล์ลิ่งให้พรีเมียม มีความเป็น Pixel และทุกตัวจะมีความ Unique ไม่ซ้ำกัน รวมถึงทำขึ้นเพียง 200 ตัว จะใช้ลูกเล่นในการเปลี่ยน Skin หรือเพิ่ม Element ใหม่ ๆ

    เจาะลึก

    ส่วนตัวมองว่า งานที่เราสร้างสรรค์ขึ้นมา มันต้องมีความเป็น Universal ไม่ใช่เรารู้จักคนเดียว แต่คนอื่นเข้าไม่ถึง ฉะนั้นงานที่เราอยากให้เขาสามารถนำไปสะสมได้ ต้องไปนั่งอยู่ในใจเขาได้ ซึ่งการครีเอทแต่ละตัวต้องใช้เวลาและมานั่งคิด ปะติดปะต่อกับสถานการณ์ในแต่ละช่วง อีกอย่างเราพยายามทำให้มี  กิมมิคโดยใส่เพศเข้าไป”

    ทั้งนี้ สุมิตรยังแชร์ให้ฟังถึงคนที่อยากเริ่มต้นในเส้นทาง NFT เพิ่มเติมว่า “ใคร ๆ ก็สามารถทำได้ เพราะสิ่งนี้เหมาะกับคนที่ชอบทำงานศิลปะ แต่สิ่งที่แตกต่างคือแพลตฟอร์ม ก่อนหน้านี้ทุกคนวาดและโพสต์ในช่องทางโซเชียลมีเดีย เพื่อให้มีคนมากดไลค์

    เจาะลึก

    แต่ NFT เราวาดและนำไปลงในอีกที่ และไม่ใช่แค่กดไลค์ แต่สามารถซื้อขายสร้างรายได้ทันที และเมื่อเราลงไปแล้วอย่าไปกดดันตัวเอง ว่าไม่มีคนมาซื้อ ต้องทำไปเรื่อย ๆ เพราะงานของเรามันอาจมี Element อะไรที่ถูกใจใครบางคนในอนาคต โดยส่วนตัวมองว่า NFT ในด้านสายคาแรคเตอร์โตขึ้นอย่างมาก ซึ่งเราดีใจที่เห็นคนรุ่นใหม่มีผลงานที่ดีสู่ตลาด NFT มากยิ่งขึ้น” (สามารถเข้าไปส่องผลงาน TEDDYBITS ทั้ง 242 ชิ้น ได้ทาง https://opensea.io/collection/teddybits)

    เจาะลึก

    สำหรับรางวัลถัดมาที่จะพาไปชมกัน คือ ผลงานเกม JOOJEE’S JOURNEY (การผจญภัยของจู้จี้) โดย QUANTUM PEAKS ซึ่ง รวิศร์ มโนมัยวิบูลย์ เป็นตัวแทนบอกเล่าถึงที่มาของเกม ที่สามารถคว้าถึง 5 จาก 6 รางวัลในสาขา Game & Interactive โดย TGA หรือ สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทย

    โดยรวิศร์เผยว่า “ทีมทุกคนรู้สึกดีใจอย่างมากและเกินคาดมาก ๆ โดยจุดเริ่มต้นของเรา ตั้งเป้าหมายชัดเจนในการทำเกมลงใน Nintendo Switch และตั้งเป้าในการไปให้ถึงระดับโลก

    เจาะลึก

    ซึ่งครั้งแรกที่เราได้พาเกมนี้ไปนอกประเทศไทยครั้งแรก คือ ที่โตเกียวเกมโชว์ 2019 เราอยากจะรู้ว่าตัวละคร มี Potential ที่จะอยู่บนเวทีโลกได้ขนาดไหน ตอนนั้นก็ได้ฟีดแบคกลับมาก็รู้ต้องพัฒนาอีกเยอะ มีการปรับให้เป็นพล็อตเรื่องความจำเสื่อม ทำให้คนอยากรู้ ติดตามเกมเรื่อย ๆ จนไปสู่ปลายทาง”

    รวิศร์ เล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่า “วันนี้เรามีผลงานที่อยู่บนเวทีนี้ได้จริง เป้าหมายต่อไปของเราคือ เริ่มต้นทำเกมใหม่ที่ดีกว่าเดิม และอยากฝากถึงทุกคนที่เดินตามความฝันคือ อย่ายอมแพ้ เพราะเส้นทางของคนที่จะมาสร้างงานศิลปะ เป็นอะไรที่ยากลำบากอยู่แล้ว เป็นเรื่องของอาร์ต และผลตอบแทนนั้นอาจจะยังไม่ดี ถ้าเรายังไม่มีชื่อเสียง ทำให้บางคนยอมแพ้ไปก่อน

    แต่ผมเชื่อว่าถ้าเราพัฒนาฝีมือ วันหนึ่งจะเป็นของทุกคนจริง ๆ (สามารถสนับสนุนผลงานเกมฝีมือคนไทย ได้ทาง https://www.facebook.com/QuantumPeaks)

    ส่วนอีกหนึ่งผลงานที่โดดเด่นในสาขารางวัล Animation & Visual Effect โดย TACGA หรือ สมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ไทย ได้แก่ ผลงาน A TOWN WHERE WE LIVE – SKY OF LIGHT โดย IGLOO STUDIO ที่ได้รับรางวัล Best Animated Short Award โดย ณัฐ ยศวัฒนานนท์ เล่าให้ฟังว่า

    “งานชิ้นนี้เสร็จเมื่อปลายปี 2564 ใช้เวลาทำประมาณ 4 เดือนเต็ม คอนเซ็ปต์โดยรวม เราใช้คำว่าโฆษณาที่มีความเป็นหนังสั้น ประมาณ 2 นาที ซึ่งเป็นผลงานที่เราทำให้กับ PEA โดยแกนของเรื่องนั้นเล่าเรื่องราวประวัติการให้บริการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ดำเนินเรื่องผ่านตัวละคร 2 ตัว และมีเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง มีการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย จากปัจจุบันส่งต่อไปอนาคต

    โดยเรานำเอาเทคนิค Traditional Amination ที่ร่วมสมัยมากขึ้นมาใช้ แต่ใส่ความโมเดิร์นจากกราฟิกเข้ามาผสม ซึ่งทั้งหมดก็ต้องการจะบอกว่าแต่ละยุคของ PEA เขาทำอะไรมาบ้าง ทำให้เข้าใจง่าย นอกจากนั้น ยังใช้ดนตรี City Pop เพลงมีความย้อนสมัยมาใช้ทำให้ภาพดูสบายขึ้น

    รวมถึงเลือก Element หลายอย่างที่คนไทยชอบ ออกมาแล้วกลายเป็นเป็นอนิเมะแบบไทย ๆ ซึ่งสิ่งนี้เอง คิดว่าน่าจะทำให้งานชิ้นนี้ได้รับการคัดเลือกให้ได้รับรางวัล”

    นอกจากนี้ IGLOO STUDIO ยังได้รับรางวัล BEST ANIMATED CONTENT AWARD จากผลงาน THAILAND PAVILLION : MOBILITY OF FUTURE พ่วงอีก 1 รางวัลจากงาน BIDC AWARDS อีกด้วย (สามารถติดตามผลงานของ IGLOO STUDIO ได้ทาง http://www.igloocg.com)

    *หากสนใจ ติดตามรางวัลอื่น ๆ และกิจกรรมในงาน BIDC 2022 เพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/bidc.fest

    อัปเดตคอนเทนต์ใหม่ ๆ ทาง LINE ฟรี
    Add friend ที่ ID : @inzpy (มี@นำ)เพิ่มเพื่อน

    บทความน่าสนใจ : 10 อันดับ คอน โดฯ น่าอยู่ ของคนชอบเลี้ยงสัตว์ ปี 2022

     

    Related Post