More

    จับตา เศรษฐกิจ-เงินเฟ้อ ชี้เทรนด์เช่ามาแรง ในตลาดอสังหาฯ

    จับตา เศรษฐกิจ-เงินเฟ้อ ชี้เทรนด์เช่ามาแรง ในตลาดอสังหาฯ  สำหรับภาพรวมตลาดอสังหาฯ ปี 2565 ถือว่ามีการชะลอตัวตามภาพรวมเศรษฐกิจ รวมถึงสัญญาณเตือนเงินเฟ้อตั้งแต่ต้นปี ส่งผลให้ผู้คนใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้น ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยในช่วงไตรมาสแรกของปี มีแนวโน้มปรับตัวลดลงต่อเนื่อง สวนทางกับความต้องการเสนอขายอสังหาฯ ยังคงเติบโต

    ด้านผู้พัฒนาอสังหาฯ วางแผนเปิดตัวโครงการใหม่เพื่อรุกตลาดปี 2565 ยังคึกคัก แม้อัตราการดูดซับสินค้ายังคงอยู่ในระดับต่ำ แต่ไร้สัญญาณฟองสบู่อสังหาฯ ซึ่งคาดว่ามาตรการจากภาครัฐจะเป็นปัจจัยสำคัญ ที่เชื่อมโยงความต้องการของผู้ประกอบการและผู้บริโภค ผลักดันให้การซื้อ-ขายที่อยู่อาศัยปีนี้กลับมาคึกคัก

    จับตา เศรษฐกิจ-เงินเฟ้อ
    Cr. Photo by Breno Assis on Unsplash

    โดยข้อมูลล่าสุดจากรายงานของ DDproperty เผยดัชนีราคาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 84 จุด หรือลดลง 1% จากไตรมาสก่อน หลังจากผู้ประกอบการยังคงแข่งขันนำเสนอโปรโมชันที่คุ้มค่า เพื่อกระตุ้นการตัดสินใจซื้อ ด้านที่อยู่อาศัยแนวราบยังคงตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้บริโภคได้มากกว่า เห็นได้จากความนิยมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยดัชนีราคาบ้านเดี่ยวเพิ่มขึ้นถึง 5% จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นถึง 13% จากปีก่อนหน้า

    ส่วนดัชนีราคาทาวน์เฮ้าส์เพิ่มขึ้น 1% จากไตรมาสก่อน ทรงตัวจากปีก่อนหน้า สวนทางกับคอนโดฯ ที่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง เนื่องจากเทรนด์การอยู่อาศัยปัจจุบันที่ผู้บริโภคหันมาให้ความสนใจโครงการแนวราบมากกว่า ผนวกกับการที่นักลงทุนและชาวต่างชาติหายไปจากตลาดเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ดัชนีราคาคอนโดฯ ลดลง 1% จากไตรมาสก่อน และลดลงถึง 10% ในรอบปี

    จับตา เศรษฐกิจ-เงินเฟ้อ
    Cr. Photo : www.ddproperty.com

    ด้าน นางกมลภัทร แสวงกิจ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทยของดีดีพร็อพเพอร์ตี้ กล่าวว่า

    “แม้การเริ่มต้นศักราชใหม่ในปี 2565 นี้อาจไม่สดใสตามที่หลายฝ่ายคาดไว้ ทั้งจากภาพรวมเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวและสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ ที่ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อผู้บริโภคมายาวนาน

    นอกจากนี้ยังมีภาวะเงินเฟ้อที่เข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญ ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยว่า อัตราเงินเฟ้อล่าสุด ณ เดือนมกราคมปรับเพิ่มมาที่ 3.23% ซึ่งสูงกว่าคาดการณ์เดิมที่ 1.7% ส่งผลกระทบกับผู้บริโภคโดยตรงทั้งในฝั่งของค่าครองชีพ และภาระหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้บริโภคเลือกที่จะชะลอการซื้อที่อยู่อาศัยหรือใช้เวลาในการตัดสินใจนานขึ้น

    ทั้งนี้มีความเคลื่อนไหวจากผู้พัฒนาอสังหาฯ ที่เปิดตัวแผนธุรกิจรุกตลาดในปีนี้อย่างต่อเนื่อง คาดว่าโปรโมชันการตลาดต่าง ๆ จะช่วยขับเคลื่อนให้ตลาดอสังหาฯ กลับมาคึกคักอีกครั้ง ประกอบกับมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐที่เอื้อต่อการซื้อบ้าน อาทิ การลดค่าโอนกรรมสิทธิ์และค่าจดจำนองทั้งบ้านใหม่และบ้านมือสอง รวมถึงการผ่อนคลายมาตรการควบคุมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (LTV) ชั่วคราวของ ธปท. ถือเป็นปัจจัยบวกช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น และยังเป็นโอกาสทองของผู้ซื้อที่มีความพร้อมในช่วงนี้ เพราะราคาที่อยู่อาศัยมีความเหมาะสมและคุ้มค่า ก่อนที่โครงการใหม่จะเริ่มเข้าสู่ตลาดและมีการปรับราคาสูงขึ้นตามต้นทุนปัจจุบัน

    แต่อย่างไรก็ดี แม้ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 จะมีแนวโน้มปรับตัวลดลงต่อเนื่อง และคาดว่าจะยังคงไม่เพิ่มขึ้นในไตรมาสถัดไป โดยทิศทางอสังหาฯ ไทยต่อจากนี้ จะเป็นการเติบโตตามสภาพเศรษฐกิจ และกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศ ซึ่งยังต้องเฝ้าระวังภาวะเงินเฟ้อจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่มีผลกระทบต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคโดยตรง”

    ทิศทางอสังหาฯ ปี 65 “เทรนด์เช่า-ซื้อ” ยังโตได้มากน้อยแค่ไหน ?
    จับตา เศรษฐกิจ-เงินเฟ้อ
    Cr. Photo by Nadine Shaabana on Unsplash

    -เทรนด์เช่ายังไม่แผ่ว ความต้องการพุ่งกว่า 22% เทรนด์การเช่าที่อยู่อาศัยยังคงตอบโจทย์สถานะการเงินของผู้บริโภคยุคนี้ เห็นได้จากดัชนีค่าเช่าที่มีแนวโน้มลดลง ซึ่งเอื้อต่อการเช่าในอัตราค่าเช่าที่ถูกลงตามกำลังซื้อผู้บริโภค

    โดยทาง DDproperty เผยว่า ดัชนีค่าเช่าในกรุงเทพฯ ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 90 จุด จาก 93 จุด หรือลดลง 3% จากไตรมาสก่อน เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้าที่ไม่มีการแพร่ระบาดฯ พบว่าลดลงถึง 13% โดยดัชนีค่าเช่าคอนโดฯ ลดลงมากที่สุด 2% จากไตรมาสก่อน เป็นผลกระทบจากการล็อกดาวน์ที่ทำให้ผู้เช่าชาวไทย และต่างชาติหายไปจากตลาดเป็นเวลานาน

    ผู้ให้เช่าจึงต้องปรับลดราคาเพื่อกระตุ้นการตัดสินเช่ากับกลุ่มเป้าหมายที่มีอยู่แทน สวนทางกับดัชนีค่าเช่าบ้านเดี่ยวที่เพิ่มขึ้นถึง 6% ส่วนดัชนีค่าเช่าทาวน์เฮ้าส์ยังคงทรงตัวจากไตรมาสก่อน สอดคล้องกับเทรนด์การหาที่อยู่อาศัยทั้งซื้อและเช่าที่แนวราบยังคงตอบโจทย์มากกว่า

    อย่างไรก็ตาม ตลาดเช่าทุกรูปแบบยังคงมีทิศทางเติบโต เห็นได้ชัดจากความต้องการเช่าในไตรมาสนี้ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 22% โดยคอนโดฯ ครองใจผู้เช่ามาเป็นอันดับ 1 ด้วยความต้องการเช่าที่เพิ่มสูงถึง 26% จากไตรมาสก่อน ตามมาด้วยบ้านเดี่ยว และทาวน์เฮ้าส์ ซึ่งเพิ่มขึ้น 13% และ 10% (ตามลำดับ)

    จับตา เศรษฐกิจ-เงินเฟ้อ
    Cr. Photo : www.sansiri.com

    -อุปทานโตต่อเนื่อง โอกาสทองที่ยังรอผู้ซื้อ ปี 2565 เริ่มเห็นสัญญาณของผู้ประกอบการในการเปิดตัวโครงการใหม่หลังจากชะลอในช่วงปี 2564 โดยภาพรวมจำนวนที่อยู่อาศัยในตลาดยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้น อยู่ที่ 229 จุด จาก 223 จุด หรือเพิ่มขึ้น 3% จากไตรมาสก่อน

    โดยที่อยู่อาศัยแนวราบอย่างบ้านเดี่ยว มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากที่สุดถึง 7% จากไตรมาสก่อน หรือ 42% จากปีก่อนหน้า สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการและผู้บริโภคที่มีสินค้าแนวราบอยู่ในมือได้นำออกมาขายมากขึ้น เพื่อรองรับเทรนด์ความต้องการของผู้ซื้อกลุ่ม Real Demand

    ตามมาด้วยคอนโดฯ ที่แม้โตไม่หวือหวาแต่ยังมีดีมานด์ในตลาด ยังคงเพิ่มขึ้น 3% จากไตรมาสก่อน หรือ 21% จากปีก่อนหน้า ขณะที่ทาวน์เฮ้าส์ทรงตัวจากไตรมาสก่อน โดยเพิ่มขึ้น 32% จากปีก่อนหน้า ถือว่าอุปทานในตลาดตอนนี้มีจำนวนเพียงพอที่จะรองรับความต้องการซื้อของผู้บริโภค ตอบสนองกับมาตรการภาครัฐที่สนับสนุนการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยในปีนี้ แม้อัตราการดูดซับสินค้าในตลาดซื้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ แต่เป็นผลดีที่ผู้บริโภคจะมีตัวเลือกมากขึ้น และเป็นโอกาสทองโค้งสุดท้ายของผู้ซื้อและนักลงทุนระยะยาวที่มีความพร้อมในการครอบครองที่อยู่อาศัยในราคาที่จับต้องได้ ก่อนที่ราคาขายของที่อยู่อาศัยในโครงการใหม่ ๆ จะทยอยปรับตัวสูงขึ้นตามกลไกของตลาดในอนาคต

    Cr. Photo : thethaiger.com

    -รถไฟฟ้าหัวใจสำคัญ เทรนด์การค้นหาที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคยังคงมุ่งเน้นไปแถบชานเมืองที่เดินทางสะดวกเป็นหลัก เห็นได้จาก 5 อันดับทำเลที่มีดัชนีราคาเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบไตรมาสนี้ จะอยู่ในพื้นที่นอกเขตศูนย์กลางธุรกิจ (CBD) ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับอานิสงส์จากโครงการรถไฟฟ้าสายใหม่ ทั้งที่เปิดให้บริการแล้วและอยู่ระหว่างก่อสร้าง

    โดยรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-หลักสอง ส่งผลให้เขตบางแคมีดัชนีราคาเพิ่มขึ้นสูงที่สุดถึง 9% จากไตรมาสก่อน ส่วนเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย มีดัชนีราคาเพิ่มขึ้น 5% จากไตรมาสก่อน ในขณะที่พื้นที่กรุงเทพฯ รอบนอกอย่างเขตตลิ่งชันที่มีรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน มีดัชนีราคาเพิ่มขึ้น 4% จากไตรมาสก่อน

    ด้านเขตมีนบุรีมีดัชนีราคาเพิ่มขึ้น 4% จากไตรมาสก่อน หลังได้อานิสงส์จากรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ซึ่งมีแผนเปิดให้บริการในปี 2567

    นอกจากนี้ อีกหนึ่งทำเลกรุงเทพฯ รอบนอกอย่างเขตบางขุนเทียน แม้ปัจจุบันจะยังไม่มีรถไฟฟ้าพาดผ่าน แต่ดัชนีราคาเพิ่มขึ้น 6% จากไตรมาสก่อน ถือเป็นทำเลชานเมืองที่น่าจับตามอง ศักยภาพในการพัฒนาธุรกิจในอนาคต จากการที่มีชุมชนขนาดใหญ่ ใกล้แหล่งงาน และสถานศึกษาชั้นนำ

    ขอบคุณข้อมูลจาก www.ddproperty.com

     

     

    บทความน่าสนใจ : The Cube Boutique Ramintra คอนโดฯ บรรยากาศส่วนตัว ใกล้รถไฟฟ้า

    Related Post