More

    ช้อปดีมีคืน 2566 สรุปครบ ใช้ยังไงให้คุ้ม ลดหย่อนภาษี ยันค่าน้ำมัน

    ช้อปดีมีคืน 2566 ถือเป็นของขวัญต้อนรับปีใหม่สำหรับคนไทย เอาใจสายเปย์ สายช้อปปิ้งแบบสุด ๆ ซึ่งงวดนี้ “ค่าน้ำมัน” ก็เข้าร่วมโครงการด้วย ถ้าใช้เป็น ใช้ดี ๆ ได้ “ลดหย่อนภาษี” คุ้มแน่นอน! Inzpy รวบรวมวิธีใช้ เงื่อนไขของโครงการนี้มาให้คุณแล้ว จะได้ซื้อของกันจุใจ ได้ส่วนลดเต็ม ๆ

    ช้อปดีมีคืน 2566 คืออะไร ?

    “ช้อปดีมีคืน 2566” เป็นโครงการจากกระทรวงการคลัง ทำมาเพื่อตอบโจทย์สำหรับคนที่ชอบช้อปปิ้ง-ซื้อของ สามารถนำไปใช้ส่วนลดในการลดหย่อนภาษีสำหรับภาษีบุคคลธรรมดา ในปีภาษี 2567 ได้สูงสุด 40,000 บาท แต่จะไม่สามารถนำเงินในส่วนตรงนั้นไปแลกเงินสดได้

    เริ่มใช้ “ช้อปดีมีคืน 2566″ ได้วันไหน ?

    เริ่มระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2566

    โดยไม่ต้องลงทะเบียนใด ๆ ถ้าต้องการใช้สิทธิ ก็สามารถซื้อสินค้าหรือบริการตามเงื่อนไขที่กำหนด แล้วขอใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปจากร้านค้า แล้วใช้ประกอบการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 2566 เพื่อหัก “ลดหย่อนภาษี” ได้เหมือนกับค่าลดหย่อนอื่น ๆ ทั่วไป

    ช้อปดีมีคืน 2566 ใช้อะไรได้บ้าง ?

    • ค่าซื้อสินค้า และค่าบริการทุกประเภทที่ซื้อจากผู้ประกอบการ ที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หรือซื้อหนังสือ หรือ e-book (ไม่รวมถึงนิตยสารและหนังสือพิมพ์)
    • สินค้า OTOP ที่ได้ลงทะเบียนกับกรมพัฒนาชุมชนแล้ว
    • ปีนี้ สรรพากร เพิ่มให้ “ค่าน้ำมัน” สำหรับรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ เข้าร่วมมาตรการช้อปดีมีคืนได้เป็นครั้งแรก

    เงื่อนไขการใช้ ลดหย่อนภาษี

    เมื่อช้อปปิ้งระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2566 ได้รับสิทธิหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 40,000 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว) แบ่งเป็น

    • ซื้อสินค้า หรือ บริการ ไม่เกิน 30,000 บาทแรก ใช้ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปหรือใบรับได้ทั้งแบบกระดาษ / e-Tax Invoice / e-Receipt
    • ซื้อสินค้า หรือ บริการ จำนวนอีกไม่เกิน 10,000 บาท ใช้ได้เฉพาะใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ / e-Tax Invoice / e-Receipt เท่านั้น

    *การใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มาตรการ ช้อป ดี มีคืน ครั้งนี้สำหรับแบบ ภ.ง.ด. 90/91 ระหว่างเดือน ม.ค. – มี.ค. 2567

    สินค้าและบริการที่ไม่สามารถใช้สิทธิได้

    • ค่าสุรา เบียร์ ไวน์ ยาสูบ
    • ค่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ
    • ค่ารถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ
    • ค่าบริการหนังสือพิมพ์และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
    • ค่าบริการจัดนำเที่ยวและมัคคุเทศก์
    • ค่าที่พักในโรงแรม
    • ค่าสาธารณูปโภค น้ำประปา ไฟฟ้า บริการสัญญาณโทรศัพท์และบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต
    • ค่าบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการและผู้รับบริการสามารถใช้ บริการดังกล่าวนอกเหนือจากระยะเวลา ตามที่กำหนดไว้ (วันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566) เช่น ค่าสมาชิกต่าง ๆ
    • ค่าประกันวินาศภัย

    อัตราการ “ลดหย่อนภาษี”

    • เงินได้สุทธิ 0-150,000 บาท (ได้รับการยกเว้นภาษีอยู่แล้ว ไม่ได้ประโยชน์จากโครงการ “ช้อปดีมีคืน”)
    • เงินได้สุทธิ 150,001-300,000 บาท อัตราภาษี 5% ช้อปเต็มจำนวน 40,000 บาท มีสิทธิคืนภาษีสูงสุด 2,000 บาท
    • เงินได้สุทธิ 300,001-500,000 บาท อัตราภาษี 10% ช้อปเต็มจำนวน 40,000 บาท มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 4,000 บาท
    • เงินได้สุทธิ 500,001-750,000 บาท อัตราภาษี 15% ช้อปเต็มจำนวน 40,000 บาท มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 6,000 บาท

    • เงินได้สุทธิ 750,001-1,000,000 บาท อัตราภาษี 20% ช้อปเต็มจำนวน 40,000 บาท มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 8,000 บาท
    • เงินได้สุทธิ 1,000,001-2,000,000 บาท อัตราภาษี 25% ช้อปเต็มจำนวน 40,000 บาท มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 10,000 บาท
    • เงินได้สุทธิ 2,000,001-5,000,000 บาท อัตราภาษี 30% ช้อปเต็มจำนวน 40,000 บาท มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 12,000 บาท
    • เงินได้สุทธิตั้งแต่ 5,000,001 บาทขึ้นไป อัตราภาษี 35% ช้อปเต็มจำนวน 40,000 บาท มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 14,000 บาท

    ถ้าฐานภาษีไม่สูง ก่อนช้อปปิ้งก็คิดดี ๆ ว่าคุ้มหรือไม่ หากจะจ่าย 4 หมื่น เพื่อแลกภาษีคืนแค่ไม่กี่บาท สุดท้ายนี้ ซื้อของทุกครั้ง อย่าลืมขอนำใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบกระดาษ หรือแบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยบางห้างเริ่มทำระบบ e-Tax แล้วค่ะ

    ขอบคุณข้อมูลจาก กรมสรรพากร, accrevo, komchadluek


    บทความน่าสนใจ

    IAMMAI
    IAMMAI
    อย่าเรียกงก ให้เรียกระมัดระวังเรื่องการใช้จ่าย ยืนหนึ่งเรื่อง Property เพราะยืนคนเดียว ไม่มีใครยืนด้วย

    Related Post