More

    บี-ชนิดา อรุณรังษี กับบทบาทอาร์ติสท์ ผู้สร้างศิลปะแบบ Rare item

    บี-ชนิดา อรุณรังษี กับบทบาทอาร์ติสท์ ผู้สร้างศิลปะแบบ Rare item

    นัยตาน์เป็นประกายมุ่งมั่น บนรูปหน้าอันสะสวย ทรวดทรงเธอสูงโปร่งงามระหง  รูปพรรณสัณฐานของหญิงสาวที่เราพรรณนานี้… มิใช่นางเอกหนังหรือนางสาวไทย แต่คนที่อยู่เบื้องหน้าทีมงาน Inzpy คือ… “บี-ชนิดา อรุณรังษี” อาร์ติสท์สาว (อดีตแอร์โฮสเตส!) ที่รักและเคารพการสร้างสรรค์งานศิลปะแนว Abstract

    ซึ่งเธอถือเป็นอีกหนึ่งหญิงมั่น ที่นอกจากจะมีคาแรคเตอร์ชัด…ลึก (ระดับ HD แล้ว) ผลงานที่รังสรรค์แต่ละชิ้น ยังทรงพลังราวกับแม่เหล็กดึงดูดใจแก่ผู้ได้พิศชม แน่นอนว่าผลงานของเธอได้ออก Exhibition มาแล้วหลายครั้ง และซิกเนเจอร์ความเป็นชนิดา ก็คือการสร้างสรรค์งานที่สะท้อนความเป็นตัวตน

    แต่การได้สนทนากับอาร์ติสท์สาวผู้นี้ มิใช่เป็นการเยินยอผลงาน (เพราะเธอก็มีดีในแบบของเธออยู่แล้ว) ทว่าสิ่งที่ได้ประโยชน์มากกว่านั้น คือ วิธีคิด วิธีการทำงาน และการค้นหาตัวเอง ที่หล่อหลอมรวมกันจนทำให้บีพบกับความสุข ซึ่งเป็นความสุขที่อุบัติขึ้นจากแรงขับเคลื่อนทางใจ…

    บี-ชนิดา อรุณรังษี
    บรรยากาศ บนพื้นที่ชั้น 2 ของสตูดิโอ CHANI D’ART
    จุดเริ่มต้นในการสนใจงานศิลปะ 

    เกิดขึ้นตั้งแต่สมัย บีเคยเป็นแอร์โฮสเตส ที่การบินไทยค่ะ (เธอทำงานนี้อยู่ 12 ปี) พอทำงานได้สัก 5 ปี ก็รู้สึกว่าเรามีหน้าที่การงานที่ดีนะ แต่เหมือนมีอะไรบางอย่างขาดหายไปอยู่ จนฉุกคิดว่าเราควรเกิดมาทำอะไรได้มากกว่านี้ จึงเริ่มมองหาความหมายในชีวิต กระทั่งขณะทำงาน บินไปโน่นไปนี่  บีกลับรู้สึกเอนจอยไปกับการได้ไปดูงานศิลปะตามมิวเซียมประเทศต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นประสบการ์ที่ดีมาก และนี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่รู้ตัวเองแล้วล่ะว่าเราชอบงานศิลปะ

    จนได้มาเจอพี่ ชลิต นาคพะวัน จึงมีโอกาสไปเรียนศิลปะคอร์สสั้น ๆ กับเขา ก็ยิ่งทำให้เอนจอยกว่าเดิม  เอนจอยกับวีธีคิด วิถีชีวิตของเขา ตื่นมาวาดรูป เขียนหนังสือ ในที่สุดเราก็ได้เป็นเพื่อนกัน  จากนั้นบีก็เริ่มทำงานศิลปะมาเรื่อย ๆ จนกลายเป็นงานอดิเรก

    บี-ชนิดา อรุณรังษี
    มุมทางเดินขึ้น-ลง บันไดที่เต็มไปด้วยงานศิลปะของ บี-ชนิดา
    ก้าวแรกของเส้นทางศิลปะ

    เริ่มมาจากงาน Semi Abstract ค่ะ (ศิลปะกึ่งนามธรรม) และก็มีทำงานพวก Mixed Media Art (ศิลปะสื่อผสม) เพราะตอนนั้นเราเป็นลูกศิษย์พี่ชลิตด้วย ซึ่งเขาก็ทำงานแนวนี้อยู่ บีจึงได้ทดลองเทคนิคอะไรหลาย ๆ แบบจากที่พี่เขาสอนมา และก็ทำมาเรื่อย ๆ จน อายุสักประมาณ 30 กว่า บีก็แต่งงาน มีลูก และเปลี่ยนบทบาทไปเป็นคุณแม่ ซึ่งบีเวลาทำอะไรค่อนข้างทำจริงจัง เราก็ทุ่มเทชีวิตให้กับลูกเลย ทำให้ห่างจากการเขียนรูปไปถึง  6 ปี

    จนวันหนึ่งบีถ่ายรูปลูก และสังเกตเห็นว่ารูปภาพที่ถ่ายเก็บไว้ในโทรศัพท์เป็นหมื่นรูป ไม่เคยได้เอามาติดบ้านเลย  จึงลุกขึ้นมาเขียนรูปลูกดู อ้าวเฮ้ย! (น้ำเสียงตกใจ)  มันได้นะ หลังจากนั้นก็ทำมาเรื่อย ๆ จนเริ่มมีคนออเดอร์ภาพวาด เมื่อถึงจุดหนึ่งเขียนงานมาเยอะแล้ว จึงรู้สึกอยากแสดงงาน จึงได้ติดต่อไปที่ Trendy Gallery พอเราส่งงงานไปให้ทางแกลเลอรีดู เขาก็ชอบ จึงได้มีโอกาสจัดนิทรรศการเดี่ยวภายใต้ชื่อ The Artist ขึ้น ซึ่งจะเป็นรูป Portrait ที่เกี่ยวกับนักดนตรี ซึ่งก็มาจากว่าครอบครัวบี เป็นนักดนตรีหมดเลยนั่นเองค่ะ

    พอเริ่มรู้สึกว่างาน Portrait ซึ่งเป็นภาพคนที่อยู่ในภาพมันจำกัดเราประมาณหนึ่ง จึงตัดสินใจมาทาง Abstract Expressionism  และค้นพบว่าเออ… สิ่งนี้คือเรา 100 % คือมันรู้เลยว่าอันนี้มันเติมเต็มความเป็นตัวเรา แสดงออกมาได้อย่างเต็มที่

    บี-ชนิดา อรุณรังษี

    ผลงานที่สะท้อนความเป็นตัวตนของ บี-ชนิดา

    ผลงานที่กลั่นมาจากความรู้สึกข้างในค่ะ ที่เราอยากบอกเล่าเรื่องราวโดยใช้สีและฝีแปรงแทนคำพูด เวลาที่ทำงานมันคล้ายๆ กับ ออกมาจากจิตใต้สำนึก เพราะฉะนั้นงาน Abstract ที่บีสร้าง จะสะท้อนตัวตนชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ทีแรกก็ตกใจเหมือนกัน ว่าเราใจร้อนหรือมีความรุนแรงบางอย่าง (หัวเราะ) แต่สุดท้ายเราก็จะรู้ว่าเรามีสีเฉพาะตัวแบบนี้ มันเติมเต็มความรู้สึกนะ คือเห็นแล้วอิ่มเอม ชอบเห็นอะไรเลอะ ๆ แบบนี้ ทั้งที่ชีวิตจริงเป็นแม่ที่เนี้ยบมาก ก็เลยรู้ว่าเออ… มันเห็นตัวตนที่แท้จริงของเรา

    ซึ่งบีไม่สามารถทำงาน Abstract ตามสั่งได้นะ นอกจากบีจะอินเรื่องนั้นอยู่จริง ๆ ถึงจะทำได้ และทำได้ดี แต่ก็มีลูกค้าบางคน อยากได้งานสีนี้ สีนั้น แต่บีก็บอกเขาว่า ถ้าช่วงไหนอินกับสิ่งนั้น ๆ เดี๋ยวบีทำอออกมาให้เลือกดีกว่า

    บี-ชนิดา อรุณรังษี

    แรงบันดาลใจ ในการสร้างสรรค์งาน

    ก่อนหน้านี้ บีทำงานมาอยู่ 6 ซีรีส์ เช่น งานชุดแรกที่ทำ ชื่อ Sweet Sense  ก็จะพูดถึงช่วงเวลาที่ให้ความรู้สึกหอมหวาน ซึ่งอาจไม่ได้พูดถึงขนมหวานตรง ๆ  แต่พูดถึงกลิ่นหอมของขนม ที่ญี่ปุ่น หรือว่ากลิ่นหอมของชา ที่ฝรั่งเศส ต่อมาอีกชุดก็ทำเรื่องเกี่ยวกับบรรยากาศที่เราจำได้  อาทิ เราไปเดินที่ฝรั่งเศส และอิตาลีในหน้าหนาว ซึ่งมันจะมีกลิ่นต่างกัน บรรยากาศต่างกัน สภาพแวดล้อมต่างกัน  หรือเสียงของผู้คนที่สัญจรผ่านไปผ่านมานั่นเอง

    สรุปคือการทำงานตามช่วงเวลาที่เรารู้สึกกับสิ่งนั้น หรือกลับไปคิดกับเรื่องนั้น ๆ แต่ช่วงหลัง ๆ จะเป็นเรื่องของความคิดมากกว่า เพราะว่าเราโตขึ้นด้วย ซึ่งตอนนี้บีก็กำลังศึกษาการพัฒนาตัวเอง บีว่าส่วนหนึ่งมาจากงาน Abstract ทำให้บีกลับไปมองย้อนตัวเอง และเห็นตัวเองเยอะขึ้น ทำให้เรารู้สึกอยากพัฒนาตัวเองให้ดี เพื่อจะมีชีวิตที่มีความสุข

    บี-ชนิดา อรุณรังษี
    บรรยากาศ ภายในชั้นล่าง ของสตูดิโอ CHANI D’ART
    เหตุการณ์ประทับใจในเส้นทางอาชีพศิลปิน 

    ต้องบอกว่า แค่ได้ทำงานก็ประทับใจแล้วค่ะ เพราะมันสนุก มีความสุข มีการเรียนรู้เกิดขึ้น ทำให้รู้สึกอิ่มเอม หัวใจพองโต แต่พอวันที่มันมีคนซื้องานหรือชื่นชมในงานเรา ความรู้สึกคืออีกขั้นหนึ่งเลย เฮ้ย… เขาเอารูปเราไปติดที่บ้านแล้วก็เอนจอย กับการได้เห็นรูปทุกวัน  ยิ่งลูกค้าถ่ายรูปกลับมาให้ดู  ติดไว้ในห้องนอน ห้องนั่งเล่น ห้องทานข้าว ก็ยิ่งทำให้รู้สึกว่าภาพวาดเราเป็นที่รักของคนอื่น อันนี้มันสร้างความสุข ความประทับใจให้บีทุกครั้ง เหมือนกับสิ่งที่บีทำ ทำให้คนอื่นมีความสุขไปด้วยค่ะ

     ความรู้สึกและความสนใจต่องานศิลปะแบบ NFT

    ต้องบอกว่างานศิลปะเข้าใกล้เรามากขึ้นเรื่อย ๆ อย่าง NFT ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจและจับตามองของคนทั้งโลก ซึ่งเรื่องนี้บีก็สนใจอยู่ค่ะ เพราะเป็นสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้น และบีเชื่อว่า ต่อไปจะมีสิ่งใหม่เกิดขึ้นภายใน 5-10 ปีนี้อีกแน่นอน ซึ่งเรื่องนี้น่าสนใจทีเดียวค่ะ เพียงแต่บีเองต้องคิดก่อน ต้องศึกษาให้มากกว่านี้ รวมถึงวิธีการนำเสนอ ที่อาจไม่ใช่แค่งาน Painting อย่างเดียว

    บี-ชนิดา อรุณรังษี

    ความคิดเห็นกับการคาดการณ์ว่า งานศิลปะต่อไปจะมีเอนเจนซี่ปั้นแบรนด์อาร์ตขึ้นมา 

    บีคิดว่าเป็นไปได้ค่ะ เพราะว่ามันมีเรื่องของธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แต่บีก็ยังเชื่อในเรื่องของตัวตน คือลูกค้าหรือนักสะสมที่เขาซื้อรูปเรา เขาไม่ได้ซื้อแค่ผลงาน แต่เขาซื้อความเป็นตัวตนของเรา และต้องชื่นชอบในศิลปินด้วย และต้องถามกลับว่านั่นคือศิลปะจริง ๆ หรือ เรื่องนี้จึงต้องคุยกันให้รู้เรื่อง กรณีถ้าเป็นเพียงบริษัท มาดูแลศิลปิน ทำออกมาเป็นแบรนด์ โดยศิลปินนี้อยู่ในแบรนด์ ๆ นี้  และก็เป็นเทรนดี้ขึ้นมาก็เป็นไปได้ค่ะ

    แต่บีก็ยังเชื่อว่าตัวตนสำคัญ เหมือนหากคุณมีศิลปินอยู่ในค่ายเพลงดัง ๆ แต่ศิลปินไม่ได้เรื่องก็ไม่ดังนะ ซึ่งก็ยังขึ้นอยู่กับคนอยู่ดี เพราะว่าศิลปะเป็นเรื่องของมนุษย์ต่อมนุษย์ มนุษย์ที่ทำ กับมนุษย์ที่เสพ เพราะฉะนั้นมันมีแรงปะทะบางอยู่ มีอะไรบางอย่างที่เชื่อมต่อกันมากกว่าแค่เป็นสินค้าอย่างเดียว

    ผลงานล่าสุดที่นำไปจัดแสดง

    ล่าสุดมีจัดนิทรรศการ What Was ที่หอศิลป์วัฒนธรรมกรุงเทพฯ ค่ะ ซึ่งมีทั้งหมด 3 ศิลปินจัดแสดงร่วมกัน คือบี ที่เป็นงาน Abstract Expressionism  พี่ชลิต นาคพะวัน กับงาน Symbolic Abstract  และ พี่วุฒิชัย บุญธรรม กับงาน Semi Abstract  ซึ่งจริง ๆ เรารู้จักกันมานานแล้ว เรียกว่าเป็นลูกศิษย์ของทั้งสองคน ก็ดีใจที่ได้แสดงงานกับครู

    สำหรับนิทรรศการนี้ เราทำงานพูดถึงเรื่องอดีตที่ผ่านมาแล้ว ในมุมมองของบี คือการมองย้อนกลับไปเหตุการณ์ในอดีต ณ วันนั้นที่คิดเป็นการตัดสินใจในวันนั้น แต่พอวันนี้มองย้อนกลับไปพิจารณาแล้ว เมื่อเรามีประสบการณ์การต่าง ๆ เข้ามาในชีวิต ทำให้เรามีความคิดที่แตกต่างออกไป

    ซึ่งมีประโยชนท์ตรงที่ได้กลับไปมองชีวต มันคือความสวยงามไง เราก็จะรู้เลยว่าความคิดเดิมในวันนั้น กับอนาคตในวันข้างหน้า เราเลือกที่จะมองอะไร โฟกัสในอะไร

    คือชีวิตก็เหมือนเลเยอร์ภาพ มีอดีตที่ผ่านมา ในแต่ละเลเยอร์ก็มีทั้งความรู้สึกทั้งดีและไม่ดี ธรรมชาติเมื่อมาแล้วมันก็ไป แต่ว่า สิ่งที่มันประทับอยู่ก็คือความทรง ซึ่งบีก็เลยพูดถึงว่าเราเลือกจะจำอะไร เลือกที่จะมองเห็นอะไร หรือแต่งแต้มอะไรลงไปใหม่

    ผลงานในอนาคตที่อยากฝากไว้

    บีกำลังจะมีผลงานไปจัดแสดงในงาน Mango Art Festival ค่ะ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 3 – 8 พ.ค. 56 ที่ริเวอร์ซิตี้ ซึ่งผลงานที่นำไปจัดแสดงชื่อ libitum โดยงานชุดนี้พูดถึงคนที่มีคาแรคเตอร์ต่างกัน พื้นเพ ความคิดที่แตกต่างกันมาเจอกัน แต่ว่ามันก็จะมีบางอย่างที่เราคุยกัน หรือเชื่อมโยงหากันได้นั่นเอง

    สำหรับผู้ที่สนใจชมผลงานศิลปะของ บี-ชนิดา อรุณรังษี สามารถคลิกเข้าไปดูได้ที่  IG : bechanida  หรือ ติดต่อนัดหมายล่วงหน้า เพื่อชมผลงานได้ที่สตูดิโอ CHANI D’Art  ผ่านทาง Line @ BeChanida 

    หรือรับชม YouTube ได้ด้านล่างนี้….

     

     

     

     

    บทความน่าสนใจ : ศิลปะสไตล์ POP ART โดย ศิลปินไทย ผู้มีชื่อเสียงระดับโลก

    Related Post