การพัฒนา AI มีมาอย่างต่อเนื่องหลายทศวรรษ แต่ปีที่เห็นผลชัดที่สุดแบบก้าวกระโดดก็ต้องยกให้ปี 2024 ที่กำลังจะผ่านไป พัฒนาไปเร็วระดับที่ CEO ของบริษัทเทคใหญ่ๆ อย่างไมโครซอฟ์ท ยังยกให้ “ปี 2024 เป็นปีแห่งการเริ่มต้นนำ AI เข้ามาใช้เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนองค์กร รวมถึงชีวิตประจำวันของพนักงานและผู้คนทั่วไป” ซึ่งเป็นคำกล่าวที่ไม่เกินจริงเลยสักนิด
โดยในปี 2024 นี้ นอกจากการพัฒนา AI เพื่อบริการผู้บริโภคทั่วไปแล้ว บริษัทหลายๆ แห่งยังพัฒนา AI เพื่อใช้ตอบสนองความต้องการของมนุษย์ หรือมนุษย์สั่ง AI ทำ อย่างการใช้ AI สร้างสรรค์งานศิลปะ เช่น กรณีของศิลปินสิงคโปร์ ที่ใช้นามแฝงว่า “Niceaunties” (เขามีไอจีชื่อนี้จริงๆ) ได้หยิบประเด็นสังคมผู้สูงอายุ หรือเรียกแบบสมัยใหม่ว่า บรรดาป้าๆ ย่ายายทั้งหลาย มาทำงานศิลปะโดยใช้ AI ช่วยสร้างสรรค์ ผลปรากฏว่า งานดันดังซะงั้น
ที่มันดังก็เพราะ Niceaunties หยิบเอาความป้า จากมุมมองลบๆ มาเสนอใหม่ในด้านดีๆ บ้าง ผ่านผลงานศิลปะแบบตัวเอง กลายเป็นภาพที่น่ารักไปอีกแบบ เช่น ป้าที่ชอบเก็บขวดพลาสติกไปขาย ป้าที่แปลงของในตู้เย็นมาเป็นอาหารเก่งๆ หรือแม้แต่ป้าๆ ที่ขับรถเงอะงะบนถนน “มันเป็นพฤติกรรมที่หลากหลาย ตั้งแต่การดูแลเอาใจใส่ ความเมตตา และการป้อนอาหารให้คุณมากมาย ไปจนถึงความใจร้าย เช่น ดูถูกคุณ” Niceaunties ให้สัมภาษณ์ไว้ใน The Guardian
ที่ผ่านมาผลงานของ Niceaunties ถูกนำไปประมูลที่ Christie’s และ Phillips รวมถึงนำไปจัดแสดงในนิทรรศการทั่วลอนดอน ปารีส และโซลอีกด้วย
นอกเหนือจากงานเฉพาะด้านที่มนุษย์เข้าไปสั่ง ให้ AI ทำแล้ว การพัฒนา AI ยังถูกประดิษฐ์เพื่อให้ AI ทำงานใหม่ๆ แทนมนุษย์ได้ด้วยตัวเอง “ไอด้า” (Ai-Da) หุ่นยนต์จิตรกรเหนือจริง (ultra-realistic robot artist) ตัวแรกของโลก คือผลงานที่เป็นรูปธรรม และทำเอาวงการศิลปะสั่นสะเทือนกันเลยเชียวเมื่อผลงานการวาดภาพเหมือนของ ไอด้า นั้น กวาดเงินประมูลสูงถึง 1,084,800 ดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 37.5 ล้านบาท ที่งานประมูลชื่อดังของอังกฤษ เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา (เด็กจบจิตรกรรมเตรียมตกงานเลยจ้า)
ผลงานภาพวาดของ Ai-Da มีชื่อภาพว่า “AI God” ซึ่งเป็นภาพเหมือนสูงประมาณ 2.2 เมตร ของ “อลัน ทัวริง” (Alan Turing) ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาของการพัฒนาคอมพิวเตอร์สมัยใหม่
ด้าน “ซัธบีส์” (Sotheby’s) บริษัทจัดการประมูลศิลปะที่ได้รับความเชื่อถือและเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกจากอังกฤษกล่าวว่า ในงานประมูลซัธบีส์ดิจิทัลอาร์ต (Sotheby’s Digital Art Sale) มีผู้ประมูลราคารูปภาพดังกล่าวถึง 27 ครั้งและราคาประมูลสุดท้ายทำลายสถิติที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากในตอนแรกคาดว่าจะสามารถทำราคาได้ที่ราว 120,000 -180,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 4.2 – 6.2 ล้านบาท นับว่าเป็นก้าวแห่งประวัติศาสตร์ที่ผลงานศิลปะจากหุ่นยนต์จิตรกรออกประมูลเป็นครั้งแรก
Ai-Da ศิลปินหุ่นยนต์ที่เหมือนจริงที่สุดในโลก กำลังเปลี่ยนแปลงมุมมองของโลกศิลปะด้วยการผสานความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) จริงๆ
สำหรับความล้ำด้านอื่นๆ ของ AI ยังมีอีกมาก แต่ที่น่าสนใจต้องยกให้ผลงานของบริษัท เวอร์จิน มีเดีย โอทู (Virgin Media O2) บริษัทโทรคมนาคมของอังกฤษ ที่เปิดตัวอาวุธล่าสุดในการต่อสู้กับมิจฉาชีพทางโทรศัพท์ หรือแก๊งคอลเซนเตอร์ ด้วยการพัฒนา “เดซี่” (Daisy) คุณยาย AI ที่จะคอยรับสายโทรศัพท์จากแก๊งคอลเซนเตอร์ แล้วชวนคุยไปเรื่อย ๆ แบบไม่รู้จบ เป้าหมายเพื่อแก้เผ็ดแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ทำให้พวกเขาเสียเวลาในการหลอกลวงข้อมูลจากเหยื่อ ลดโอกาสที่จะโทรไปป่วนคนอื่น
“เดซี่” (Daisy) เป็นชื่อของตัวละครแชตบอต AI ที่ออกแบบมา เพื่อใช้โต้ตอบบทสนทนาได้คล้ายกับคนจริงๆ ที่ออกแบบคาแรกเตอร์ของ AI ให้เป็น “หญิงชรา” ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่นักต้มตุ๋นมักมองว่าเป็นเหยื่อที่หลอกได้ง่าย
เบื้องหลังการทำงานของ “เดซี่” (Daisy) จะใช้การเข้ารหัส AI และใช้โมเดลต่างๆ ที่ทำงานร่วมกัน เช่น โมเดลจดจำเสียง เพื่อทำความเข้าใจทุกคำที่แก๊งคอลเซนเตอร์พูด จากนั้นส่งไปยังโมเดลภาษา เพื่อสร้างคำตอบให้ตรงกับบุคลิกภาพของเดซี่ แล้วส่งออกเป็นข้อความ นำมาแปลงเป็นเสียงพูดโต้ตอบจริงๆ เพื่อตอบสนองกับแก๊งคอลเซนเตอร์ได้แบบเรียลไทม์
เดซี่สามารถชวนคุยด้วยน้ำเสียงที่อบอุ่น และการเล่าเรื่องราวที่วกวนไปมา เหมือนกับคุณยายที่อยากจะชวนหลานคุยไปเรื่อยๆ นอกจากนี้ยังมีการแทรกสถานการณ์ขณะคุย เช่น กำลังคุยอยู่แล้วอยากเล่าเรื่องราวสมัยสาว ๆ หรือคุยไปคุยมาก็อยากจะชมนกชมไม้ เล่าเรื่องของตัวเอง ซึ่งบริษัทคาดว่าเดซี่ จะทำให้บรรดาแก๊งคอลเซนเตอร์ ต้องเสียเวลาไปหลายชั่วโมงในการพูดคุยกับเธอ จนทำให้พวกเขาไม่มีเวลาไปหลอกลวงคนอื่น
ในปี 2025 เราคงได้เห็นอะไรใหม่ๆ AI อีกเป็นแน่ๆ วันนี้คุณใช้ AI เป็นหรือยัง
บทความที่น่าสนใจ
9 เมืองท่องเที่ยวในเอเชีย ที่มีที่พักราคาประหยัด ช่วงเทศกาลส่งท้ายปี
ย่าน ‘เอกมัย’ ติดอันดับ ‘38 ย่านที่เจ๋งที่สุดในโลก’ ของนิตยสาร Time Out