More
    spot_img

    โรคลมแดด (Heat Stroke) ภัยเงียบที่คร่าชีวิตคนแบบไม่ทันตั้งตัว!

    Heat Stroke

    เข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการดรียบร้อย สังเกตได้จากแสงแดดที่แผดเผาก็รู้ได้ทันทีว่าหน้าร้อนประเทศไทยในปีนี้ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ ใครที่คิดว่าเป็นเรื่องปกติอยู่แล้วเพราะประเทศเราร้อนตลอดปี อยากให้คิดใหม่เพราะในทุก ๆ ปี คนไทยโดน “โรคลมแดด” หรือ Heat Stroke เล่นงานแบบไม่ทันได้ตั้งตัว และรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตคิดเฉลี่ยต่อปีมีผู้เสียชีวิตจากโรคลมแดดอยู่ที่ 33 คน และนั่นก็คือสัญญาณเตือนที่เราไม่อาจคาดการณ์ได้ แต่เราสามารถป้องกันมันได้ค่ะ

    จากการคาดหมายลักษณะอากาศช่วงฤดูร้อนของประเทศไทย พ.ศ. 2567 จากกรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่าฤดูร้อนของประเทศไทยปีนี้ เริ่มต้นในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 และจะสิ้นสุดช่วงกลางเดือนพฤษภาคม โดยลักษณะอากาศจะร้อนอบอ้าวโดยทั่วไป และมีอากาศร้อนจัดในหลายพื้นที่ 

    Heat Stroke

    อุณหภูมิสูงที่สุดอยู่ที่ 43.0 – 44.5 องศาเซลเซียส สำหรับอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยบริเวณประเทศไทยตอนบน 36.0-37.0 องศา เซลเซียส ซึ่งจะสูงกว่าค่าปกติ 1.0-1.5 องศาเซลเซียส (ค่าปกติ 35.4 องศาเซลเซียส) และจะสูงกว่าปีที่ผ่านมา (ช่วงฤดูร้อนปี พ.ศ. 2566 อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 35.8 องศาเซลเซียส) วันนี้ Inzpy เลยจะมาแชร์ข้อมูลดูแลตัวเองยังไงในหน้าร้อนนี้ให้เพื่อน ๆ ไม่เสี่ยงเป็นโรคลมแดดกันค่ะ

    Heat Stroke

    Heat Stroke (ฮีทสโตรก) หรือ โรคลมแดด คือ 

    ภาวะวิกฤตที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมระดับความร้อนภายในร่างกายได้ ทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้เกิดอาการปวดศีรษะ หน้ามืด เพ้อ ชัก ไม่รู้สึกตัว หายใจเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ช็อก หากปล่อยทิ้งไว้ให้มีอาการหรือไม่สามารถระบายความร้อนออกได้มากกว่า 2 ชั่วโมง อาจส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อหัวใจ สมอง ไต และกล้ามเนื้อ ซึ่งหากได้รับการรักษาที่ล่าช้า ก็มีอันตรายถึงชีวิตได้!

    อาการ และ สัญญาณเตือน
    • ความดันลดลง
    • กระหายน้ำมาก
    • หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น
    • ร่างกายตอบสนองช้า
    • วิงเวียน ปวดศีรษะ  หน้ามืด
    • ตัวร้อน ผิวแดง แต่ไม่มีเหงื่อออก

    ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็น โรคลมแดด 
    1. ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ
    2. ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินหรืออ้วน
    3.  เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และผู้สูงอายุ เนื่องจากร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ดีเท่าคนหนุ่มสาว
    4. ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง หรือโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เบาหวาน
    5. ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดดเป็นเวลานาน เช่น ออกกำลังกาย นักกีฬากอล์ฟ เกษตรกร ผู้ที่ทำกิจกรรมกลางแจ้ง
    6. ผู้ที่ทำงานออฟฟิศ ที่ทำงานในห้องแอร์เป็นเวลานานแล้วออกมาเจอกับอากาศร้อนจัด จนร่างกายปรับตัวไม่ทัน
    7. ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร่างกายจะสูญเสียน้ำและเกลือแร่มากกว่าคนที่ไม่ได้ดื่ม และในสภาพอากาศที่ร้อนจัด เนื่องจาก แอลกอฮอล์ออกฤทธิ์กระตุ้นหัวใจให้สูบฉีดเลือดเร็วและแรงขึ้น ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น จนอาจทำให้ช็อกและเสียชีวิตได้

    การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ก่อนนำส่งโรงพยาบาล
    1. รีบนำคนป่วยเข้าไปอยู่ในที่ร่ม อากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่โดนแสงแดด เพื่อลดอุณหภูมิในร่างกายลง
    2. ให้คนป่วยนอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงสมองมากขึ้น
    3. คลายเสื้อผ้าให้หลวม เพื่อระบายความร้อนได้ไวขึ้น
    4. ใช้ผ้าชุบน้ำเย็น หรือน้ำแข็งประคบตามซอกคอ ตัว รักแร้ ขาหนีบ หน้าผาก ใช้พัดลมช่วยเป่าระบายความร้อน เพื่อลดอุณหภูมิของร่างกายให้ต่ำลงอย่างรวดเร็วที่สุด
    5. หากไม่หมดสติให้ดื่มน้ำเปล่ามาก ๆ และรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด
    วิธีป้องกันจากโรคลมแดด 
    1. หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรืออยู่ในที่ที่มีอากาศร้อนจัด
    2. สวมใส่เสื้อผ้าที่มีสีอ่อน โปร่ง ไม่หนา น้ำหนักเบา ระบายความร้อนได้ดีและป้องกันแสงแดดได้
    3. จิบน้ำบ่อยๆ อย่างน้อย 6-8 แก้วต่อวัน ถึงแม้ไม่กระหายน้ำก็ตาม เพื่อเติมความชุ่มชื้นและลดอุณหภูมิร่างกาย
    4. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชา รวมถึงกาแฟ และเครื่องดื่มน้ำตาลสูง
    5. อย่าทิ้งเด็ก ผู้สูงอายุ หรือสัตว์เลี้ยงไว้ในรถที่จอดอยู่กลางแจ้ง ความร้อนภายในรถจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคสูงมาก
    6. เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว ไม่ควรอยู่ในที่อากาศร้อนและไม่ควรอยู่ตามลำพัง
    7. สำหรับผู้ที่ออกกำลังกาย แนะนำออกกำลังกายในที่ที่อากาศถ่ายเท ควรเลือกในช่วงเช้าหรือช่วงเย็น เนื่องจากเป็นช่วงที่อากาศไม่ร้อนมาก และควรมีการอบอุ่นร่างกายก่อนทุกครั้ง
    8. สวมแว่นกันแดด สวมหมวกปีกกว้าง
    9. ผู้ที่มีโรคประจำตัวหากมีอาการผิดปกติ หรืออาการที่บ่งบอกตามข้างต้น ขอให้รีบพบแพทย์โดยทันที

    ขอขอบคุณข้อมูลจาก : Phyathai  / climate.tmd


    บทความที่เกี่ยวข้อง

     

    EF
    EF
    อัปเดตเทรนด์ไอเทมบิวตี้ทั้งตัวปัง และตัวดัง แต่ทำการเงินพังเพราะ ตัดใจไม่เก่งเท่าตัดบัตร

    Related Post

    Most Popular

    Recommended