More

    เบื้องหลังแนวคิดการดีไซน์ SHABU LAB ร้านชาบู ในคราบห้องทดลอง !

    เบื้องหลังแนวคิดการดีไซน์ SHABU LAB ร้านชาบู ในคราบห้องทดลอง !

    SHABU LAB
    การออกแบบช่องซ่อนสายไฟให้ดูเหมือนทะลุผ่านเข้าไปในเปลือกอาคาร ซึ่งเป็นลูกเล่นพลางความรกได้ชาญฉลาด สร้างจุดสนใจให้แก่ตัวอาคารได้เป็นอย่างดี

    เจาะเบื้องลึกการดีไซน์ SHABU LAB (สาขาสอง) ร้านชาบู ที่ได้รับรางวัล DEmark 2021 (ประเภทออกแบบตกแต่งภายใน) ผลงานสุดแหวกแนวของบริษัท IF (INTEGRATEDFIELD) ที่มาพร้อมคอนเซ็ปต์ชวนสนุกและฟิน… (แต่ให้ความสำคัญทุกรายละเอียด) สร้างประสบการณ์ในการหม่ำชาบูในรูปแบบที่ไม่ซ้ำใคร

    SHABU LAB

    เนื่องจากประสบการณ์การหม่ำชาบูที่ต้องใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ในการกินนั้น มีการใส่ส่วนผสมที่หลากหลายลงไปในหม้อตั้งไฟ จนเกิดความเปลี่ยนแปลงเป็นรสชาติใหม่ ๆ ขึ้น ตามแต่จินตนาการของผู้ทาน และด้วยความที่ชาบูเป็นอาหารที่มี “วิวัฒนาการ” ดังนั้นจึงไม่มีข้อจำกัดว่า วัตถุดิบ เครื่องปรุง นํ้าซุป หรือซอสที่ใช้จะต้องมีรูปแบบอย่างไร ซึ่งอารมณ์การทำชาบูจึงมีความใกล้เคียงไม่ต่างไปจากการทดลองวิทยาศาสตร์

    ด้วยเหตุนี้จึงกลายเป็นที่มาของการดีไซน์ร้าน “SHABU LAB” สาขาสอง (สาขาเกษตร) ซึ่งต่อยอดมาจากความสำเร็จในสาขาสยามสแควร์ (สาขาแรก) โดยมี IF (Integrated Field) บริษัทให้บริการด้านการออกแบบสถาปัตยกรรม และการตกแต่งภายในรับหน้าที่ในการดีไซน์ร้าน โดยนำคอนเซ็ปต์ “ห้องทดลอง” มาต่อยอดวัฒนธรรมชาบู ภายใต้การสร้างประสบการณ์การกินที่สนุกสนาน โดยหยิบเอาเครื่องมือ เครื่องใช้ รวมถึงวิธีการจัดการของห้องทดลองมาผสานไว้ในสถานที่กินชาบู

     

    SHABU LAB
    การออกแบบชั้นเก็บของหรือสัมภาระของลูกค้า ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากโต๊ะในห้องทดลอง ที่มักมีชั้นวางของเพื่อเก็บอุปกรณ์ที่ไม่ได้ใช้
    SHABU LAB
    ชั้นวางของแบบเปิด ดีไซน์ไว้ให้สำหรับเก็บถาดที่ทานแล้ว (กรณีพนักงานยังไม่มาเก็บ) เพื่อให้ลูกค้าเคลียร์ของบนโต๊ะได้โล่ง และสะดวกระหว่างการทานชาบู

    สำหรับสิ่งแรกที่ทีม IF ทำ คือการจัดการ “พื้นที่ใช้สอย” โดยออกแบบเพิ่มเติมชั้นวางของไว้ด้านบนเหนือโต๊ะชาบู เพื่อเก็บกระเป๋าหรือสัมภาระของลูกค้าที่ไม่อยากให้ติดกลิ่นอาหาร ทำให้บนโต๊ะชาบูโล่ง… ขึ้น สามารถวางอุปกรณ์ในการทานชาบูที่หลากหลายได้อย่างเพียงพอ

    SHABU LAB

    ประการที่สอง คือการเพิ่ม “ประสิทธิภาพ” ในการทำงานของพนักงาน โดยทาง IF ได้ดีไซน์แปลนพื้นที่ครัวให้ง่ายต่อการทำงานมากที่สุด ผ่านการจัดสรรให้มีพื้นที่เก็บสต็อกของ พื้นที่เตรียมของ และพื้นที่ออกอาหารอยู่ในตำแหน่งเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อช่วยให้ประหยัดเนื้อที่ภายในร้าน และเกิดความคล่องตัวในการทำงาน ลดการรบกวนกันในทางเดินสัญจรระหว่างพนักงานกับลูกค้า

    SHABU LAB

    และสุดท้ายคือเรื่อง “ความสะอาด” ที่เป็นหัวใจสำคัญของทั้งห้องทดลองและร้านอาหาร ซึ่งนอกเหนือจากความสะอาดที่เป็นสุขอนามัยที่เป็นพื้นฐานแล้ว ปัญหาที่มักพบหลังจากกินชาบูนั่นคือ กลิ่นของอาหารที่ทำให้ “หัวเหม็น” (เรื่องนี้ถือเป็นปัญาหาระดับชาติของผู้หญิงทีเดียว)  ทาง IF จึงมีการออกแบบติดตั้งฮู้ดดูดควันสำหรับเตาทุกเตาในร้าน เพื่อให้สมกับการเป็นร้านชาบูในคราบห้องทดลองวิทยาศาสตร์ที่มีความสะอาดเป็นทุนนั่นเอง

    และทั้งหมดนี้เป็นแนวคิดที่เจือความสนุกได้แตกต่าง จึงไม่แปลกใจที่ SHABU LAB ของที่นี่ได้รับรางวัล DEmark 2021 ประเภทออกแบบตกแต่งภายในไปโดยปริยายนั่นเอง

    ทางเดินเข้าร้าน ที่ตกแต่งด้วยซุ้มประตูสเตนเลส นอกจากดูเท่แล้วยังมอบบรรยากาศที่ชวนให้นึกถึงห้องทดลองไม่เบา

     

     

    Project Info

    Project Title : Shabu Lab
    Architecture : IF (Integrated Field)
    Interior Architect : IF (Integrated Field)
    Photographer : Ketsiree Wongwan

     

    บทความน่าสนใจ : 7 งานสุดเจ๋ง การันตีด้วยรางวัล DEmark winner 2021

     

    Related Post