นอกจากเรื่องใช้เงินเก่ง ฉันก็ไม่มีอะไรเก่งอีกเลยค่ะ ฮือๆ ใครรู้ตัวว่ากำลังเข้าข่าย “เก็บเงินไม่อยู่” ใช้เงินเกินตัว สิ้นเดือนไม่เคยมีเหลือเก็บ ออมเงิน..เป็นศูนย์ หรือใช้เงินเดือนชนเดือน Inzpy ชวนมาแก้ไขนิสัยนี้ ด้วยสารพัด วิธีเก็บเงิน แล้วมาเริ่ม เก็บเงิน เพื่ออนาคตที่สดใสของเราบ้างดีกว่า
5 วิธีเก็บเงิน สำหรับคน “เก็บเงินไม่อยู่”
1. เปิดบัญชีแยกไว้ ‘เก็บเงิน’ โดยเฉพาะ แล้วห้ามถอนเด็ดขาด!
สร้างบัญชีแยกเก็บอย่างชัดเจน เงินจะได้ไม่ปะปนกันระหว่างใช้และเก็บ แต่ห้ามถอนเงินออมนะ! พยายามทำให้การถอนเงินยากลำบากที่สุด เช่น ยกเลิกบัตร ATM, เอาสมุดบัญชีธนาคารไปซ่อน, ลบแอปฯ ธนาคารที่ทำให้โอนเงินช้อปปิ้งง่ายเกินไป, ใช้วิธีฝากประจำ หรือ ซื้อสลากออมสิน-สลาก ธกส. แทน (เพราะมีเงื่อนไขในการถอนเงินคืน ทำให้ถอนยาก)
สำหรับคนที่อยากมีบัญชีแยกเก็บเงิน แต่กังวลว่าเงินจะไม่พอใช้ในกรณีฉุกเฉิน อยากได้สภาพคล่องสูง (ฝาก-ถอนได้ทุกเมื่อ) เราสามารถแบ่งเงินออมไว้หลาย ๆ กระปุกในแอปฯ ฝากเงิน อย่าง MAKE by KBank หรือ Kept by Krungsri ได้ แถมยังได้ดอกเบี้ยสูงถึง 1.5%
อ่านที่ MAKE by KBank VS Kept by Krungsri ฝากเงินกับแอปฯ ไหนดี?
2. หักเงินเก็บออกทันทีหลังได้เงิน
วิธีเก็บเงิน ที่ง่ายมากสำหรับมนุษย์เงินเดือน และผู้ที่มีรายรับสม่ำเสมอ เมื่อเงินเข้าแล้ว ให้หักเงินเก็บโอนเข้าบัญชี “ออมเงิน” ตั้งแต่วันแรก เพื่อไม่ให้ตัวเองเผลอเอาเงินไปใช้ มือใหม่หัดเก็บเงินแนะนำให้หักออม 10% ของเงินเดือน แล้วค่อยเพิ่ม % ขึ้นเรื่อย ๆ ทีหลัง
ก็ถ้าพกเงินเยอะเท่าไหร่ ก็ยิ่งต้องมีเรื่องใช้เงินเท่านั้นนี่นา แกล้ง ๆ ทำเป็นไม่มีเงินซะตั้งแต่ต้นเดือน เพื่อตัดกิเลสตัวเองลงบ้าง เป็นการดักการใช้เงินฟุ่มเฟือยตั้งแต่ต้นทาง
3. สร้างชาเลนจ์ แล้วปรับเงินลงกระปุกเมื่อทำผิดกฎ
เป็น ‘วิธีเก็บเงิน’ ที่ทำไปพร้อม ๆ กับการเปลี่ยนตัวเองให้ดีขึ้นได้ แถมยังเป็นการชาเลนจ์ที่สนุก เช่น
- พูดคำหยาบ ปรับคำละ 20 บาท
- มีแฟนแล้วทะเลาะกัน ปรับคนละ 100 บาท
- น้ำหนักขึ้น ปรับขีดละ 50 บาท
- วันนี้ไม่ได้ออกไปวิ่ง ปรับครั้งละ 100 บาท
- กินข้าวหลัง 2 ทุ่ม ปรับครั้งละ 100 บาท
- ช้อปปิ้งเท่าไหร่ ออมเพิ่มเท่านั้น (ตัวอย่าง ซื้อเสื้อ 200 ออม 200)
4. หาต้นตอของการ ‘เก็บเงินไม่อยู่’ แล้วแก้ไข
วิธีหาสาเหตุของการใช้เงินเกินตัวง่าย ๆ คือการทำบัญชีรายรับรายจ่าย เรื่องที่เรารู้ตั้งแต่สมัยเรียน แต่ถามว่าทำกันบ้างไหม? ไม่! ลืมบ้าง ขี้เกียจบ้าง ลองขยันจนบัญชีรายรับ-รายจ่าย สัก 1 เดือน แล้วจะเห็นภาพชัดขึ้น ว่าเงินส่วนใหญ่ไปลงตรงไหนหมด
เช่น เดือนนี้หมดกับค่าคอนเสิร์ตไป 5 พัน, เดือนที่แล้วเสียแต่ค่าบุฟเฟต์ไป 2,500 ค่าเที่ยวอีก 9 พัน, เดือนนี้โดนค่ากาแฟไปร่วม 3,500
รู้แบบนี้แล้ว จะได้เพลา ๆ ส่วนนี้ลงบ้าง เพื่อให้มีเงินเก็บเยอะขึ้น เป็นการแก้ปัญหาที่ถูกจุด
5. ใช้ตารางออมเงิน
วิธียอดนิยมในหมู่ผู้เริ่มต้น ‘ออมเงิน’ และผู้ที่ ‘เก็บเงินไม่อยู่’ ให้ดาวน์โหลดตารางออมเงินนี้ หรือปริ้นออกมา กากบาทช่องที่เราต้องการจะเก็บเงิน โดยวันหนึ่งจะออมกี่ช่องก็ได้ แต่ถ้าออมครบทุกช่องใน 1 เดือนก็จะได้ 10,000 บาทพอดี
ดาวน์โหลดตารางออมเงิน ที่นี่
อย่าปล่อยให้ตัวเองไม่มีเงินเหลือเก็บ มันจะอันตรายมากในยากฉุกเฉิน ที่อาจต้องใช้รักษาพยาบาล มีค่าซ่อม ค่าเทอม ตกงาน เงินเดือนลด ฯลฯ เพื่อน ๆ ที่ “เก็บเงินไม่อยู่” ถ้ารู้ตัวว่ากำลังฟุ่มเฟือย ควรงัดสารพัดวิธีเหล่านี้ออกมาใช้ เพื่ออนาคตที่สดใส เก็บเงิน ได้อย่างจริงจังเสียที
ถ้าคิดว่าบทความนี้เป็นประโยชน์ อย่าลืมส่งต่อให้เพื่อนมาออมเงินไปพร้อม ๆ กันนะคะ
บทความน่าสนใจ
- วิธีเก็บเงิน 1 หมื่นภายใน 1 เดือน พร้อมวิธีหาเงิน 10,000 เพิ่ม
- 10 สัญญาณที่บ่งบอกว่าชาตินี้จะไม่มีวัน “รวย”
- MAKE by KBank VS Kept by Krungsri ฝากเงินกับแอปฯ ไหนดี?
- 6 บัญชีเงินฝากประจำ ปลอดภาษี ดอกเบี้ยสูง ไว้พักเงินช่วง ศก.ผันผวน
อัปเดตคอนเทนต์ใหม่ ๆ ทาง LINE ฟรี
Add friend ที่ ID : @inzpy (มี@นำ)