More

    3 เทคนิคควรรู้ก่อน “ยื่นภาษี 2567” ประหยัดชัวร์ ลดหย่อนภาษีคุ้มค่า

    ทบทวนเรื่องภาษีของตัวเอง ก่อนจะเริ่มยื่นภาษีในช่วงต้นปี 2567 ด้วย 3 เทคนิคควรรู้ก่อน “ยื่นภาษี 2567” ให้สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้อย่างคุ้มค่า โดยนำข้อมูลมาจาก กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ผู้ให้บริการบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล

    3 เทคนิคควรรู้ก่อน “ยื่นภาษี 2567”

    เทคนิคที่ 1 : วางแผนยื่น – รวบรวมเอกสาร –  ลองคำนวณก่อนยื่นภาษี

    • คนไทยทุกคนที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ที่กำหนดมีหน้าที่ต้องยื่นภาษี แบ่งง่าย ๆ เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มคนโสดที่มีรายได้เกิน 120,000 บาทต่อปี และกลุ่มคนแต่งงานแล้วที่มีรายได้เกิน 220,000 บาทต่อปี 
    • ก่อนยื่นภาษี แนะนำให้ลองคำนวณรายได้ที่ต้องยื่นภาษีกับโปรแกรมคำนวณภาษีที่มีหลายเว็บไซต์ให้ใช้งานได้ฟรี
    • ภาษีเงินได้จะจ่ายเป็นแบบขั้นบันไดและมีอัตราสูงสุดที่ 35% เช่น หากรายได้ 500,000 บาทต่อปี จะเสียภาษีรวม 27,500 บาท แบ่งเป็น 3 ช่วงรายได้ คือ 150,000 บาทแรก ไม่เสียภาษี, รายได้ 150,000 บาทถัดมา เสียภาษีในอัตรา 5% และรายได้ 200,000 บาทสุดท้ายเสียภาษีในอัตรา 10% เป็นต้น

    3 เทคนิคควรรู้ก่อน “ยื่นภาษี 2566” ประหยัดชัวร์ ลดหย่อนภาษีคุ้มค่า

    เทคนิคที่ 2 : หารายการ ลดหย่อนภาษี ให้มากที่สุด

    1. รายการลดหย่อนติดตัวที่ทุกคนมี ได้แก่ หักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 100,000 บาท, ลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท และรายได้ส่วนแรกไม่เสียภาษีอีก 150,000 บาท 

    2. รายการลดหย่อนใกล้ตัวถ้ามีควรใส่ให้ครบ ได้แก่ ประกันสังคม, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, เงินบริจาค, ค่าเลี้ยงดูบิดามารดา, เลี้ยงดูบุตร, ค่าฝากครรภ์ และค่าคลอดบุตร เป็นต้น (สิทธิ์ลดหย่อนภาษีแต่ละรายการมีเพดานไม่เกินที่กำหนด)

    3. รายการลดหย่อนเพิ่มเติมช่วยลดภาษีได้เยอะ ได้แก่ ดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้าน, ประกันสุขภาพ, ประกันชีวิต, ประกันบำนาญ, กองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว SSF, กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ RMF และกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน TESG น้องใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวเร็ว ๆ นี้ เป็นต้น

    กองทุนลดหย่อนภาษี

    แนะนำให้ทยอยซื้อสะสมไม่ต้องจ่ายเงินออกไปครั้งเดียวจำนวนมากจนกระทบสภาพคล่อง ควรศึกษาทำความเข้าใจรูปแบบและเงื่อนไขให้ดีก่อนตัดสินใจจ่ายเงินซื้อหาสิทธิ์ ลดหย่อนภาษี เหล่านี้เพิ่มเติมเข้ามา นอกจากนั้น ต้องคำนวณเงินในการซื้อค่าลดหย่อนภาษีต่าง ๆ ให้ดีก่อนซื้อ เพราะหากซื้อมากเกินไปก็อาจจะเกินสิทธิ์สูงสุดที่จะลดหย่อนได้

    (สิทธิ์ลดหย่อนภาษีแต่ละรายการมีเพดานไม่เกินที่กำหนด และสิทธิ์ลดหย่อนภาษีรวมจาก ประกันบำนาญ + กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ + กองทุนรวม SSF + กองทุนรวม RMF ต้องไม่เกิน 500,000 บาทอีกด้วย)

    เทคนิคที่ 3 : ยื่นภาษีได้สะดวกและประหยัดกว่าผ่านช่องทางออนไลน์

    ปัจจุบันสามารถ ยื่นภาษี 2567 ได้ง่าย ๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ที่ www.rd.go.th ของกรมสรรพากร เพราะสะดวก รวดเร็ว อีกทั้งระบบออนไลน์ยังช่วยเชื่อมโยงข้อมูลลดหย่อนบางรายการ (เช่น ดอกเบี้ยกู้บ้าน เงินบริจาค ประกันชีวิต เป็นต้น) ให้เปิดเผยแก่กรมสรรพากรได้โดยอัตโนมัติ ทำให้เราไม่ต้องเสียเวลาคำนวณหรือเสียเวลากรอก

    และช่องทางนี้ยังขยายเวลายื่นได้นานถึง 8 เมษายน 2567 สำหรับปีภาษี 2566 แต่ถ้าใครสะดวกไปยื่นภาษีที่สรรพากรเขตก็ทำได้โดยจะมีเจ้าหน้าที่ช่วยให้คำแนะนำต่าง ๆ ให้ด้วย แต่หากยื่นผ่านช่องทางนี้ต้องทำภายใน 31 มีนาคม 2567 เท่านั้น

    3 เทคนิคควรรู้ก่อน “ยื่นภาษี 2566” ประหยัดชัวร์ ลดหย่อนภาษีคุ้มค่า

    • กรณีต้องจ่ายภาษีเพิ่ม สามารถทำผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากรได้ทั้งแบบโอนผ่านบัญชีธนาคาร หรือสแกน QR Code และหากใครที่ต้องจ่ายภาษีเพิ่มเป็นเงินก้อนใหญ่ก็อาจเลือกจ่ายด้วยบัตรเครดิตก็ทำได้ แต่ข้อเสียคือจะไม่ได้คะแนนสะสม และอาจต้องเสียค่าธรรมเนียม 1% สำหรับบางธนาคาร หรืออาจมีบางธนาคารที่ไม่คิดค่าธรรมเนียมจึงควรศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมให้ดีก่อน 
    • กรณีขอคืนภาษี สามารถเลือกรับเงินคืนในรูปแบบเช็ค หรือผ่าน ‘Prompt Pay’ ที่ผูกบัญชีธนาคารกับเบอร์โทรศัพท์มือถือหรือหมายเลขบัตรประชาชน หากได้รับอนุมัติ ระบบจะโอนเงินคืนเข้าบัญชีอัตโนมัติ
    • เมื่อยื่นภาษีแล้ว แนะนำให้จัดเก็บเอกสารที่ยื่นแล้วในซองเอกสารโดยแยกเป็นของแต่ละคนและแยกแต่ละปีโดยไม่ปะปนกัน เพราะสรรพากรสามารถขอดูเอกสารย้อนหลังได้นานถึง 5 ปี หรือหากใครจะเลือกจัดเก็บเป็นไฟล์ดิจิทัลก็ทำได้ง่ายเพียงสแกนเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ 

    แค่รู้จักวางแผนให้ดี การยื่นเสียภาษีก็ไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอีกต่อไป อีกทั้งยังสามารถใช้สิทธิ ลดหย่อนภาษี ได้อย่างคุ้มค่าอีกด้วย

    สุดท้ายนี้ฝากติดตามเพจ inzpy.com เพื่อรับข่าวสารดี ๆ กันอย่างจุใจกันนะคะ


    บทความน่าสนใจ

    IAMMAI
    IAMMAI
    อย่าเรียกงก ให้เรียกระมัดระวังเรื่องการใช้จ่าย ยืนหนึ่งเรื่อง Property เพราะยืนคนเดียว ไม่มีใครยืนด้วย

    Related Post