เงินเหลือ 10000 ทุกเดือนเลย จะเอาไปทำอะไรดีนะ ลงทุนอะไรดี จะฝากธนาคารเฉย ๆ ก็เสียดายโอกาสทำกำไร จะเอาไปลงทุนเองก็กลัวเจ๊ง Inzpy มี 5 ไอเดีย ลงทุน DCA สำหรับคนที่มีไฟในการลงทุนมาฝาก ความเสี่ยงไม่สูงมาก โดยเงิน 10,000 บาทต่อเดือนคือจำนวนเงินที่เหมาะสมที่สุดในการออมเงินของมนุษย์เงินเดือนแล้วค่ะ
DCA คืออะไร ?
DCA ย่อมาจาก Dollar-Cost Averaging ที่หมายถึง รูปแบบการลงทุนที่เน้นการทยอยลงทุนอย่างสม่ำเสมอ ด้วยจำนวนเงินเท่า ๆ กัน ในสินทรัพย์ ซึ่งการลงทุนแบบถัวเฉลี่ยทุกเดือนในระยะยาว จะทำให้ผลเป็น “ค่าเฉลี่ย” ที่ไม่มีความเสี่ยงสูง และสามารถเอาชนะตลาดได้
ข้อดี : ช่วยสร้างวินัย, ไม่ใช้อารมณ์ในการลงทุน, ลดความเครียด เพราะไม่ต้องคอยจับจังหวะการลงทุนด้วยตัวเอง, ลดความเสี่ยงจากการเข้าซื้อผิดจังหวะ
เหมาะกับใคร : นักลงทุนมือใหม่ ผู้ที่มีเงินทุนน้อย นักลงทุนที่ไม่มีเวลาเก็บข้อมูลการลงทุนมากนัก
5 ไอเดีย ลงทุน DCA เดือนละ 10000 บาท ลงทุนอะไรดี ?
- ตราสารหนี้ / หุ้นกู้
ตราสารหนี้ (Bond) คือ ตราสารทางการเงินที่นักลงทุนมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ และผู้ออกมีสถานะเป็นลูกหนี้ โดยเจ้าหนี้จะได้รับผลตอบแทนในรูปของ “ดอกเบี้ย” อย่างสม่ำเสมอตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ และจะได้รับ “เงินต้น” คืนเมื่อครบกำหนดอายุ
เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ให้ผลตอบแทนค่อนข้างคงที่และมีความเสี่ยงน้อย ไม่ว่าจะเป็น ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล และหุ้นกู้เอกชน หรือจะซื้อในรูปแบบกองทุนตราสารหนี้ก็ได้ เพื่อฝากให้ผู้เชี่ยวชาญนำเงินไปลงทุนในตราสารหนี้ให้เรา ไม่ต้องไปคอยจอง หรือคอยเช็กบริษัทที่ออกหุ้นกู้ว่าเชื่อถือได้ไหม? มั่นคงไหม? จะมีเงินจ่ายคืนเราหรือไม่?
ผลตอบแทนประมาณ 2-4% ต่อปี
- กองทุนรวมหุ้น
ถ้าคิดว่าผลตอบแทน 2-4 % มันน้อยไป อยากซื้อหุ้น แต่ก็ยังมือใหม่ ไม่กล้าลงทุนหุ้นตรง ๆ ก็ลอง DCA เดือนละ 10000 ผ่าน กองทุนรวมหุ้น แทน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญก็จะนำเงินไปลงทุนหุ้นให้เราเอง เหมาะสำหรับผู้ที่ยังไม่ค่อยมีความรู้ในตลาดทุน หรือไม่มีเวลาลงทุนในตลาดหุ้น
เสียค่าธรรมเนียนนิดหน่อย แลกกับมีผู้ช่วยลงทุนเก่ง ๆ แต่ถ้าเลือกผิดก็มีโอกาสขาดทุนเข้าเนื้อได้เช่นกัน ดังนั้นผู้ลงทุนต้องเลือกซื้อกองทุนให้เหมาะสม (ผู้เขียนแนะนำว่าก่อนลงทุนควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญได้ทุกธนาคาร ในเวลาทำการนะคะ)
ผลตอบแทนประมาณ 6% ต่อปี
- สหกรณ์ออมทรัพย์
สหกรณ์ให้ดอกเบี้ยเงินฝากสูงกว่าธนาคารมาก ซึ่งฝากออมทรัพย์ปกติได้ดอกเบี้ยปีละ 0.25% แต่สหกรณ์ออมทรัพย์กลับให้ดอกเบี้ยสูงถึง 2-3 % แถมดอกเบี้ยสหกรณ์ก็ไม่ต้องเสียภาษี
สหกรณ์ก็มีหน้าที่คล้าย ๆ ธนาคาร แต่มีค่าแฝงต่าง ๆ น้อยกว่าธนาคารมาก (ไม่ต้องจ่ายค่าเจ้าหน้าที่มาก หรือส่งเสริมด้านการตลาด) ส่วนต่างเหล่านี้จะทำให้ ดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝาก สำหรับสมาชิกคุ้มค่ายิ่งขึ้น
ว่าแล้วก็ลองไปเป็นสมาชิกของสหกรณ์กันดู แต่ต้องเลือกหน่วยงานที่เชื่อถือได้ มีความมั่นคงหน่อยนะคะ อ่าน ฝากเงินสหกรณ์ ดอกเบี้ยสูง แต่ต้องระวังอะไรบ้าง ? (inzpy.com)
- สลากออมสิน / สลาก ธกส.
ถ้าคิดว่าดวงดีแบบฟ้าประทาน ชอบลุ้น ให้ซื้อ สลากออมทรัพย์ (เช่น สลากออมสิน, สลาก ธกส., สลาก ธอส.) DCA เดือนละ 10000 แถมได้เสี่ยงโชคด้วย โดยไม่ต้องเสียเงินต้นเลยแม้แต่บาทเดียว คิดซะว่าซื้อหวย แต่ไม่สูญเงิน
โดยราคาต่อหน่วย อายุสลาก และมูลค่ารางวัลจะขึ้นอยู่กับประเภทสลากที่ซื้อ ซึ่งมีทั้งแบบ 1 ปี 3 ปี และ 5 ปี สลากดิจิทัลหน่วยละ 20 บาทก็มีขาย ซื้อมันเดือนละ 10000 บาท ไปเลย
ดอกเบี้ยประมาณ 0.4% ต่อปี แต่ได้ลุ้นโชคเป็นแสน เป็นล้าน ทุกงวดตลอดอายุสลาก
- ฝากประจำปลอดภาษี
รับความเสี่ยงไม่ไหวจริง ๆ แถมไม่มีดวงเสี่ยงโชค แนะนำวิธี DCA แบบคลาสสิคคือการ ฝากประจำปลอดภาษี ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการเก็บออม ที่ธนาคารจะบังคับให้ฝากเงินในจำนวนที่เท่า ๆ กันตามระยะเวลาที่เลือกไว้ และจะให้ดอกเบี้ยสูงกว่าบัญชีเงินฝากแบบอื่น ไม่มีการสูญเสียเงินต้นแน่นอน
ผลตอบแทนประมาณ 1.5-2% ต่อปี
แต่ดอกเบี้ยเงินฝากก็ไม่ได้เยอะมาก การฝากเงินดิจิทัลผ่านแอปฯ อาจเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า หาข้อมูลได้ที่ MAKE by KBank VS Kept by Krungsri ฝากเงินกับแอปฯ ไหนดี? ทั้งนี้ก็ควรการมองหาช่องทางลงทุนที่เข้ากับตนเองเพื่อให้เงินเก็บงอกเงยสมใจกันนะคะ
ขอบคุณที่อ่านบทความของเราเสมอ สุดท้ายนี้ฝากติดตามเพจ inzpy.com และ INZPY JOY เพื่อรับไอเดียเรื่องการเงิน และแรงบันดาลใจเรื่องบ้าน ๆ กันอย่างจุใจนะคะ
บทความที่เกี่ยวข้อง