From Color to Plane นิทรรศการแสดงเดี่ยวโดย วสันติ เพ็ชรกุล
สำหรับการสร้างสรรค์งานศิลปะ บางครั้งขั้นตอนและกระบวนการในการทำงานก็มีแก่นสาร และความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าผลลัพธ์ ดังเช่นผลงานของ “วสันติ เพ็ชรกุล” จิตรกรมากความสามารถผู้สร้างสรรค์ภาพวาดด้วยการระบายสีซ้อนทับลงบนระนาบแผ่นไม้ จนเกิดเป็นชั้นสีทับซ้อนกันนับร้อยชั้น
เพื่อแสดงให้เห็นถึงปรากฏการณ์ของพื้นที่ และเวลาโดยไม่บอกเล่าเรื่องราวใด ๆ เพราะเขาเชื่อว่า งานจิตรกรรมไม่จำเป็นต้องแสดงภาพแทนของสิ่งใด หากแต่สามารถแสดงเนื้อแท้ หรือตัวตนของตัวเองได้อย่างบริสุทธิ์ โดยปล่อยให้ “ภาพวาด” แสดงออกถึง “การวาดภาพ” ที่เป็นเนื้อหาสาระของตัวเอง
ถึงแม้พื้นผิวสีบนภาพวาดของวสันติ มิได้บอกเล่าเรื่องราวอันใด แต่ขนาดและสัดส่วนของภาพ กลับแฝงเร้นปรัชญาบางอย่างเอาไว้ภายใน ไม่ว่าจะเป็นหลักการสากลทางคณิตศาสตร์ ที่มีมานับแต่ยุคสมัยกรีกโบราณอย่าง อัตราส่วนทองคํา (Golden Ratio) ที่เชื่อกันว่าเป็นสัดส่วนพื้นฐานของสรรพสิ่งในจักรวาล และกฎแห่งธรรมชาติ
โดยนักคณิตศาสตร์ชาวอิตาเลียนอย่าง เลโอนาร์โด ฟีโบนักชี (Leonardo Fibonacci) ทำการถอดรหัสอัตราส่วนนี้ ออกมาเป็นตัวเลขจำนวนเต็มที่เรียกว่า ลำดับฟีโบนัชชี ที่มีอัตราส่วนเท่ากับ 1 : 1.618. จนทำให้อัตราส่วนนี้ ปรากฏอย่างแพร่หลายในงานศิลปะ สถาปัตยกรรม งานออกแบบ งานดนตรี ทั้งในยุคสมัยโบราณจวบจนถึงปัจจุบัน หรือแม้แต่ถูกเชื่อมโยงเข้ากับโครงสร้างของสรรพสิ่งในธรรมชาติต่าง ๆ
ไม่เว้นแต่ วสันติก็ใช้อัตราส่วนที่ว่านี้ในการคำนวณสัดส่วนของระนาบ และขนาดของภาพวาดของเขาเช่นกัน อัตราส่วนเดียวกันนี้ ยังเชื่อมโยงกับสัดส่วนบนร่างกายของศิลปินอย่างมีนัยยะสำคัญ ทั้งสัดส่วนจากระยะข้อศอกถึงแขน หรือสัดส่วนจากปลายนิ้วโป้งถึงปลายนิ้วก้อย
เช่นเดียวกันการค้นหาสัจธรรมและความหมายของการดำรงอยู่ของมนุษย์ของเหล่านักปรัชญาในอดีต การใช้อัตราส่วนที่ว่านี้ของศิลปินท่านนี้ จึงอาจสะท้อนถึงความสงสัยใคร่รู้ถึงความหมาย หรือแม้แต่เป้าหมายของการดำรงอยู่ของตนเอง
และหากพิจารณาถึงรูปแบบของผลงานอันเรียบง่าย ลดทอน และแนวคิดเกี่ยวกับการแสดงเนื้อแท้ตัวตนของภาพวาด โดยไม่แสดงภาพแทนของสิ่งใดในผลงานของวสันติ อาจทำให้ผู้ชมอดนึกไปถึงกระแสการเคลื่อนไหวทางศิลปะอย่าง มินิมอลลิสม์ (Minimalism) ไม่ได้
ในทางกลับกัน ความแตกต่างระหว่างผลงานของวสันติ กับศิลปะมินิมอลลิสม์ ก็คือ แทนที่จะมุ่งเน้นในการแสดงความสมบูรณ์แบบของวัตถุจากการผลิตด้วยระบบจักรกล และตัดขาดอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ออกไปโดยสิ้นเชิง แต่ศิลปินกลับคงอารมณ์ความรู้สึกของความเป็นมนุษย์เอาไว้ ด้วยการพยายามวาดระนาบของเส้นตรงด้วยมือเปล่า โดยไม่พึ่งพาอุปกรณ์ช่วยใด ๆ กระบวนการที่ว่านี้ทำให้ผลงานของเขาหลงเหลือความไม่สมบูรณ์แบบเล็ก ๆ น้อย ๆ เอาไว้ ซึ่งจะว่าไป ความไม่สมบูรณ์แบบที่ว่านี้ก็อาจเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นมนุษย์
และถ้าจะให้นิยามผลงานของเขา ก็คงกล่าวได้ว่า ไม่ต่างอะไรกับเหล้าเก่าในขวดเก่า ที่พยายามแสวงหาวิธีการรินใหม่ ๆ ที่อาจจะได้มาซึ่งรสชาติใหม่ ๆ ที่แปลกและแตกต่างออกไปจากเดิมนั่นเอง
From Color to Plane นิทรรศการแสดงเดี่ยวโดย วสันติ เพ็ชรกุล จัดแสดงขึ้นในวันที่ 9 พฤษภาคม – 30 มิถุนายน 2565 (จันทร์ – เสาร์, 10:00 – 17:00 น) ณ ชั้น 1 Mini Xspace ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ xspace.gallery
อัปเดตคอนเทนต์ใหม่ ๆ ทาง LINE ฟรี
Add friend ที่ ID : @inzpy (มี@นำ)
บทความน่าสนใจ : เจาะลึก 3 ผลงานเด่น ที่ได้รับรางวัลในเวที “BIDC Awards 2022