วิธีประมือ กับปัญหาเรื่องบ้าน ในช่วงปลายฝนต้นหนาว
สาระน่ารู้เกี่ยวกับวิธีรับมือปัญหาเรื่องบ้าน ซึ่งเรามัดรวมมาให้ทราบและแก้ไขได้ทันท่วงที ก่อนที่จะเปลี่ยนผ่านไปยังฤดูกาลใหม่ เพื่อตัดไฟแต่ต้นลม ไม่ให้เกิดปัญหาบานปลาย จนหัวเสียกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น
ปลายฝนต้นหนาวนี้อย่าเพิ่งวางใจว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น เพราะยังมีมรสุมเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดฝนตกหนักเกือบทุกวัน และอาจจะสร้างปัญหาชวนปวดเศียรให้แก่เจ้าของบ้านหลาย ๆ คนได้ โดยบางคนอาจรู้สาเหตุ แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ และบางคนแก้ไขเฉพาะหน้าแบบไม่รู้สาเหตุแน่นอนว่าปัญหาต้องยังคงอยู่ แต่เรื่องชวนปวดหัวจะหมดไป หากเราทราบปัญหาและแนวทางในการแก้ไข
และสำหรับปัญหาที่บ้านมักประสบในช่วงหน้าฝน ส่วนใหญ่จะมาจากภายนอกบ้านเป็นหลัก เช่น บริเวณหลังคา รางน้ำ ผนัง และพื้นรอบ ๆ บ้าน โดยวันนี้เรามีวิธีสังเกตปัญหาและแนวทางแก้ไขมาแนะนำกัน
ปัญหาหลังคา
หลังคาเป็นโครงสร้างของบ้านที่มักเกิดปัญหาอยู่บ่อยในช่วงหน้าฝน ทั้งนี้อาจเกิดจากการเสื่อมสภาพของวัสดุ การติดตั้งที่ผิดวิธีและไม่ได้มาตรฐาน หรือมีสิ่งของ/วัสดุตกใส่หลังคาทำให้เสียหาย ปัญหาเหล่านี้จำเป็นต้องมีการตรวจสอบและแก้ไขอย่างเร่งด่วน เนื่องจากอาจส่งผลกระทบสร้างความเสียหายลุกลามไปยังพื้นที่อื่น ๆ ของบ้าน เช่น งานระบบไฟฟ้า งานฝ้าเพดาน และงานเฟอร์นิเจอร์ Built-in ฯลฯ ซึ่งหากหลังคามีปัญหา แนะนำว่าควรเลือกใช้มืออาชีพโดยตรง เพราะจะมีความเชี่ยวชาญในการแก้ไขปัญหาได้เฉพาะและตรงจุด โดยการตรวจสอบหลังคาควรขึ้นตรวจสอบทางด้านบนหลังคาโดยตรง แต่ปัจจุบันเริ่มมีการใช้เครื่องมือประเภทโดรนเข้ามาเป็นตัวช่วย เพื่อให้ทราบสาเหตุที่แท้จริงและแก้ปัญหาได้ตรงจุดอย่างรวดเร็ว
ปัญหาเกี่ยวกับรางน้ำ
ส่วนใหญ่ปัญหานี้มักเกิดจากการมีสัตว์เข้ามาทำรัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะพบรังของนกอยู่บ่อย ๆ หรืออาจจะมีเศษใบไม้ตกลงมาบริเวณรางระบายน้ำฝน ส่งผลให้รางหรือท่อระบายน้ำอุดตัน ซึ่งหากเป็นบ้านที่มีความสูงไม่มากนัก เจ้าของสามารถขึ้นไปล้างทำความสะอาดได้เอง แต่หากเป็นบ้านที่มีความสูงค่อนข้างมาก แนะนำให้ใช้ช่างขึ้นไปเก็บสิ่งที่อุดตันอยู่ ฉีดล้างทำความสะอาดและติดตั้งรางครอบสำหรับรางน้ำเพิ่มเติม เพื่อเป็นการป้องกันใบไม้และเศษวัสดุต่าง ๆ ตกลงไปในรางนั่นเอง
ปัญหาเกิดจากผนัง
ผนังบ้านและวัสดุก่อสร้างทั้งหมด ล้วนมีการขยายและหดตัวอยู่ตลอดเวลา ยิ่งผนังที่อยู่ทางทิศใต้และตะวันตกด้วยแล้ว การหดหรือขยายตัวอาจมีโอกาสแตกร้าวได้มากกว่าผนังด้านอื่น แม้รอยแตกร้าวจะมีขนาดเพียงแค่เท่าเส้นผมก็ทำให้น้ำแทรกซึมเข้ามาภายในบ้านได้ และสิ่งที่ตามมาคือ ผนังเกิดเป็นรา สีหรือวอลล์เปเปอร์เกิดการพองหรือลอก ซึ่งวิธีการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ จะต้องทำการซ่อมแซมส่วนที่มีการแตกร้าวก่อน โดยอาจใช้เคมีภัณฑ์ประเภทกันซึมเข้ามาช่วยแก้ไข หรือถ้ารอยร้าวมีขนาดใหญ่อาจต้องทำการกรีดผนังแล้วซ่อมแซมเสียก่อน
นอกจากนี้ ยังมีอีกปัญหาที่เกิดบริเวณผนังและอาจทำให้ข้าวของพังเสียหาย นั่นก็คือ ความชื้นบริเวณผนัง สาเหตุมักเกิดจากปริมาณน้ำในดินมากเนื่องจากฝนตกต่อเนื่อง จนความชื้นถูกดันขึ้นมายังผนัง ซึ่งหากสีของผนังบริเวณใดทาไว้ไม่ดีก็อาจจะเกิดการพองและหลุดลอก โดยแนวทางการแก้ไขคือ ต้องขัดลอกสีในบริเวณนั้นออก จากนั้นทาด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อราและตะไคร่น้ำ พร้อมทาทับด้วยน้ำยากันซึม
ปัญหาน้ำซึมรั่วบริเวณประตู/หน้าต่าง
ปัญหานี้ส่วนใหญ่เกิดจากการเสื่อมสภาพของวัสดุที่อุดรอยต่อของหน้าต่าง เช่น PU ซิลิโคน หรือการเสื่อมสภาพรอบ ๆ ของกรอบประตูหรือกรอบหน้าต่าง ทำให้น้ำรั่วซึมเข้ามาภายในอาคารได้ ซึ่งวิธีการแก้ไขทำได้ด้วยการขูดเปลี่ยนวัสดุเดิมและยาแนวเข้าไปใหม่อีกครั้ง โดยทั่วไปแล้วอายุของเคมีภัณฑ์จะอยู่ประมาณ 3 – 5 ปี แต่หากปัญหามาจากขอบยางเสื่อมสภาพ แนะนำให้แจ้งช่างเข้าไปวัดขนาดและเปลี่ยนใหม่จะดีกว่า
ปัญหาพื้นภายนอกบ้าน
พื้นดินบริเวณรอบบ้านเกิดการทรุดตัว ถือเป็นปัญหายอดนิยมที่มักพบในช่วงหน้าฝน สืบเนื่องจากมีแรงจากน้ำฝนที่ตกจากหลังคามาเป็นตัวเร่งทำให้ดินกระเด็น ทำให้เกิดเป็นโพรงใต้บ้าน และอาจทำให้ดินบางส่วนไหลเข้าสู่ใต้บ้านได้ โดยวิธีการแก้ไขแนะนำให้ติดตั้งรางน้ำ เพื่อลดปริมาณน้ำที่ตกกระทบและแก้ไขโพรงใต้บ้านที่เกิดขึ้น ทั้งนี้การปิดโพรงสามารถพิจารณาจากขนาดของโพรงใต้บ้านก่อน หากขนาดโพรงไม่ใหญ่มากอาจใช้การแก้ไขโดยการใช้ขอบคันหินเข้ามาช่วย แต่หากโพรงมีขนาดใหญ่อาจใช้วิธีปิดแบบแผ่นพื้นสำเร็จ แผ่นซีเมนต์
ปัญหาข้างต้นที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ มักจะเกิดในช่วงฤดูฝน ฉะนั้นช่วงนี้คุณควรหมั่นตรวจสอบสภาพบ้านอยู่เสมอ เพื่อเป็นการดูแลรักษาบ้านให้แข็งแรงและปลอดภัยอยู่กับเราไปนาน ๆ ส่วนใครกำลังเผชิญกับปัญหาในข้อใดอยู่และมิสามารถจัดการหรือแก้ไขด้วยตัวเองได้ ลองลงทะเบียนปรึกษาเรื่องบ้านออนไลน์กับหมอบ้านของ SCG HOME ที่ https://bit.ly/2Yzww4x อย่าปล่อยไว้ให้ลุกลามล่ะ!
ขอขอบคุณข้อมูลจาก SCG HOME Experience
บทความน่าสนใจ : รู้ไว้ก่อนซื้อ ข้อดีและข้อเด่นของไฟส่องสว่างแต่ละประเภท