ทุกคนช่วงนี้เป็นช่วงที่ บ๊วย กำลังออกผลสวยงามเต็มดอยเลย ซึ่งที่บ้านจะปลูกกันเยอะในแถบ ดอยอ่างขาง เพราะบ๊วยจะเป็นผลไม้เมืองหนาว ปลูกได้เฉพาะที่ที่มีอากาศเท่านั้น ซึ่งช่วงนี้ก็เป็น ฤดูกาลของบ๊วยแล้ว หลายคนก็เตรียมตัวทำ บ๊วยดอง กันเต็มไปหมดเลย เราก็เลยจะมาแชร์วิธีทำ Umeshu ของคนญี่ปุ่น เป็นการทำเหล้าบ๊วยนั่นเอง ซึ่งวันนี้จะแชร์ทั้งวิธีทำ เหล้าบ๊วย และวิธีทำ ไซรัปบ๊วย ทั้งสองอย่างนี้ต้องเตรียมอะไรบ้างมาดูกันเลยค่า
สำหรับวัตถุดิบในการทำเหล้าบ๊วยนั้นจะมีอยู่ไม่กี่อย่างค่ะ
วัตถุดิบทำ เหล้าบ๊วย
1. บ๊วยสด แก่จัด หรือลูกเขียวอมเหลือง 800 กรัม
2. น้ำตาลกรวด 400 กรัม
3. แอลกอฮอล์ (แนะนำเป็นน้ำแอลกอฮอล์ 25% ขึ้นไป และเป็นแบบไม่มีสี)
4. ขวดโหล 2 ลิตร (แนะนำใช้เป็นโหลแก้ว แบบหนา)
5. ไม้จิ้มฟัน
อุปกรณ์ก็จะมีประมาณนี้เลยค่า มาดูวิธีทำกันต่อเลย
วิธีทำ เหล้าบ๊วย
1. อันดับแรกเมื่อเราได้บ๊วยมา มาคัดเฉพาะลูกที่สมบูรณ์ก็คือ ลูกบ๊วยที่จะใช้ดองจะต้อง ไม่นิ่มช้ำ ไม่มีรอยแผล และไม่สุกมากจนเกินไปค่ะ ถ้านิ่มแล้วสามารถคัดออกได้เลย และเมื่อคัดบ๊วยเรียบร้อยแล้ว เราก็นำบ๊วยไปล้างน้ำให้สะอาด แล้วก็แช่น้ำทิ้งไว้อีกประมาณ 2 – 4 ชม. เพื่อลดความฝาด และให้ยางของบ๊วยออกให้หมดค่ะ
2. ช่วงระหว่างที่แช่บ๊วยเราก็มาทำการฆ่าเชื้อขวดโหลกันต่อเลยค่ะ โดยส่วนใหญ่ก็จะนำโหลไปนึ่งประมาณ 20 นาที แต่หากใครไม่สะดวกใช้วิธีต้มน้ำร้อนแล้วเทลงในขวดโหลกลิ้งให้ทั่วทั้งหมด รวมถึงฝาด้วยนะคะ ระวังอย่าเทมากเกินไปเพราะอาจจะทำให้โหลแตกได้ค่ะ หลังจากที่ฆ่าเชื้อเรียบร้อยก็นำโหลมาผึ่งให้แห้งสนิท ย้ำว่าต้องแห้งสนิทนะคะ หลังจากนั้นก็นอนดู Netflix วนไปค่ะ จนกว่าจะถึงเวลานำบ๊วยขึ้น
3. เมื่อบ๊วยเราแช่นานพอสมควรแล้ว ก็นำมาสะเด็ดน้ำให้แห้งสนิทเช่นกันค่ะ เพราะถ้าหากบ๊วยไม่แห้งก็อาจจะทำให้เกิดเชื้อราขณะดองได้ หรือถ้าใครไม่มีที่ผึ่งก็สามารถใช้ผ้า หรือกระดาษทิชชูค่อย ๆ ซับน้ำออกให้หมด เพราะตัวบ๊วยจะมีขนบาง ๆ ที่ปกคลุมผลไว้อยู่ค่ะ เช็ดไปเรื่อย ๆ จนครบทุกลูกเลยค่ะ การทำอาหารแปรรูปจะต้องมีความสะอาด และใจเย็น ไม่งั้นอาจต้องมานั่งเสียใจภายหลังได้ 555
4. บ๊วยที่แห้งดีแล้ว ต่อไปเราก็จะต้องมาแกะขั้วออกค่ะ จะเห็นว่าตรงขั้วบ๊วยจะมีจุกสีดำ ๆ ติดอยู่ตรงนั้นอาจจะเป็นแหล่งสะสมของฝุ่นอยู่ เพราะฉะนั้นก็ต้องจัดการแคะออกให้น้องบ๊วยด้วยนะคะ วิธีก็ง่ายมากเลย เพียงแค่ใช้ไม้จิ้มฟันที่เราเตรียมไว้ ค่อย ๆ แคะออกค่ะ มันจะหลุดออกง่ายมาก แต่ระวังอย่าให้บ๊วยช้ำหรือเกิดแผลนะคะ
5. และขั้นที่ต้องใช้ความอดทนค่อนข้างสูง ก็คือขั้นตอนของการ จิ้มบ๊วยค่ะ ขั้นนี้ทำเพื่อให้แอลกอฮอล์ซึมเข้าบ๊วย แล้วดึงเอารสบ๊วยออกมาให้เยอะที่สุดค่ะ ก็ใช้ส้อมจิ้มให้รอบ ๆ เลย บางคนก็ใช้ไม้จิ้มฟันค่อย ๆ จิ้มก็ได้เหมือนกันค่ะ ค่อย ๆ ทำไปจนครบทุกลูกนะคะ
6. หลังจากนั้นก็ถึงขั้นตอนในการเรียงบ๊วยลงขวดโหลกันแล้วค่า ขั้นตอนนี้ก็นำขวดโหลที่เราฆ่าเชื้อเตรียมไว้มา จัดเรียงบ๊วยลงขวดโหลเลยค่ะ หากใครไม่มั่นใจว่าโหลจะสะอาดหรือเปล่า สามารถใช้กระดาษทิชชู หรือสำลีชุบแอลกอฮอล์ที่จะใช้ดองบ๊วย เช็ดอีกรอบนึงก่อนก็ได้ค่าเพื่อความชัวร์ แล้วก็มาเริ่มเรียงบ๊วยลงไปได้เลย
7. เราจะเริ่มจากการนำบ๊วยลงขวดโหลก่อนนะคะ หลังจากนั้นก็ตามด้วยน้ำตาลกรวดที่ชั่งไว้แล้วใส่ตามลงไป หรือจะแบ่งเป็นชั้นสลับกันระหว่างบ๊วยกับน้ำตาลก็ได้ค่ะ เพื่อเวลาละลายจะได้เข้ากันง่ายขึ้น เรียงลงไปจนเต็มโหลตามภาพ หลังจากนั้นก็เติมด้วยแอลกอฮอล์ที่เราเตรียมไว้ เทตามลงไปได้เลยค่า ส่วนใครที่อยากทำเยอะกว่านี้ก็เทียบอัตราส่วนได้เลยค่ะ ส่วนความหวานนั้นถ้าดองไปครบ 4 – 6 เดือนเปิดชิมแล้วหวานน้อยไปค่อยมาเพิ่มน้ำตาลกรวดทีหลังได้ค่ะ
ก่อนจะปิดฝา หากไม่มีฝาพลาสติกปิดลองกันไอน้ำก่อน ก็ใช้เป็นแรปอาหารพันปากขวดไว้ก่อน แล้วค่อยทำการปิดขาอีกทีค่ะ แค่นี้ก็เสร็จขั้นตอนการดองเหล้าบ๊วยเรียบร้อยแล้วค่า ไม่ยากเลยใช่ไหมละคะ แต่สิ่งสำคัญที่สุดในการดองเหล้าบ๊วยนั่นก็คือ เวลา ค่ะทุกคน เพราะบ๊วยดองจะต้องใช้เวลาอย่างต่ำประมาณ 1 ปีขึ้นไป ถึงจะได้รสชาติที่ดี ดองเสร็จแล้วก็นำไปเก็บไว้ในที่มืด หรือจะห่อด้วยผ้า แล้วเก็บลืมไปเลยค่ะ 555 มาดูวิธีทำไซรัปบ๊วยกันต่อเลยดีกว่าค่ะ
จะบอกว่าวิธีนี้ทำคล้าย ๆ กับเหล้าบ๊วยเลยค่ะ เพียงแต่ไม่ต้องใช้แอลกอฮอล์ แต่การทำบ๊วยไซรัปมีโอกาสขึ้นรา และเสียง่ายกว่าการดองเหล้าบ๊วย เพราะฉะนั้นจะต้องใช้ความพิถีพิถันในการดองนิดนึงค่ะ
วัตถุดิบ บ๊วยไซรัป
1. บ๊วยเหลือง บ๊วยเกือบสุก 400 กรัม
2. น้ำตาลกรวด 400 กรัม
3. โหล 1.5 ลิตร (ใช้โหลใหญ่กว่าเพื่อเหลือพื้นให้แก๊สที่ก่อตัวกระจายตัวได้)
4. แอปเปิลไซเดอร์ 1 ช้อนโต๊ะ
วิธีทำ บ๊วยไซรัป
1. ขั้นตอนทุกอย่างทำเหมือนเหล้าบ๊วยเลยนะคะ ทั้งการล้างบ๊วย และการฆ่าเชื้อขวดโหล แกะขั้วทุกอย่าง แต่การเรียงบ๊วยลงขวดโหลแนะนำว่าให้สลับชั้นกันระหว่างบ๊วยกับน้ำตาลกรวดค่ะ ซึ่งใส่บ๊วยลงก่อนทุกครั้งแล้วตามด้วยน้ำตาลกรวด และชั้นสุดท้ายก็ปิดท้ายด้วยน้ำตาลกรวดอีกทีค่ะ เพื่อเวลาที่น้ำตาลละลายจะได้ไหลเคลือบบ๊วยทุกลูก น้ำตาลจะช่วยให้เคลือบไม่ให้บ๊วยเกิดเชื้อราค่ะ
2. เมื่อเรียงทุกอย่างลงครบหมดแล้ว ก็เติมด้วยแอปเปลไซเดอร์ต่อได้เลย 1 ช้อนโต๊ะ ตัวแอปเปิลไซเดอร์จะช่วยจัดการกับแบคทีเรียที่อาจทำให้บ๊วยเสียได้ แล้วหลังจากนั้นก็ทำการห่อด้วยแรปอาหารก่อนปิดฝาอีกทีค่ะ ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย หลังจากนั้นก็นำไปเก็บไว้ในที่ทึบแสง หรือห่อผ้าไว้ก็ได้ค่ะ
3. ขอเพิ่มคำแนะนำอีกนิดว่า ระหว่างช่วง 1 – 4 วันแรกต้องคอยหมั่นมากลิ้งขวดโหลให้น้ำตาลเคลือบบ๊วยให้ครบทุกลูกค่ะ และเพื่อให้น้ำตาลละลายเร็วขึ้น วันละครั้ง แล้วก็เมื่อทำครบแล้วก็ปล่อยทิ้งยาว ๆ ได้เลย สำหรับไซรัปบ๊วยนั้นจะใช้เวลาประมาณ 1 – 3 เดือนก็สามารถนำมาผสมน้ำเปล่า หรือน้ำโซดาดื่มได้แล้วค่ะ เมนูนี้เด็กก็สามารถดื่มได้นะคะ เพราะในบ๊วยมีวิตามินซีสูง ดื่มเพื่อบำรุงผิวพรรณ และเป็นผลไม้ที่มีฤทธิ์เย็นสามารถดื่มเพื่อช่วยดับกระหายคลายร้อนได้ดีเลยค่ะ
เป็นยังไงกันบ้างคะ สำหรับวิธี ดองบ๊วย หรือ Umeshu ทั้งสองแบบ บอกเลยว่าขั้นตอนไม่ยากเลย แต่ต้องใช้ความพิถีพิถันในการดองนิดนึง คนญี่ปุ่นทำไว้สำหรับดื่มกันเองภายในครอบครัว หรือเวลามีญาติพี่น้องแวะมาเยี่ยมค่ะ แต่อย่าดื่มเยอะ ๆ นะคะ ดื่มแต่พอดีก็พอแล้ว เพราะยิ่งเก็บไว้นาน ๆ รสชาติยิ่งดี ซึ่งเมื่อถึงฤดูกาลบ๊วยของคนญี่ปุ่น จะมาช่วงประมาณเดือนพฤษาคม ก็จะเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมดี ๆ ที่ทำให้คนในครอบครัวได้ช่วยกันทำ อย่างบ้านเราก็สามารถสั่งบ๊วยได้จากในเพจขายบ๊วยทั่วไปเลยค่ะ หรือลองเข้าไปดูกันได้ที่ กลุ่มเฟซบุ๊ก เล่าบ๊วย ได้นะคะ
ส่วนใหญ่มีเยอะแถวดอยอ่างขาง จะเริ่มออกผลให้เราได้เริ่มดองกันก็ประมาณเดือน มีนาคม – เดือนเมษายน แต่ถ้าพลาดแล้วล่ะก็ รออีกทีปีหน้าเลยค่า เพราะว่าบ๊วยจะออกมาแค่ปีละครั้งเท่านั้นนะคะ ดองกันไปยาว ๆ ค่ะ ส่วนใครที่อยากไปเที่ยวมากกว่า ก็สามารถตามไปดูร้านอาหารเด็ดดัง คาเฟ่ ที่พัก สถานที่ท่องเที่ยวเพิ่มเติมได้ที่ Inzpy Travel ได้เลยนะคะ
เพิ่มเพื่อนไลน์ เพื่อติดตามข่าวสาร และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
Line ID @Inzpy https://lin.ee/q9fQfsh