หลายคนอาจจะยังไม่เคยรู้จักเกี่ยวกับ ประเพณีหนึ่งของ จ.สระบุรี เป็นที่เดียวในโลก ที่มีการ ตักบาตรดอกเข้าพรรษา ถือเป็นประเพณีที่สืบทอดต่อกันมาแต่ช้านาน จะถูกจัดขึ้น ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี สำหรับปีนี้จะจัดขึ้นในวันที่ 12 – 14 กรกฎาคม 2565
ในประเพณีตักบาตรดอกเข้าพรรษา จะจัดขึ้นในวันเข้าพรรษาซึ่งตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี หรือวันเข้าพรรษา งานจะจัดขึ้นที่ วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร จ.สระบุรี เพื่อเป็นการอนุรักษ์ และส่งเสริมขนบธรรมเนียมประเพณีไทย ถือได้ว่าเป็น ประเพณีหนึ่งเดียวในโลก
สมัยก่อนจะมีการจัดขึ้นเพียงวันเดียวเท่านั้น แต่ด้วยจำนวนผู้คนที่ให้ความสนใจ และมาร่วมประเพณีนี้เป็นจำนวนมาก จึงทำให้ต้องขยายวันจัดงานจาก 1 วัน เป็น 3 วันกันเลยทีเดียว ในการตักบาตรดอกเข้าพรรษาจะมี 2 รอบต่อวัน รอบเช้า เวลา 09.00 น. รอบบ่าย เวลา 15.00 น. ณ วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร จ.สระบุรี
การถวายดอกเข้าพรรษาแด่พระภิกษุสงฆ์ที่เดินรับบิณฑบาตจากพุทธศาสนิกชนแล้ว พระภิกษุสงฆ์จะนำดอกเข้าพรรษาไปสักการะรอยพระพุทธบาท อันจะส่งผลบุญกุศลให้ผู้ทำบุญตักบาตรได้ขึ้นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ประวัติงานตักบาตรดอกเข้าพรรษา
ความเป็นมาของการตักบาตรดอกเข้าพรรษานั้น มีแจ้งในพุทธตำนานว่า นายมาลาการ เป็นผู้ทำหน้าที่นำดอกมะลิสดไปถวายพระเจ้าพิมพิสาร พระราชาแห่งเมืองราชคฤห์ เป็นประจำทุกวัน มาวันหนึ่งขณะที่นายมาลาการออกไปเก็บดอกมะลิอยู่ในสวน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ กำลังเสด็จออกบิณฑบาตผ่านมา นายมาลาการเห็นดังนั้นจึงเกิดความเลื่อมใสศรัทธาต่อพระพุทธองค์จึงนำดอกมะลิ ๘ กำมือ ไปถวายพระพุทธองค์
พระเจ้าพิมพิสารราชา ทรงทราบข่าวว่า พระศาสดาเสด็จออกบิณฑบาตมาถึงใกล้ๆ พระราชวังจนนายมาลาการได้พบ และถวายดอกมะลิบูชา พระราชาจึงเสด็จพระราชดำเนินไปถวายบังคมต่อพระศาสดา แล้วตามเสด็จพระศาสดาไปด้วยความเลื่อมใสศรัทธา พระเจ้าพิมพิสารเลยบำเหน็จรางวัลความดีความชอบ และพระราชทานสิ่งของทั้งปวงให้กับนายมาลาการ นับแต่นั้นมานายมาลาการก็อยู่อย่างร่มเย็น ปราศจากทุกข์ใดๆ ทั้งปวง ด้วยอานิสงส์ของการนำดอกมะลิบูชา แด่พระองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแทนการตักบาตร จากอานิสงส์ดังกล่าวแต่ครั้งพุทธกาล ชาวพุทธทั่วไปจึงถือเป็นประเพณี “ตักบาตรดอกเข้าพรรษา” เป็นประจำทุกปีตลอดจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
ที่มา http://www.saraburi.go.th/web2/tradition/detail/1/data.html
สำหรับดอกเข้าพรรษาที่นำไปตักบาตรกันนั้นคือ ดอกหงส์เหิน ซึ่งลักษณะของดอก และเกสรคล้ายกับหงส์ที่กำลังเหินบิน หงส์เหินเป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ขิง เป็นดอกไม้เมืองร้อน เกิดขึ้นในป่าร้อนชื้น พบได้ในประเทศไทย เมียนมาร์ และเวียดนาม เป็นไม้ล้มลุก มีสีเหลืองสดใส มีกลีบประดับขนาดใหญ่รอบช่อดอกไม้ สีของกลีบประดับจะมีหลากหลายสี
สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์แห่งพระพุทธศาสนา
สีเหลือง หมายถึง สีแห่งพระสงฆ์
สีม่วง หมายถึง เป็นสีที่หายากที่สุด และชาวอำเภอพระพุทธบาทเชื่อว่าการใส่บาตรด้วยดอกสีม่วงได้บุญกุศลแรงที่สุด
สำหรับดอกหงส์เหินแล้วจะออกดอกเพียงปีละครั้ง เฉพาะในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ในอำเภอพระพุทธบาทพบว่ามีดอกหงส์เหินอยู่ 2 สกุล ได้แก่ สกุลกระเจียว มีดอกสีขาว หรือขาวอมชมพู และสกุลหงส์เหิน ชาวบ้านจะพากันออกไปเก็บดอกหงส์เหินตามไหล่เขาโพธิลังกา หรือเขาสุวรรณบรรพต เทือกเขาวง และเขาพุ ในเขตอำเภอพระพุทธบาท นำมาจัดรวมกับธูปเทียน เพื่อตักบาตรถวายพระ
พิธีตักบาตรดอกเข้าพรรษา ณ วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวง ตำบลขุนโขลน อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี เป็นสถานที่ประดิษฐาน “รอยพระพุทธบาท” อันศักดิ์สิทธิ์ ที่พุทธศาสนิกชนให้ความเคารพบูชา มีความเชื่อในคติชาวลังกาว่า พระพุทธเจ้าได้ประทับรอยพระพุทธบาทไว้ ๕ แห่ง และรอยพระพุทธบาทที่วัดพระพุทธบาทแห่งนี้ เป็น ๑ ใน ๕ แห่ง รอยพระพุทธบาทถูกค้นพบในสมัยพระเจ้าทรงธรรม (สมเด็จพระบรมราชาที่ ๑)
ใครที่อยากไปชมขนบธรรมเนียมประเพณีไทยที่น่าสนใจแบบนี้ ก็สามารถไปชมได้ สำหรับปีนี้จัดขึ้นในวันที่ 12 – 14 กรกฎาคม 2565 ค่ะ ส่วนวันที่ 11 จะเป็นวันเตรียมงานนะคะทุกคน ที่สำคัญก็คือ สระบุรีเป็นจังหวัดที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯ เดินทางไม่ไกล ช่วงวันเข้าพรรษานี้ใครยังหาที่ทำบุญไม่ได้ ลองไปที่งาน ตักบาตรดอกเข้าพรรษา ที่ จ.สระบุรี กันได้นะคะ
ติดตาม Inzpy ได้ที่
Website:
https://inzpy.com/travel/
Youtube:
https://www.youtube.com/c/Inzpy
Facebook:
https://www.facebook.com/inzpyth
ฝาก กดติดตาม กดไลก์ กดแชร์เป็นกำลังใจให้พวกเราด้วยนะค้า