วิเคราะห์กระแสไวรัล “ไอศกรีมราเมน” เมนูสุดฮิตของชาวโซเชียล

1870

วิเคราะห์กระแสไวรัล “ไอศกรีมราเมน” เมนูสุดฮิตของชาวโซเชียล

ในช่วงที่ผ่านมา เราเห็นปรากฏการณ์การกินเมนูแปลกใหม่อย่าง “ไอศกรีมใส่ราเมน” หรือที่ทุกคนเรียกกันง่ายๆ ว่า “ไอติมราเมน” ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีคนพูดถึงและเริ่มสร้างสรรค์เมนูตามกันเป็นจำนวนมากบนโลกโซเชียล บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด จึงได้ทำการรวบรวมข้อมูลจากแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย 7 ช่องทาง ได้แก่ Facebook, Twitter, Instagram, YouTube, Pantip.com, เว็บข่าว และเว็บบล็อก โดยเก็บข้อมูลที่มีคนพูดถึงไอติมราเมน แล้วนำมาวิเคราะห์ผ่านมุมมองต่างๆ

ในช่วงเวลาดังกล่าว มีการพูดถึงเมนูนี้ 816 ข้อความ อยู่บนช่องทาง Facebook และ Twitter เป็นหลัก แม้ว่าข้อความทั้งหมดรวมกันไม่ถึง 1,000 ข้อความ แต่เอ็นเกจเมนต์สูงกว่า 3 แสนครั้งเลยทีเดียว

Statistics Summary

เมื่อกางไทม์ไลน์ออกมา พบว่าเริ่มมีการพูดถึงเมนูนี้บน Twitter ของชาวญี่ปุ่นในวันที่ 5 ม.ค. จากนั้น ในวันที่ 6 ม.ค. มีเพจ Facebook และแอคเคาท์ Twitter ของคนไทยที่เน้นเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่น เช่น “Tonari ญี่ปุ่น”, “อัพเดทญี่ปุ่น โดย ต้มยำวาซาบิ” ได้นำภาพของเมนูนี้มาแชร์ต่อ ทำให้เริ่มมีคนสนใจ ดูได้จากเอ็นเกจเมนต์ที่เกิดขึ้นกับโพสต์อยู่ที่ 15,000 เอ็นเกจเมนต์ 

ไอศกรีมราเมน
Mention Timeline and Movement ระหว่างวันที่ 1-15 ม.ค. 65

 

ไอศกรีมราเมน
โพสต์แชร์เกี่ยวกับเมนู “ไอศกรีมใส่ราเมน” ที่ญี่ปุ่นในวันที่ 6 ม.ค. 65

ต่อมา ในวันที่ 7 ม.ค. เพจ “Tonari ญี่ปุ่น” ที่ได้แชร์โพสต์เรื่องราวเมนูนี้ที่ญี่ปุ่น ได้ลองทำเมนู DIY โดยซื้อไอศกรีมและนำไปใส่ในก๋วยเตี๋ยวต้มยำ เพราะมีคนถามเข้ามาเรื่องรสชาติเป็นจำนวนมาก

ไอศกรีมราเมน
โพสต์ของเพจ Tonari ญี่ปุ่น ที่ลอง DIY เมนู ในวันที่ 7 ม.ค. 65

จนกระทั่งในวันที่ 8 ม.ค. โพสต์ไฮไลท์ที่ทำให้เมนูเป็นที่รู้จักในวงกว้างคือโพสต์จากเพจ “รีวิวของดี Shopee & Lazada” ที่ทางเพจได้ลองซื้อไอศกรีมจาก KFC และนำไปผสมกับราเมนของฮะจิบัง ราเมน คอนเทนต์นี้ถูกแชร์ออกไปและมีคนเข้ามากด Reaction และคอมเมนต์เป็นจำนวนมาก มีทั้งกลุ่มที่สนใจ อยากลองชิม และกลุ่มที่มองว่าเป็นเมนูที่แปลกเกินไป กินแล้วน่าจะท้องเสีย กินแยกกันก็อร่อยอยู่แล้ว ที่น่าสนใจคือ แอดมินเพจ KFC เข้ามาตอบเจ้าของเพจภายในวันเดียวกันด้วย 

โพสต์บน Facebook และ Twitter ของเพจ “รีวิวของดี Shopee & Lazada” ในวันที่ 8 ม.ค. 65

หลังจากนั้น อินฟลูเอ็นเซอร์และแบรนด์สายอาหารต่างเข้ามาจับกระแสและนำไปต่อยอดสร้างเป็นคอนเทนต์ต่างๆ ในฝั่งของแบรนด์ จะเห็นว่าจริงๆ แล้วแบรนด์ที่จับกระแสและทำคอนเทนต์ออกมาไวที่สุด คือ Dairy Queen โพสต์ตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. วันเดียวกันกับที่มีการรีวิวครั้งแรกจากเพจ รีวิวของดี Shopee & Lazada อย่างไรก็ตาม ผลตอบรับยังไม่สูงมากนัก จนกระทั่ง Burger King ทำคอนเทนต์โพสต์ในวันที่ 11 ม.ค. ได้รับการตอบรับล้นหลาม เกิดเอ็นเกจเมนต์สูงกว่า 9,000 ครั้ง มาจาก 5,500 Reactions, 951 คอมเมนต์ และ 3,300 แชร์ อีกทั้งยังมีเพจด้านการตลาดนำคอนเทนต์นี้มาเผยแพร่ต่อด้วย แน่นอนว่าแบรนด์ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเจ้าแห่งเรียลไทม์คอนเทนต์อย่าง Tops ก็เข้ามาเล่นกับเขาด้วย โดยยังคงคอนเซปต์เดิมคือนำสินค้าที่มีขายใน Tops ที่เกี่ยวข้องมาสร้างเป็น Tie-in คอนเทนต์ 

โพสต์ของ Burger King ในวันที่ 11 ม.ค. 65
ไอศกรีมราเมน
โพสต์ของแบรนด์อื่นๆ ระหว่างวันที่ 8-15 ม.ค. 65

ในฝั่งของอินฟลูเอ็นเซอร์สายรีวิวอาหาร ส่วนมากเน้นทำคอนเทนต์ลองกินเมนูนี้ดูและรีวิว ในขณะที่ฝั่ง YouTuber ก็มีการทำคอนเทนต์แนว Reaction ต่อเมนูนี้ออกมาด้วย

โพสต์ของแบรนด์อื่นๆ ระหว่างวันที่ 8-15 ม.ค. 65

เก็บข้อมูลผ่านเครื่องมือ ZOCIAL EYE ระหว่างวันที่ 1 – 15 มกราคม 2565

วิเคราะห์โดย ณัชชา เวชพานิช, Data Research Consulting Manager

ชิมราเมนรสชาติญี่ปุ่นแท้ ๆ ที่ เซนได ราเมน มอคโคริ