More

    ใส่เสื้อซ้ำไม่ผิด ! ชวนทำความรู้จัก “Slow Fashion” เทรนด์แฟชั่นรักษ์โลก

    ชวนทำความรู้จักกับเทรนด์ Slow Fashion เทรนด์แฟชั่นรักษ์โลก

    ใส่เสื้อซ้ำไม่ผิด ทำความรู้จักกับ Slow Fashion
    Cr.Photo: Unsplash.com

    Slow Fashion คืออะไร ? Slow fashion ก็คือแนวคิดตรงข้ามของ Fast Fashion นั่นเอง จุดเริ่มต้นของแนวคิด Slow Fashion ขั้วตรงข้าม Fast Fashion ต้องขอเกริ่นที่มาของ Fast Fashion ให้เข้าใจกันก่อน.. Fast Fashion คือเสื้อผ้าที่ผ่านการผลิตแบบเร่งด่วนในปริมาณมากๆ ใช้ต้นทุนต่ำเพื่อให้ผู้คนสามารถช็อปปิ้งเสื้อผ้าได้ในราถูก ด้วยกระแสทุนนิยมที่เน้นการผลิตเสื้อผ้าแบบเร็ว ๆ หวังยอดขายให้ได้ในปริมาณมาก แข่งขันกันกดราคาให้สินค้ามีราคาถูก แต่กลับไม่ใส่ใจเรื่องของคุณภาพของวัสดุที่นำมาผลิตสินค้า  มีทั้งวัสดุที่เบียดเบียนสัตว์และสิ่งแวดล้อม  วัสดุที่ไม่มีคุณภาพก็ย่อมใส่ได้ไม่นาน ซื้อใส่เพียงครั้งเดียวแล้วก็ทิ้งแบบไม่เสียดาย กลายเป็นขยะที่ถูกทิ้งเป็นจำนวนมากมายมหาศาล สร้างความเสียหายให้กับธรรมชาติ ทำร้ายโลก

    งั้นลองตั้งคำถามง่าย ๆ กับตัวเองกันดูก่อน.. เราเคยถามตัวเองมั้ย.. ว่าในหนึ่งเดือน เราซื้อเสื้อผ้าใหม่ไปทั้งหมดกี่ตัว ?  คำพูดยอดฮิตที่บอกว่า ไม่มีเสื้อผ้าจะใส่แล้ว.. แต่เปิดตู้เสื้อผ้าอีกที เสื้อผ้าล้นทะลักออกมาจากตู้ !

    ยุคนี้เรามักจะตามเทรนด์แฟชั่น แต่งตัวตามเทรนด์ตามกระแสแค่เพียงในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น มาไวไปไวยิ่งกว่า Flash Sale อะไรที่กำลังฮิตอยู่ ก็สามารถตกอันดับได้เพียงชั่วข้ามคืน บางคนใส่แค่หนึ่งครั้งหรือสองครั้งก็โยนทิ้งเข้าตู้เสื้อผ้าและไม่คิดจะใส่ซ้ำอีกแล้ว

    นี่รู้มั้ย..ว่ามันเป็นสาเหตุที่ทำให้อุตสาหกรรมแฟชั่นและสิ่งทอส่งผลกระทบต่อโลกเป็นอันดับต้น ๆ กันเลยทีเดียว คิดไม่ถึงใช่มั้ยว่าการที่เราใส่เสื้อผ้าชิวชิว เลือกซื้อเสื้อผ้าชิวชิวของเรา มันกระทบไปถึงสังคม สิ่งแวดล้อมและโลกของเราในสารพัดด้านเลย

    Fast Fashion มันสร้างปัญหายังไง ?

    ทั้งในด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ผลกระทบเรื่องของการใช้แรงงานมนุษย์ในประเทศโลกที่สามอย่างกดขี่และไม่เป็นธรรม
    ขยะกองโต
    Cr.Photo: Unsplash.com

    มาเริ่มกันที่ปัญหาเรื่องแรก

    1. แรงงานโดนกดขี่ อุตสาหกรรมการผลิตเสื้อในยุคปัจจุบันเป็นไปด้วยความเร่งรีบ แรงงานผลิตสินค้าหรือเสื้อผ้าก็รับงานหนักไปเลยเต็ม ๆ ต้องก้มหน้าทำงานแข่งกับเวลาแบบไม่มีพัก ทำงานกันหลังขดหลังแข็งแต่กลับได้รับค่าจ้างในราคาที่ถูกแสนถูกกกกก เป็นการกดต้นทุนให้ต่ำเพื่อที่จะให้ผู้บริโภคสามารถซื้อเสื้อในราคาแค่ไม่กี่บาทได้ในปริมาณที่มากขึ้น
    2. สิ้นเปลืองพลังงาน  ในการขนส่งเสื้อแต่ละตัวมีการเผาผลาญน้ำมันเป็นจำนวนมหาศาล กระบวนการขั้นตอนการผลิตทุกขั้นตอนจนถึงขั้นขนส่งวัสดุไปยังโรงงานผลิต และขนส่งเสื้อผ้าไปยังผู้ซื้อ คนซื้อบ่อยขึ้นก็มีการขนส่งที่ถี่ขึ้น  ในส่วนขั้นตอนการขนนี่เองก็ส่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ทำลายโลก เกิดเป็นภาวะโลกร้อนตามมาอีก ทำลายสิ่งแวดล้อมกันแบบไม่รู้ตัว
    3. ขยะล้นโลก จากการ“ใช้เสื้อผ้าแล้วทิ้ง”
    4. สร้างมลพิษ การผลิตเสื้อผ้า เช่น การย้อมผ้าด้วยสารเคมีทำให้เกิดน้ำเสีย การนำใยพลาสติกมาเป็นส่วนหนึ่งในการทอผ้า เมื่อซักผ้า น้ำที่เราซักผ้าเหล่านั้นก็จะถูกปล่อยลงทะเล น้ำทะเลก็เต็มไปด้วยขยะมวลพลาสติกขนาดจิ๋ว หรือ microplastic รู้มั้ยว่า 35% ของ microplastic ที่ลอยอยู่ในทะเลมาจากเส้นใยเสื้อผ้าของพวกเรานี่เอง กระแส fast fashion ที่ทำให้การผลิตเสื้อผ้า ทำจากเส้นใยสังเคราะห์ราคาถูก กลายเป็นขยะเสื้อผ้าหลายล้านตันต่อปี  และที่น่ากลัวคือขยะเสื้อผ้าทั้งโลก ไม่ได้ถูกนำไปบริจาคหรือ recycle แต่นำไปถมเป็น land-fill หรือถมดินถมทะเลนั่นเอง เจ้าพวกมวลพลาสติกขนาดจิ๋วนี่ก็จะลอยเกลื่อนเต็มท้องทะเล สัตว์ทะเลก็จะบริโภคสิ่งเหล่านี้เข้าไป มวลของพลาสติกก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อเยื่อในสัตว์ เมื่อมนุษย์เรานำสัตว์ทะเลพวกนี้มาบริโภคต่อ เราก็จะได้รับมวลพลาสติกที่อยู่ในเนื้อสัตว์เข้าสู่ร่างกายตามไปด้วย ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดมะเร็งได้

    เหตุผลทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมานี่เอง ทำให้คำว่า “slow fashion” ถือกำเนิดขึ้น

    ซึ่งแนวคิดของหลักการนี้คือ แฟชั่นช็อปช้า ๆ คุณภาพดีที่ใส่ได้นาน

    วิธีสังเกตว่าแบรนด์ไหนที่เข้าข่ายเป็น Slow fashion ให้ดูว่าวัสดุที่นำมาใช้นั้นเป็นมิตรต่อธรรมชาติหรือไม่ เน้นการใช้งานที่สามารถใช้งานได้บ่อย ทนทานใช้งานได้ระยะยาว
    1. วัสดุทนทานใช้งานได้ระยะยาว  เน้นการใช้งานที่สามารถใช้งานได้บ่อย
    2. กระบวนการผลิตไม่ทำร้ายโลก เช่น ไม่ใช้สารเคมีตั้งแต่การปลูกไปถึงการแปรรูป
    3. สินค้าคุณภาพสูง ผลิตมาแบบคงทนถาวร ใส่ได้นาน ๆ
    4. คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นมิตรต่อธรรมชาติ

    ปัจจุบันก็มีประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างมากในโลกโซเชียล กับแคมเปญ #Wearวนไป การใส่เสื้อผ้าซ้ำ ไม่ใช่เรื่องแปลก

    เริ่มมีหลายๆคนออกมาแสดงความคิดเห็นเรื่องของการใส่เสื้อผ้าซ้ำอย่างมากมาย มีการร่วมรณรงค์ชวนใส่เสื้อผ้าซ้ำหรือเสื้อผ้าที่ตัวเองมีอยู่ พร้อมมาแชร์เรื่องราวที่ว่าด้วยการใส่เสื้อผ้ากันเป็นจำนวนมาก ซึ่งแคมเปญนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ครูลูกกอล์ฟ หรือ คณาธิป สุทรรักษ์ ครูสอนภาษาและเจ้าของสถาบัน Angkriz ได้มีการโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวและในอินสตาแกรมเกี่ยวกับประเด็นเรื่องของ “การใส่เสื้อผ้าซ้ำ โดยข้อความระบุว่า

    “ลูกกอล์ฟอยากชวนทุกคนมาสร้างค่านิยมเรื่องการใส่เสื้อผ้าซ้ำวนไปเรื่อยๆ ให้เกิดขึ้นในสังคม หรือใช้ของมือสองเป็นหลัก เพื่อให้คนเห็นว่าเราไม่ต้องตาม collection ใหม่ๆ ของโลกตลอดเวลา เพราะเสื้อผ้าหรือสิ่งของที่เราซื้อมา มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน แต่วันนี้เริ่มง่ายๆ เวลาที่ทุกคนใส่เสื้อผ้าซ้ำ หรือหยิบจับเสื้อผ้าเก่า ๆ มาเป็นลุคใหม่ ช่วย Hashtag #wearวนไป ใน IG หรือ FB นะคะ ถ้าลูกกอล์ฟเห็นจะเข้าไปมอบหัวใจให้ และลองหาข้อมูลว่า อุตสาหกรรมแฟชั่นส่งผลกระทบต่อโลกยังไงบ้างนะคะ” ซึ่งจุดประสงค์ของข้อความของครูลูกกอล์ฟคือต้องการให้คนรณรงค์และแชร์เรื่องราว “ใส่เสื้อผ้าที่มีวนไปเรื่อยๆ”

    ซึ่งหลังจากที่มีการโพสต์ข้อความของครูลูกกอล์ฟแล้ว ในเวลาต่อมา ชาวโซเชียลก็ต่างพากันเข้าร่วมแคมเปญดังกล่าวเป็นจำนวนมาก มีการติดแฮชแทก #Wearวนไป  ซึ่งก็มีหลายคนที่มาโพสต์และแชร์เรื่องราวผ่านการระบายความในใจ ว่าที่ผ่านมามักถูกบูลลี่ในเรื่องของการใส่เสื้อผ้าซ้ำ เช่นคำว่า ใส่เสื้อตัวนี้อีกแล้วหรอ? , กางเกงแห้งทันหรอ ? เป็นต้น พร้อมโพสต์ภาพและแสดงความคิดเห็นด้วยว่าใส่เสื้อผ้าซ้ำไม่ใช่เรื่องแปลก เป็นเรื่องของความชอบ ความสะดวกของแต่ละบุคคล

    นับว่าเป็นการเปิดประเด็นที่ทำให้เรื่องของอุตสาหกรรมแฟชั่น ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและปัญหาเรื่องของการใช้แรงงานดังขึ้นมาอีกครั้ง 

    แล้วเราล่ะ เราจะสามารถแต่งตัวแบบช่วยโลกได้ยังไงบ้าง แนวทางของแฟชั่นที่ยั่งยืน ?

    ช็อปปิ้ง
    Cr.Photo: Unsplash.com
    1. อย่างแรกเลยเราไม่จำเป็นต้องวิ่งตามกระแส  เราไม่จำเป็นต้องตามทุกเทรนด์บนโลกใบนี้ได้นะ
    2. คิดให้รอบคอบก่อน ตั้งคำถามก่อนตัดสินใจซื้อ ว่ามันจำเป็นจริง ๆ มั้ย หรือเราจำเป็นต้องใช้เงินไปกับรายจ่ายส่วนอื่น ๆ ก่อน เสื้อผ้าใส่เล่นตัวละไม่กี่ร้อย ด้วยความที่อาจจะเหฌนว่ามันราคาถูกเลยไม่ได้คิดก่อนว่ามันจำเป็นมั้ย บางครั้งเราก็ไม่เคยที่จะใส่มันด้วยซ้ำ เสื้อผ้าพวกนี้มันก่อให้เกิดมลภาวะต่อธรรมชาติได้อย่างมหาศาล โดยกระบวนการผลิตเสื้อผ้านั้นคุกคามธรรมชาติตั้งแต่เริ่มต้น ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการปลูกฝ้าย ในหลายประเทศต้องทำลายป่าไปอย่างมากมายเพื่อใช้พื้นในการปลูกฝ้าย ตามมาด้วยกระบวนการแปรรูปหรือปั่นด้ายก็ถือเป็นตัวการสำคัญในการสร้างคาร์บอน ทำให้โลกของเราร้อนขึ้นไปอีก ซึ่งถ้าบางทีเราหวนคิดว่าของมันยังไม่จำเป็นต้องมีเราก็น่าจะช่วยทั้งเซฟทั้งโลก แถมเซฟเงินในกระเป๋า
    3. ไม่ห้ามว่าไม่ให้ซื้อ แต่..ซื้อให้น้อยลง ลองกำหนดเป้าในเรื่องของการซื้อหรือช็อปปิ้งเสื้อผ้าตัวใหม่ จากเดิมที่ซื้อมันทุกวัน ลองค่อย ๆ ปรับเป็นซื้ออาทิตย์ละหนึ่งตัว เดือนหนึ่งหนึ่งตัว ลองค่อย ๆ ปรับกันดูค่ะ
    4. ลองช็อปสินค้าแฟชั่นมือสอง บอกเลยว่าการช็อปปิ้งเสื้อผ้ามือสองก็ได้เสื้อผ้าเก๋ ๆ ไม่แพ้เสื้อผ้ามือหนึ่งนะ ลองหาโอกาสไปเดินตลาดเสื้อผ้าเมื้อสองกันดูนะ
    5. MIX & MATCH เสื้อผ้าเดิมที่มีอยู่  เราสามารถมีชุดใหม่ได้โดยที่ไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม ใช้ ใส่เท่าที่เรามีอยู่ ลองหยิบจับกางเกงตัวนั้นมาคู่กับกางเกงตัวนี้ กางเกงหนึ่งตัวจับคู่กับเสื้อได้เป็นสิบตัวค่ะพูดเลย แถมยังช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าเราได้อีกด้วยนะ   อย่างเช่นการนำเสื้อยืดธรรมดามาแมทช์เข้ากับกางเกงหรือกระโปรงก็ทำให้เราสามารถได้ลุคที่แตกต่างกัน สาว ๆ ลองใช้ความครีเอท ความคิดสร้างสรรค์ ปรับแต่งจากสิ่งที่มีอยู่เดิมทำให้มันออกมาเก๋ ๆ ได้เลย
    6. ใส่เสื้อผ้าสีธรรมชาติ เลือกซื้อเสื้อผ้าจากเส้นใยธรรมชาติ 100%
    7. เลือกสนับสนุนแบรนด์ที่มิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ทารุณกรรมสัตว์
    8. แลกเปลี่ยนเสื้อผ้ากับเพื่อนสาว 

    .

    ร่วมกันลด Fast Fashion แล้วมาใส่เสื้อผ้าซ้ำ/เสื้อผ้าตัวเดิมที่มีอยู่กันนะคะ ___________________________________________________________________

     

    กางเกงในไข่เย็น
    เรื่องไข่เรื่องใหญ่! เปิดตัวกางเกงในไข่เย็น ด้วยเทคโนโลยี GQ Cool Tech™ กางเกงในเพื่อสุขภาพของชายไทย คลิกเลย

    Related Post