THE 67th NATIONAL EXHIBITION OF ART งานการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ
การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ นับว่าเป็นเวทีการประกวดระดับชาติที่มีประวัติความเป็นมายาวนานที่สุดในประเทศไทย โดย มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้จัดการแสดงงานนี้มาอย่างต่อเนื่องจวบจนถึงปัจจุบัน ซึ่งถือว่าเป็นครั้งที่ 67 แล้ว
โดยงานนี้ จัดขึ้นเพื่อเป็นการสนับสนุนให้ศิลปินไทยได้มีเวทีแห่งการสร้างสรรค์ในระดับชาติ ด้วยการเปิดโอกาสให้ส่งผลงานศิลปกรรมประเภทจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ และสื่อประสมเข้าประกวด
ขณะเดียวกันยังมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิร่วมตัดสิน และนำผลงานไปจัดแสดงนิทรรศการ นอกจากนี้ยังเป็นการเปิดโอกาสให้สาธารณชนได้ชื่นชม ผลงานศิลปกรรมอย่างกว้างขวางทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคอีกด้วย
ที่สำคัญงานครั้งนี้ มีศิลปินไทยส่งผลงานเข้าประกวด มากถึง 202 คน รวมผลงานทั้งสิ้น 227 ชิ้น และจากผลการคัดเลือกของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทางศิลปะ ปรากฏว่ามีผลงานศิลปกรรมได้รับรางวัลประเภทต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น 18 รางวัล และผลงานที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมจัดแสดงรวมทั้งสิ้น 63 ชิ้น ซึ่ง Inzpy ขอหยิบยกบางผลงานที่ได้รับรางวัล มาแนะนำให้รู้จักกันคร่าว ดังนี้
มิติความดีงามของอารยธรรมแห่งบรรพชน
รางวัลประกาศนียบัตรเกียรตินิยม อันดับ 2 เหรียญเงิน ประเภทจิตรกรรม
ภาพสีน้ำมัน โดย ศักชัย อุทธิโท ที่สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรม จารีตประเพณีของสังคมชนบทที่สืบทอดต่อกัน ผ่านการใช้เส้น และสีสัน ที่นำพาไปสู่จินตนาการจากอดีตจนถึงปัจจุบันที่มีความทับซ้อนถักทอกันอยู่ในสภาวะชีวิตของเรา การดำรงอยู่ของวิถีชีวิตแห่งความสุขและความดีงาม
“ฟ้ามืดแล้ว”
รางวัลประกาศนียบัตรเกียรตินิยม อันดับ 2 เหรียญเงิน ประเภทประติมากรรม
ผลงานประติมากรรม (ประกอบไม้ และแกะสลักไม้ ขนาด 200 x 190 x 127 ซม.) โดย มงคลชัย แก้วแจ้ง ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากครอบครัวที่มีอาชีพเป็นเกษตรกร โดยนำเครื่องมืออย่างจอบและเสียมที่เป็นจุดเริ่มต้นของการทำสวน มาเป็นต้นแบบในการสร้างสรรค์ผลงาน
และด้วยลักษณะของการใช้งาน ที่ต้องใช้เวลานาน เพราะต้องขุดดินเป็นจำนวนมาก จึงทำให้อาชีพชาวสวนต้องทำงานกันถึงพระอาทิตย์ตกดิน และมักพูดกันอยู่บ่อย ๆ ว่า “ฟ้ามืดแล้ว กลับบ้านกันนะ” ดังนั้นวลีนี้จึงเป็นที่มาของชื่อผลงงานนั่นเอง
“พื้นที่ความสงบ”
รางวัลประกาศนียบัตรเกียรตินิยม อันดับ 2 เหรียญเงิน ประเภทภาพพิมพ์
ผลงานภาพพิมพ์แกะไม้ (ขนาด 109 x 130 ซม.) ประวีณ เปียงชมภู ที่เป็นการสร้างเอกภาพทางสุนทรียศาสตร์ในพื้นที่สภาวะที่ทับซ้อน เพื่อมุ่งถึงความสงบของจิตใจ
โดยนำลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ภายในห้อง แสดงออกร่วมกับการจัดวางโดยใช้สื่อที่เป็นวัตถุสิ่งของร่วมกับบรรยากาศ สี แสง เงา ที่ผสานสัมพันธ์กันเป็นสัญลักษณ์แห่งความหมาย แสดงออกผ่านกระบวนการทางเทคนิคภาพพิมพ์แกะไม้ ในลักษณะที่เบาบางทางสายตา ด้วยกรรมวิธีขูด ขัด แกะ และในขั้นตอนการพิมพ์แต่ละชั้นสีที่ผสมผสานกันอย่างประณีต
“ความจริง-ภาพลวง”
รางวัลประกาศนียบัตรเกียรตินิยม อันดับ 2 เหรียญเงิน ประเภทสื่อประสม
ผลงานสื่อผสมจัดวาง และภาพถ่าย (ขนาด 230 x 280 x 254 ซม.) โดย กรกนก พฤกษ์มโนนุกูล ที่ต้องการสื่อสารให้เห็นถึงเรื่องการยอมรับความจริง ที่ยากกว่าการสร้างภาพลวงขึ้นมา เพราะมนุษย์บางประเภทยอมรับ มีความสุข และปรารถนากับภาพลวง และมนุษย์ไม่สามารถรับรู้ถึงความรู้สึกที่แท้จริงภายในจิตของผู้อื่นได้
ภาพลวงจึงถูกสร้างขึ้นเพื่อซ่อนเร้นการรับรู้และการแสดงออก เป็นภาวะอารมณ์ที่ตรงข้ามกับความรู้สึกที่ไม่ปรารถนาจะเปิดเผย การฝืนอวัยวะไปจากความเป็นจริง อาจกลายเป็นความจริงที่สร้างความหมายของความรู้สึกใหม่ กลไกที่เกิดขึ้น ไม่มีผู้ใดเป็นผู้ตัดสินได้ว่าถูกหรือผิด ทุกอย่างเป็นเพียงสิ่งที่เกิดจากจิตใจที่ซับซ้อนของมนุษย์นั่นเอง
สำหรับ THE 67th NATIONAL EXHIBITION OF ART จะจัดแสดงขึ้น ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า กรุงเทพฯ ในระหว่างวันที่ 16 มีนาคม – 17 เมษายน 2565 โดยเปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลา 09.00 – 16.00 น. ทุกวันพุธ – อาทิตย์ (เว้นวันจันทร์และอังคาร) หลังจากนั้นจะนำไปจัดแสดง ณ สถาบันศิลปะในส่วนภูมิภาคต่อไป คลิกดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.art-centre.su.ac.th
บทความน่าสนใจ : ไทวัสดุ เปิดสาขาใหม่ล่าสุด ที่ชัยภูมิ