More

    บ้านเก่า อายุมากกว่า 15 ปี เราควรตรวจเช็คอะไรบ้าง ?

    บ้านเก่า อายุมากกว่า 15 ปี เราควรตรวจเช็คอะไรบ้าง ? เคยฉงนใจกันหรือไม่ ? เชื่อว่าขึ้นปีใหม่ หลายคนคงสาละวนกับการจัดระเบียบบ้านครั้งใหญ่ พร้อม ๆ กับการสังคายนาของเก่าที่ไม่ได้ใช้ทิ้งไป แต่อย่าลืม! ตรวจเช็คสภาพบ้านกันบ้างนะคุณ… ยิ่งบ้านที่ปลูกสร้างมาแล้วหลายปี ยิ่งต้องคอยตรวจเช็ค

    เอาเป็นว่าเริ่มต้นปีนี้ Inzpy จะพามาจับประเด็น เกี่ยวกับบ้านที่มีอายุมากกว่า 15 ปีขึ้นไป ว่าควรจะตรวจเช็คอะไรบ้างให้ได้ทราบกัน เพราะส่วนใหญ่บ้านในกลุ่มนี้ มักจะเริ่มทำการต่อเติมหรือรีโนเวทรอบใหญ่ อันเนื่องมาจากมีสมาชิกภายในบ้านเพิ่มขึ้น หรือ… ตัวอาคารเริ่มเกิดความเสื่อมโทรม

    ดังนั้นเจ้าของบ้านอาจพบปัญหาต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อการอยู่อาศัย ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่บอกเลยว่ามีอยู่สองประเด็นหลัก ๆ ได้แก่ 1. ปัญหาเกี่ยวกับวัสดุกรุผิวในส่วนต่าง ๆ 2. ปัญหาเรื่องงานระบบ

    1. ปัญหาเกี่ยวกับวัสดุกรุผิวในส่วนต่างๆ

    นับเป็นปัญหายอดนิยม ที่มักเกิดขึ้นในเรื่องความเสื่อมของวัสดุกรุผิวอาคาร ทั้งวัสดุตกแต่งพื้น และวัสดุตกแต่งผนังต่าง ๆ รวมถึงวัสดุมุงหลังคา

    1.1 วัสดุกรุพื้น

    พื้นที่จอดรถหรือทางเดินรอบบ้านแตกร้าว เนื่องจากการทรุดตัวไม่เท่ากันของพื้นที่

    จุดสังเกต

    เริ่มต้นด้วยการสังเกตว่า พื้นเริ่มแยก และมีระดับที่แตกต่างกัน หรืออาจมีอาการทรุดตัวเป็นแอ่งลงไปตรงกลางพื้นที่จอดรถ โดยมีรอยร้าวร่วมด้วย สาเหตุมักเกิดจากโครงสร้างพื้นที่ในบริเวณดังกล่าวนั้น มักจะเป็นโครงสร้างพื้นวางบนดิน (Slab on ground) โดยปราศจากโครงสร้างใต้ดินหรือเสาเข็มรองรับด้านล่าง

    แตกต่างกับโครงสร้างบ้านที่ถูกออกแบบเป็นโครงสร้างพื้นที่วางบนคาน (Slab on beam) ซึ่งภายใต้ตัวบ้านนั้นจะมีโครงสร้างเสาเข็มรองรับ โดยรอยแยกที่ว่านี้ไม่เป็นอันตราย และไม่มีผลทำให้โครงสร้างบ้านของเราพังทลาย เพียงแต่อาจสร้างความหงุดหงิดใจ และทำให้การใช้งานในบริเวณนั้นเป็นไปอย่างยากลำบาก

    วิธีการแก้ไข

    กรณีที่คุณไม่อยากรื้อทุบพื้นเดิม สามารถแก้ไขโดยการตัดแยกรอยต่อระหว่างพื้นโครงสร้างที่วางบนคาน และพื้นโครงสร้างที่วางบนดิน จากนั้นบริเวณรอยต่อที่ทำการตัดแยกอาจใช้วิธีโรยกรวด หรือกรณีที่รอยร้าวมีไม่มากนัก อาจใช้วิธีอุดรอยต่อด้วยโฟมเส้น และยาแนวด้านบนด้วยวัสดุอุดรอยต่อ อาทิ PU หรือ ซิลิโคน

    บ้านเก่า

    ส่วนกรณีที่รอยร้าวเกิดขึ้นบริเวณตรงกลางที่จอดรถ โดยมีรอยแยกบริเวณขอบรอยต่อร่วมด้วยนั้น วิธีนี้การตัดแยกโครงสร้างอาจไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งหมด ควรทำการสกัดพื้นที่จอดรถเดิมที่มีปัญหาและทำการเทพื้นบริเวณใหม่ ซึ่งวิธีการเทพื้นใหม่นั้นควรแยกรอยต่อระหว่างโครงสร้างบ้าน และพื้นที่จอดรถเช่นกัน รวมถึงหากเป็นการเทคอนกรีตใหม่บนพื้นที่ขนาดใหญ่มาก ๆ ควรทำการตัดแยกรอยต่อบนพื้นทุก ๆ 3 เมตร เพื่อป้องกันการแตกร้าวอันเนื่องมาจากการยืด-หดตัวของคอนกรีต

    บ้านเก่า

    หรืออาจเลือกใช้เป็นบล็อกปูพื้น หรือกระเบื้องคอนกรีตทดแทนพื้นคอนกรีตก็ได้เช่นกัน เพราะหากเกิดการทรุดตัวเพิ่มเติมอีกก็ไม่ทำให้วัสดุปูพื้นเสียหาย เนื่องจากสามารถรื้อบล็อกหรือกระเบื้องคอนกรีตขึ้นมาทำการปรับระดับ และติดตั้งใหม่ก็ง่ายและประหยัดด้วย ยิ่งปัจจุบันมีรูปแบบและสีสันให้เลือกใช้หลากหลาย น่าจะตอบโจทย์เจ้าของบ้านหลายท่านได้เลยล่ะ

    1.2 วัสดุกรุผนัง

    พบสีลอกล่อน และเกิดเชื้อราบนผนัง

    บ้านเก่า

    จุดสังเกต

    สีลอกล่อน ผนังเป็นเชื้อรานั้นเกิดจากความชื้นสะสมบริเวณผนัง เป็นสัญญาณว่าอาจมีรอยร้าวบริเวณผนัง หรือสีทาผนังอาจมีการเสื่อมสภาพ มักเกิดขึ้นบริเวณชั้น 1 สูงจากพื้นประมาณ 1 เมตร

    วิธีแก้ไข

    เริ่มแรกที่ควรปฏิบัติ คือ ลงมือทำความสะอาดและกำจัดเชื้อราบนผนังซะก่อน จากนั้นจึงแก้ปัญหาการรั่วซึมของผนังด้วยการใช้เครื่องเจียร์ขัดสีออกให้เหลือแต่เนื้อปูน โดยมีระยะสูงจากพื้นประมาณ 1 เมตร จากนั้นจึงทาด้วยผลิตภัณฑ์กันซึม ทิ้งไว้ประมาณ 15-20 วัน

    และเมื่อตรวจสอบว่าผนังไม่มีความชื้นแล้ว ก่อนจะทาสีบริเวณผนังด้านนอก ควรทาน้ำยาป้องกันความชื้น ให้สูงจากพื้นประมาณ 1 เมตร จากนั้นทิ้งให้แห้งอย่างน้อย 3-4 ชั่วโมง แล้วค่อยทาสี ที่สำคัญควรเลือกใช้สีที่มีประสิทธิภาพป้องกันความชื้นได้ดี เพื่อช่วยป้องกันปัญหาสีลอกล่อนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

    1.3 วัสดุหลังคา

    กระเบื้องหลังคาแตกร้าว

    บ้านเก่า

    จุดสังเกต

    ตรวจสอบสภาพความสมบูรณ์ของกระเบื้องหลังคาว่ามีการแตกร้าวหรือไม่ เนื่องจากอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการรั่วซึมขึ้นได้ หากเจ้าของบ้านยังไม่สัมผัสถึงน้ำที่มีการรั่วซึมลงมาภายในอาคาร อาจใช้วิธีการสังเกตรอยคราบน้ำบริเวณฝ้าภายในบ้านก็ได้เช่นกัน เพราะนั่นคือสัญญาณบอกเหตุว่าหลังคาของเราอาจจะเริ่มมีปัญหานั่นเอง

    วิธีการแก้ปัญหา

    เบื้องต้นหากพบคราบน้ำหรือพบการรั่วซึมภายในอาคาร ควรทำการตรวจสอบสภาพหลังคาว่ามีส่วนใดชำรุดเสียหายหรือไม่ เพราะนอกจากสาเหตุจากตัวกระเบื้องหลังคาแล้ว อาจมีสาเหตุมาจากปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย อาทิ อุปกรณ์ครอบต่าง ๆ อาจมีการแตกหักเสียหาย หรืออาจเกิดจากปัญหาน้ำล้นรางก็เป็นไปได้เช่นกัน

    หากเจ้าของบ้านไม่ชำนาญในการตรวจสอบ อาจทำการติดต่อผู้เชี่ยวชาญเข้าตรวจสอบเพิ่มเติมเพื่อทำการวิเคราะห์หาสาเหตุและทำการซ่อมแซมต่อไปก็จะดีกว่า

    หลังคาสีซีดจางหรือเกิดราดำบ้านเก่า จุดสังเกต

    ปัญหาหลังคาสีซีดหรือเกิดสิ่งสกปรกเกาะที่พื้นผิวจนทำให้เกิดความไม่สวยงาม มักเกิดขึ้นได้กับบ้านพักอาศัยที่อยู่มานาน ทำให้บ้านดูหม่นหมอง โดยเฉพาะหลังคาที่ไม่ได้มีการเคลือบผิวก็มักจะมีคราบสกปรกและตะไคร่เกิดขึ้นเห็นได้ชัดเจน

    วิธีการแก้ปัญหา

    สามารถทำความสะอาดด้วยเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงได้ แต่ทั้งนี้ควรระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการฉีดน้ำไปยังบริเวณรอยต่อหรือจุดเปราะบาง เพราะอาจทำให้หลังคาเกิดการแตกหักหรือเสียหายได้ นอกจากนี้หากทำความสะอาดหลังคาเรียบร้อยแล้ว อาจทำการทาสีหลังคาใหม่เพิ่มเติม เพื่อคืนความสดใสให้แก่บ้านของเรา

    2.ปัญหาเรื่องงานระบบ

     2.1 งานไฟฟ้า

    อุปกรณ์เกิดการเสื่อมสภาพ

    บ้านเก่า

    จุดสังเกต

    ตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้า เต้ารับ เต้าเสียบ สายไฟ สวิตซ์ไฟ ว่ายังสามารถใช้งานได้ดีหรือไม่ มีรอยไหม้ หรือฉีกขาดหรือเปล่า

    วิธีแก้ไข

    หากพบว่าผิดปกติในบริเวณใดแล้วไม่ควรนิ่งเฉย ต้องรีบทำการแก้ไข เพราะอาจส่งผลต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ โดยเฉพาะสายไฟที่เดินลอย อาจพบว่ามีอัตราความเสื่อมสูงกว่าสายไฟที่เดินในท่อร้อยสายไฟ ดังนั้นควรทำการเปลี่ยนใหม่เลยจะดีกว่า

     2.2 งานสุขาภิบาล

    ระบายน้ำเสียออกนอกพื้นที่ไม่ได้

    จุดสังเกต

    ไม่สามารถระบายน้ำภายในบ้านออกสู่ท่อสาธารณะ เนื่องจากบ้านต่ำกว่าถนน กรณีนี้อาจเกิดขึ้นได้เมื่อบริบทรอบ ๆ บ้านของเรามีการเปลี่ยนแปลง เช่น มีการยกถนนหน้าบ้านให้สูงขึ้นส่งผลให้มีการยกระดับท่อระบายน้ำสาธารณะสูงขึ้นไปด้วย ทำให้การระบายน้ำจากภายในบ้านออกสู่ด้านนอกเป็นไปได้ยาก

    วิธีการแก้ปัญหา

    ทำการปรับบริเวณรอบบ้าน โดยการทำขอบคันกั้น และขุดบ่อดักน้ำเอาไว้ รวมถึงใช้ปั๊มสูบน้ำออกภายนอกบริเวณบ้าน สำหรับน้ำทิ้งที่ไหลย้อนกลับมาทางท่อระบายน้ำสาธารณะ ต้องทำการอุดปิดตรงปากทางท่อระบายน้ำด้านที่ส่งน้ำลงท่อสาธารณะ จากนั้นต่อขอบบ่อพักเดิมให้สูงขึ้น และติดตั้งปั๊มจุ่มเพื่อสูบน้ำออก เพื่อให้สามารถรับน้ำทิ้งจากบ้านได้ตามปกติ

    หรือถ้าปัญหาเรื่องใด คิดว่าเกินกำลัง เกินความสามารถเรา ก็ลองใช้บริการกับผู้เชี่ยวชาญจะดีกว่า หรือปรึกษาเรื่องการปรับปรุง ซ่อมแซม กับผู้เชี่ยวชาญจากทาง เอสซีจี โฮม ได้ที่ https://bit.ly/3CQUNku

    ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ จาก SCG HOME

     

    บทความน่าสนใจ : ROOM DIVIDER ฉากกั้นห้อง ดีไซน์สวย… ปัง! จากฝีมือนักออกแบบไทย

     

    Related Post