รัฐสภาไทย คือสถาบันทางการเมืองที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติในฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทย ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีหน้าที่หลักในการออกกฏหมายควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน และให้ความเห็นชอบเรื่องสำคัญของประเทศ ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด
อาคารรัฐสภาซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของระบอบประชาธิปไตย จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในฐานะที่เป็นสถานที่ประชุมและปฎิบัติหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา
ความหมายสัปปายะสภาสถาน
“สัปปายะ” แปลว่า สบาย ในทางธรรมหมายถึง สถานที่ประกอบกรรมดี เมื่อสมัยก่อน หากประเทศเกิดวิกฤติ กษัตริย์จะสร้างสถานที่เพื่อปลุกขวัญกำลังใจไพร่ฟ้าประชาชน โดยการดำเนินชีวิตทางโลกียะจะมีโลกุตตระ คือ ธรรมะกำกับ ซึ่งวันนี้บ้านเมืองเกิดวิกฤติความเสื่อมทางศีลธรรม จึงต้องฟื้นจิตใจคนในชาติ โดยการนำหลักการสถาปัตยกรรมไทยแบบแผนไตรภูมิตามพุทธคติมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบ โดยมีอาคารเครื่องยอดสถาปัตยกรรมไทยอยู่ตรงกลางอาคาร และเป็นโอกาสที่ดีที่จะเป็นรัฐสภาระดับโลก ฟื้นสันติภาพ พลิกฟื้นจิตวิญญาณของมนุษยโลก โดยการสถาปนาเขาพระเมรุครั้งใหม่ในยุครัตนโกสินทร์
แนวความคิดในการออกแบบ
“ อาคารรัฐสภาเป็นสัญลักษณ์ของการปกครองประชาธิปไตย แนวคิดในการออกแบบอาคารและบริเวณโดยรอบ จึงให้ความสำคัญแก่ประชาชนทุกระดับ เพราะประชาชนอยู่ในฐานะที่สำคัญในทุกภาคส่วน ”
การออกแบบอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ โดยทีมสงบ 1051 ซึ่งเป็นผู้ชนะการประกวดเป็นงานสถาปัตยกรรมไทยตามคติไตรภูมิ ในพุทธวิธีที่สร้างมณฑลศักดิ์สิทธิ์เป็นสัปปายะสถาน นำบ้านเมืองสู่ภาวะ “บังอบายเบิกฟ้า ฝึกฟื้นใจเมือง” ที่พระมหากษัตริย์และบรรพบุรุษของเราในอดีต ได้สถาปนาสืบสานเพื่อให้บ้านเมืองสงบร่มเย็นมาต่อเนื่องยาวนาน
ทั้งนี้ การออกแบบอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ได้เน้นเรื่องอุดมคติ 5 เรื่อง และเรื่องประสิทธิภาพและคุณภาพชีวิต 4 เรื่อง
“พระสุริยัน” แนวคิดหลักในการออกแบบห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่ว่า พระสุริยันเป็นต้นกำเนิดของชีวิตและสรรพสิ่งในโลกนี้ เช่นเดียวกับภารกิจอันศักดิ์สิทธิ์ของรัฐสภา เพื่อความผาสุกสงบร่มเย็นของประชาชน
“พระจันทรา” แนวคิดหลักในการออกแบบห้องประชุมวุฒิสภาที่ว่า พระจันทราเป็นพลังคู่กับพระสุริยัน เปรียบเสมือนการทำงานระหว่างสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับสมาชิกวุฒิสภา เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของประเทศชาติ
อุดมคติ 5 เรื่อง ประกอบด้วย
1 ชาติ
รัฐสภาต้องสง่างามมีศักดิ์ศรีและมีคุณค่าอย่างไทย เป็นสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่เจริญขึ้นจากรากเหง้าของศิลปะและวัฒนธรรมของประเทศไทย เป็นการสืบสานทั้งศิลปะ วัฒนธรรม คติความเชื่อ และภูมิปัญญาจากอดีตเชื่อมโยงมาจึงถึงปัจจุบัน
2 ศีลธรรม
ปัญหาการแสดงความขัดแย้งทางสังคมและการเมืองที่แตกต่างกันของคนในสังคมปัจจุบัน รัฐสภา จึงเป็นศูนย์รวมแห่งความหวังของประชาชนและสังคมทั่วไป โดยให้อาคารรัฐสภาเป็นสัปปายะของบ้านเมือง กล่าวคือ เป็นสถานที่แห่งปัญญา เป็นศูนย์รวมจิตใจและการมีส่วนร่วมกันของคนทั้งชาติ รวมทั้งเป็นสภาที่ศักดิ์สิทธิ์ และเป็นหลักของบ้านเมืองในเรื่องศีลธรรม คุณธรรม และการปกครองโดยธรรม
3 สติปัญญา
รัฐสภาแห่งใหม่จะเป็นแหล่งเพิ่มพูนความรู้และสติปัญญาของบุคคลภายในชาติ ซึ่งทำหน้าที่เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญ โดยเฉพาะเรื่องความเป็นชาติ เพื่อสืบสานความเป็นไทยไปสู่สังคมโลก
4 สถาบันพระมหากษัตริย์
ประเทศไทยมีศูนย์รวมจิตใจที่สำคัญสูงสุดที่ทำให้แตกต่างจากชาติอื่น ๆ ในโลก คือ สถาบันพระมหากษัตริย์ การออกแบบอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ จึงให้ความสำคัญกับลำดับของพื้นที่กำหนดขึ้น เพื่อใช้ในการประกอบรัฐพิธีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดประชุม ซึ่งจะต้องเป็นพื้นที่ที่สมพระเกียรติโดยอยู่ในสถานที่อันควรและเหมาะสม
5 ประชาชน
อาคารรัฐสภาเป็นสัญลักษณ์ของการปกครองประชาธิปไตย แนวคิดในการออกแบบอาคารและบริเวณโดยรอบ จึงให้ความสำคัญแก่ประชาชนทุกระดับ เพราะประชาชนอยู่ในฐานะที่สำคัญในทุกภาคส่วน
ทำไมต้องใช้แนวคิดเกี่ยวกับศาสนามาใช้เป็นหลักในการออกแบบ
แนวคิดของการเกิดอาคารราชการที่มีความเป็นไทย มากับกระแสอาคารแบบไทยหลังการรัฐประหาร 2490 และสอง สิ่งที่สำคัญกับรัฐสภาหลังนี้มากก็คือ กระแสซึ่งเป็นผลผลิตของการรัฐประหารปี 2549 ที่เต็มไปด้วยความรู้สึกโหยหาทางศีลธรรมในปริมณฑลทางการเมืองสูงมาก ถามว่าทำไมต้องเป็นศาสนา ลองนึกย้อนกลับไปในบริบทการรัฐประหาร 2549 เราจะเห็นอารมณ์ที่ผู้คนเชื่อว่านักการเมืองโกงกินจนเกินเยียวยา การดึงเอาศีลธรรมทางศาสนามาใช้ก็เป็นภาพที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น ด้วยความหวังว่าศีลธรรมทางศาสนาจะช่วยกำกับนักการเมืองให้อยู่ในร่องในรอยที่ควรจะเป็น เมื่อกระแสอาคารราชการต้องมีลักษณะที่เป็นไทยมารวมกับกระแสหลังรัฐประหาร 2549 จึงกลายเป็นแบบอาคารรัฐสภาหลังปัจจุบันที่เราเห็น รัฐสภาหลังนี้จึงไม่ใช่เอารูปแบบของวัดมาใช้เฉยๆ แต่นำเอาความศักดิ์สิทธิ์ ความหมาย แนวคิดทางศีลธรรมมาใช้ ทุกอย่างต้องการให้ย้อนกลับไปหาอาคารทางศาสนา และแน่นอนที่สุด รูปแบบวัด รูปแบบศาสนาก็ตอบโจทย์เรื่องความเป็นไทยในเวลาเดียวกัน
ทำไมต้องสร้างรัฐสภาใหม่
อาคารรัฐสภาบนถนนอู่ทองใน ซึ่งสร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2517 และใช้เป็นที่ประชุมสภายาวนานกว่า 30 ปี มีขนาดคับแคบและไม่เพียงพอสำหรับรองรับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และข้าราชการที่เพิ่มมากขึ้น รัฐบาลในสมัยนายสมัคร สุนทรเวชจึงได้อนุมัติโครงการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ในปี พ.ศ. 2551
เปรียบเทียบกับอาคารรัฐสภาหลังเก่า
อาคารรัฐสภาหลังเก่าที่เพิ่งเลิกใช้ไป แนวคิดเป็นสถาปัตยกรรมร่วมสมัย (contemporary) มีความทันสมัยทัดเทียมนานาอารยประเทศ ตัวอาคารถูกสร้างขึ้นราวปี 2513 (สมัย จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี) บริบทของการสร้างคือ การเป็นพันธมิตรของไทยต่อสหรัฐ ในยุคสงครามเย็น ซึ่งไทยก็มีไอเดียเรื่องโลกเสรีที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์ แม้ว่าอาคารถูกสร้างขึ้นในช่วงของรัฐบาลเผด็จการเช่นเดียวกันกับรัฐสภาหลังใหม่ แต่รูปแบบก็ยังค่อนข้างทันสมัย
ด้วยความที่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐ เราจำเป็นต้องสร้างภาพความทันสมัย ความเป็นโลกเสรี เพื่อแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านคอมมิวนิสต์ หลายคนจึงงงว่าทำไมสร้างในยุคเผด็จการแต่ภาพถึงทันสมัย ก็เพราะบริบททางการเมืองแบบนี้ เผด็จการด้วย เสรีด้วย ทำไปด้วยกัน
เมื่อมาเทียบกับรัฐสภาหลังใหม่จะพบว่า บริบทสงคราม ความขัดแย้งทางการเมืองระดับโลกอย่างที่เราเคยเจอหายไปหมดแล้ว เพราะฉะนั้น ปัญหาของรัฐสภาหลังนี้เกิดขึ้นจากความขัดแย้งภายในของเราเอง
การกำหนดเป้าหมายเชิงคุณค่าในการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรม
กระบวนการในการกำหนด “เป้าหมายเชิงคุณค่า” ของโครงการนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ระยะเริ่มเข้าร่วมการประกวดแบบ ประกอบด้วยกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของเหล่าสถาปนิกในคณะออกแบบ ตั้งแต่
การร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นถึงสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนั้น เป็นการปรับฐานความเข้าใจบริบทด้านสังคมการเมืองของประเทศไทยร่วมกัน เพื่อกำหนดบทบาทของสถาปัตยกรรมรัฐสภาแห่งใหม่ที่จะร่วมกันสร้างสรรค์ให้ตอบสนองต่อบริบททางสังคมการเมืองดังกล่าวได้อย่างเหมาะสม
การร่วมระดมความคิดเห็นเพื่อระบุเป้าหมายเชิงคุณค่า (Software) ที่ต้องการบรรลุถึงในการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรม รัฐสภาและรูปธรรม (Hardware) เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายดังกล่าว ได้ผลเป็นเป้าหมายเชิงคุณค่าที่เป็นวิสัยทัศน์ร่วม(Shared Visions) และแนวทางของรูปธรรมที่เป็นจินตนาการร่วม (Collective Imagination) ของทีมงานซึ่งใช้ในการพัฒนาแบบและการออกแบบรายละเอียดในขั้นต่อๆมา
การระดมความคิดเห็นจากผู้ใช้งาน ได้แก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาหลายท่านทุกฝ่าย เพื่อความเข้าใจในเป้าหมายของโครงการอย่างลึกซึ้งรอบด้าน
ศึกษาเรื่องไตรภูมิในประเด็นเนื้อหา คุณค่า และบริบทต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจและนำมาใช้ในการออกแบบ
อ้างอิง
อัปเดตคอนเทนต์ใหม่ ๆ ทาง LINE ฟรี
Add friend ที่ ID : @inzpy (มี@นำ)