กู้ร่วมซื้อบ้าน ผ่านง่ายจริง ช่วยกันแบ่งเบาภาระการผ่อนบ้าน ไม่ต้องมีเงินก้อนใหญ่มากก็ได้บ้านแล้ว แต่ก็มีเรื่องต้องระวังเช่นกัน ก่อนจับมือแฟนไป “กู้ร่วม” ซื้อบ้าน สร้างเรือนหอ Inzpy มี ข้อดี-ข้อเสีย มาฝากเพื่อพิจารณากันก่อนค่ะ
บุคคลที่สามารถ “กู้ร่วม” ได้
-
- สามี – ภรรยา
- คนที่มีนามสกุลเดียวกัน (เช่น พี่-น้อง พ่อ-แม่-ลูก)
- พี่น้องร่วมสายเลือดที่มีพ่อและแม่เดียวกัน คนละนามสกุลกันก็ไม่เป็นไร แต่ต้องแสดงหลักฐานว่ามีพ่อแม่คนเดียวกัน
- คู่รัก LGBTQ+ (กู้ร่วมได้ แต่มีเงื่อนไขที่ซับซ้อนกว่ามาก อ่านที่ เทคนิคคู่รัก LGBTQ+ กู้ร่วม ผ่านฉลุย พร้อม 5 ธนาคารกู้ได้ )
ในกรณี เป็นแฟนกัน (ช-ญ) แต่ยังไม่แต่งงานกัน กู้บ้านร่วมกันได้หรือไม่ ?
ตอบ : ทำได้ โดยธนาคารจะมีเอกสารมาให้เซ็นว่าเป็นคู่สมรสโดยไม่ได้จดทะเบียน ถ้ามีการจัดการแต่งงานแล้วแต่ไม่ได้จดทะเบียน ก็สามารถนำการ์ดแต่งงาน รูปในวันแต่งงานมาแสดงด้วยได้ หรือถ้ามีลูกก็ใช้เอกสารรับรองบุตรเป็นหลักฐานได้เช่นกัน
ข้อดี-ข้อเสีย ของการ กู้ร่วมซื้อบ้าน
ข้อดี ของการกู้ร่วม
- มีโอกาสในการอนุมัติสินเชื่อได้ง่ายขึ้น
- อาจได้วงเงินเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม
- ไม่ต้องแบกภาระหนี้คนเดียว
เนื่องจากการกู้ร่วมเป็นการกระจายความเสี่ยง เผื่อวันหนึ่งฝ่ายใดขาดสภาพคล่อง ก็ยังมีผู้กู้ร่วมช่วยชำระหนี้ได้ อีกทั้งฐานรายได้ที่นำมาพิจารณาก็เพิ่มขึ้นด้วย ปัจจัยเหล่านี้จะเสริมความน่าเชื่อถือ ทำให้กู้ซื้อบ้านผ่านง่ายขึ้นค่ะ
ข้อเสีย ของการกู้ร่วม
- มีภาระหนี้ร่วมกัน
การ “กู้ร่วม” ก็คือ การค้ำประกันอย่างหนึ่ง ถ้าผิดชำระหนี้หรือถูกยึดทรัพย์ขายทอดตลาด ธนาคารมีสิทธิ์จะเรียกชำระหนี้จากใครก็ได้ที่เป็นผู้กู้ร่วม
- ดอกเบี้ยบ้านที่ใช้ลดหย่อนภาษีถูกหารเฉลี่ย
สิทธิ์ลดหย่อนภาษีจะหารเฉลี่ยตามจำนวนผู้กู้ และจะลดหย่อนรวมได้สูงสุดเพียง 100,000 บาท (ถ้ากู้ร่วม 2 คน หารครึ่งคือลดหย่อนได้สูงสุดคนละ 50,000 บาท)
- การ “ขายบ้าน” ต้องได้รับการยินยอมจากทุกฝ่าย
พอ “ซื้อบ้าน”แล้วไม่เป็นไร แต่ปัญหาที่พบบ่อยคือ คนหนึ่งอยากขายแต่อีกคนหนึ่งไม่ยินยอม ทำให้การขายต้องถูกยืดระยะเวลาออกไปจนกว่าจะยินยอมทุกฝ่าย แต่ถ้าบ้านหลังนั้นมีชื่อผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เพียงคนเดียวก็คงจะจัดการอะไรได้ไม่ยาก
- เมื่อ “กู้ร่วม” แล้วอาจทำให้การกู้ครั้งต่อไปยากขึ้น
หากการกู้ร่วมแบบคนในครอบครัว กู้ร่วมผ่านไปแล้ว แต่ต่อมาอยากจะกู้ร่วมอีกครั้ง เมื่อแต่งงานและอยากซื้อบ้านของตัวเองแยกออกไป จะทำให้คราวนี้กู้ยากขึ้น เพราะยังมีหนี้ติดค้างจากบ้านหลังแรกอยู่ ความสามารถในการผ่อนจ่ายหนี้ต่ำลงไปแล้ว ดังนั้นก่อนตัดสินใจกู้ร่วมต้องคิดให้รอบคอบ ว่าอนาคตจะไม่มีแผนการกู้ซื้อทรัพย์อื่นๆ หรือบ้านหลังอื่นๆ อีก
- หากตกลงกันไม่ดีจะมีปัญหาเรื่องกรรมสิทธิ์ในบ้าน
หากผู้กู้หลักอยากเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เพียงคนเดียวก็จะทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้ มีหลายเคสที่ตอนแรกตกลงว่าบ้านนี้จะเป็นของเราทั้งคู่ แต่พอถึงเวลาจริง ๆ อีกฝ่ายกลับไม่ยอมช่วยผ่อน คนหนึ่งต้องแบกหนี้มาตลอด มันคงไม่แฟร์หากบ้านนี้จะเป็นของเธอด้วย
ดังนั้นคุณควรศึกษานิสัยใจคอของผู้ที่จะมา “กู้ร่วมซื้อบ้าน” ให้ดีก่อน มิเช่นนั้นคงต้องทะเลาะกันแน่นอน
แม้การ “กู้ร่วม” จะเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่ต้องการคนซัพพอร์ต แต่ก็มีข้อควรระวังหลายจุด นอกจากดูเงื่อนไขและทำข้อตกลงร่วมกันแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคืออย่าลืมศึกษาพฤติกรรมของผู้กู้ร่วมให้ดีๆ เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาในภายหลัง ต่อให้รักกันแค่ไหน เรื่องเงินก็ไม่เข้าใครออกใคร ใจคนเปลี่ยนได้ตลอดเวลาค่ะ
สุดท้ายนี้ฝากกดติดตามเพจ inzpy.com | Facebook ไว้ในอ้อมใจด้วยนะคะ เพื่อคุณจะได้เห็นเนื้อหาแบบเข้าใจง่าย ได้ไอเดียเต็ม ๆ แน่นอน
บทความน่าสนใจ