มารยาทในการรับประทานอาหาร เวลาสังสรรค์
ใกล้จะปีใหม่กันแล้ว ช่วงเวลาที่พบปะกับญาติมิตร เพื่อนฝูง เวลามาพบเจอกันก็คงไม่พ้นการไปทานอาหหารกัน วันนี้ผมจะมาแนะนำ มารยาทในการรับประทานอาหาร อย่างถูกต้องเหมาะสม เมื่อต้องเข้าสังคมกับคนอื่น
คำว่ารับประทานมาจากไหน?
คำว่า ทาน เป็นคำนาม หมายถึงของที่ให้ไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งของที่คนมีมอบให้คนอนาถา การตักบาตรหรือเลี้ยงพระคือทาน (Dāna) ในพุทธศาสนา และทุกศาสนาถือว่าการให้ทานแก่ผู้ขัดสนเป็นคุณอันประเสริฐ
คำว่าประทาน เป็นกริยา หมายความว่ามอบให้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ท่านผู้ใหญ่ยกของมีค่าให้ผู้น้อย เช่น “ท่านประทานรางวัลแก่ผู้ชนะ” ดังนั้นเมื่อใคร “รับประทานกล้วย” ก็น่าสงสัยว่า ท่านผู้ใดประทานกล้วยนั้นไป? ภาษาไทย (สันสกฤต) ยังมีอีกคำคล้ายประทาน คือประสาท ที่มีความหมายใกล้เคียงกัน เช่น ในวลี ประสาทพร ประสาทปริญญา คำนี้ยังปรากฏในพิธีกรรมพราหมณ์-ฮินดู
มารยาทการรับประทานอาหาร (แบบไทย)
1.เวลารับประทานอาหารต้องรับประทาน อย่างระมัดระวังไม่ให้เลอะเทอะ เคี้ยวเสียงเบา ๆ
2.ไม่ใช้ มือของตัวเองแตะต้องหรือหยิบอาหารของคนอื่นที่จะรับประทาน หรืออาหารที่เป็นของกลาง
3.ในการรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่นต้องรอให้ผู้มีอาวุโสกว่านั่ง ก่อนจึงนั่ง และผู้มีอาวุโสเริ่มรับประทานก่อนจึงรับประทาน
4.ถ้านั่งเก้าอี้ควรนั่งตัวตรง ไม่ท้าวศอกบนโต๊ะอาหารถ้านั่งกับพื้นควรนั่ง พับเพียบเรียบร้อยและตั้งตัวตรงไม่ท้าวแขน
5.การใช้ผ้าเช็ดมือ เมื่อเข้านั่งโต๊ะอาหารก่อนจะรับประทานควรหยิบผ้าเช็ดมือปูที่ตัก ก่อนดื่มควรใช้ผ้าเช็ดมือ เช็ดปากก่อนทุกครั้งเพื่อกันมิให้แก้วเป็นคราบ ดื่มเสร็จแล้วเช็ดอีกครั้ง
วิธีเช็ดคือซับพลิกผ้าเช็ดมือทางด้านในซับที่ริมฝีปากไม่ยกขึ้นทั้งผืน เมื่อเช็ดแล้วคาบรอยริมฝีปากจะอยู่ทางด้านในไม่เป็นที่น่ารังเกียจ ไม่ต้องใช้ผ้าเช็ดมือ เช็ดช้อน ส้อม จาน ชาม ใช้เสร็จแล้วไม่ต้องพับควรวางไว้บนโต๊ะซ้ายมือของตน
ระหว่างรับประทานอาหารถ้ามีความจำเป็นต้องลุกไปจากโต๊ะควรวางผ้าเช็ดมือไว้ที่เก้าอี้กล่าวคำขอโทษเสียก่อนจะลุกไป
6.ถือช้อนด้วยมือขวาและส้อมด้วยมือซ้ายในเวลารับประทานอาหารแบบไทยถ้ารับประทานอาหารแบบ ฝรั่งที่ต้องใช้มีดกับส้อมถือมีดด้วยมือขวาถือส้อมด้วยมือซ้าย
7.การซดน้ำซุปหรือน้ำแกง ไม่ตักเต็มช้อนเพราะจะหกง่าย ไม่ยกถ้วยขึ้นซด ถ้าจะรับประทานให้หมดจะต้องตะแคงถ้วยแล้วใช้ช้อนตัก การตักซุปนั้นย่อมซดจากข้างช้อนและซดอย่างเงียบอย่าให้มีเสียงดัง วิธีตักจะใช้จากริมนอกเข้าไปหาด้านในหรือจากข้างในออกมาข้างนอกก็ได้
8.การใช้มีด มีไว้สำหรับตัดอาหาร จะนำไปจิ้มอาหารเข้าปากไม่ได้ไม่ว่าในกรณีใด ๆ ผู้ใดใช้มีดส่งอาหารเข้าปาก ผู้นั้นเสียมารยาทอย่างมาก
9.ในการรับประทานน้ำชาหรือกาแฟ ช้อนกาแฟหรือช้อนชามีไว้สำหรับใช้คนเท่านั้น เมื่อคนเสร็จแล้วต้องวางไว้ในจานรองถ้วยอย่าคาช้อนไว้ในถ้วย และอย่าซดจากช้อนเป็นอันขาด
10.การดื่มควรดื่มช้าๆ ระวังไม่ดื่มให้มีเสียง ควรมีการเว้นระยะบ้าง ไม่ควรดื่มรวดเดียวหมด ไม่ดื่มขณะที่ยังมีอาหารอยู่ในปาก และไม่ทิ้งรอยลิปสติกที่ทาปากไว้ที่ถ้วย
ควรรวบช้อนส้อมเมื่อรับประทานอาหารเสร็จ
ตามธรรมเนียมไทยเมื่อรับประทานอาหารเสร็จควรรวบช้อนส้อมวางไว้บนจาน ไม่ควรวางระเกะระกะช้อนไปทางส้อมไปทางเพราะจะถูกมองเอาได้ว่าเป็นคนไม่มีมารยาท
มารยาทเหล่านี้บนโต๊ะอาหารจะส่งเสริมภาพลักษณ์ของคุณให้ดูน่าชื่นชมมากยิ่งขึ้น แม้ไม่ได้ออกงานสังคมบ่อยครั้งก็ยังฝึกอยู่ที่บ้านให้ติดเป็นนิสัยได้