นิทรรศการ Ma – Der – La! (มา-เด้อ-หล้า) ศิลปะไทยสไตล์ป็อป!
Art นิทรรศการ Ma – Der – La! (มา-เด้อ-หล้า) ศิลปะไทยสไตล์ป็อป! แบบสิลปะไทยๆ ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ ที่เล่าเรื่องผ่านภาพอาร์ต ศิลปะโดยศิลปินยอดฝีมืออย่าง อิทธิพล พัฒรชนม์ ผ่านเรื่องราวลายเส้น ถ่ายทอดเรื่องราวความสนุกสนาน แบบมีไสตล์ที่ได้นำเอาวัฒนธรรมต่างๆ ในภาคอีสานมาสื่อความหมายดีๆ ในงานนิทรรศการนี้จะมีภาพสวยๆ อะไรบ้าง ตาม Inzpy ไปชมกันเลย
ใครว่างานจิตรกรรมไทยเข้าถึงยาก! ต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ เพราะในนิทรรศการ Ma – Der – La! (มา-เด้อ-หล้า) ครั้งนี้ อิทธิพล พัฒรชนม์ ศิลปินร่วมสมัยฝีมือเยี่ยมได้ใช้ความสามารถเฉพาะตัวนำเอาแนวคิดแบบไทยๆ ไม่ว่าจะเป็นภูมิปัญญาพื้นถิ่นของอีสาน วัฒนธรรม หรือประเพณีความเชื่อ มาตีความใหม่ และถ่ายทอดเรื่องราวอย่างสนุก ชวนให้ติดตาม ด้วยการผสมลูกเล่นของงาน Pop art ทั้งสีสันที่สนุกสดใส
องค์ประกอบที่เรียบง่ายสื่อความหมายแบบตรงไปตรงมา ความมีอารมณ์ขัน อีกทั้งยังมีการสอดแทรกจิตวิญญาณแบบงาน Abstract ที่มุ่งให้ผู้ชมใช้หัวใจและความรู้สึกสัมผัสกับผลงาน มากกว่าการตีความค้นหาความหมายเข้ามาร่วมผสมจนกลายเป็นงานจิตรกรรมไทยร่วมสมัยสุดยูนีคที่สะท้อนเอกลักษณ์ของศิลปิน และเข้าถึงผู้ชมทุกเพศทุกวัย
Ma – Der – La! คือ สำเนียงเสียงเรียกชื่อนิทรรศการที่ดูอินเต๊อ..อินเตอร์ แต่จริงๆ แล้ว มา-เด้อ-หล้า เป็นคำอีสานที่แปลว่า มาเถอะสาวน้อย ซึ่งผู้ใหญ่มักจะใช้เรียกเด็กด้วยความเอ็นดู ศิลปินมากฝีมือผู้เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ขัน จึงเลือกหยิบคำนี้มาเป็นชื่อนิทรรศการและยังมีความหมายแฝง…มา-เด้อ-หล้า ที่เป็นคำเชิญชวนให้ทุกคนมาชมศิลปะม่วนซื่นของเขาด้วยกันนะ
ผลงานจิตรกรรมไทยร่วมสมัยแสนสนุกชุดนี้เป็นการต่อยอด พัฒนาแนวคิด และรูปแบบต่างๆ อันสะท้อนทักษะที่เหนือชั้นและความเป็นตัวตนของศิลปินออกมาอย่างชัดเจน จุดเริ่มต้นของผลงานชุดนี้มาจากการที่ศิลปินได้ไปทำบุญตามวัดพื้นถิ่นต่างๆ ในจังหวัดเลยและพบกับเรื่องราวของพระเวสสันดรชาดก ทั้ง 13 กัณฑ์ ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ในการบำเพ็ญทานบารมี ก่อนจะทรงเกิดเป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งในชาตินี้เป็นเจ้าชายที่เต็มไปด้วยเมตตาซึ่งประทานทุกสิ่งทุกอย่างมี รวมทั้งลูก เพื่อแสดงคุณธรรมแห่งความเอื้ออาทรที่สมบูรณ์แบบ
อิทธิพลพบว่าชาดกเรื่องนี้ถูกบอกเล่าผ่านภาพวาดในรูปแบบที่ซ้ำๆ กัน เขาจึงเกิดแรงบันดาลใจที่จะนำพระบทมาเล่าใหม่ในรูปแบบของตนเอง โดยหลอมรวมเข้ากับแนวคิดเรื่องการอยู่รวมกันตามธรรมชาติของคน สัตว์ สิ่งของ ซึ่งเมื่อมาอยู่รวมกัน ณ สถานที่ใดที่หนึ่ง จะทำให้เกิดเรื่องราวต่างๆ เขาจึงเลือกถ่ายทอดบรรยากาศแสนสนุกของงานเลี้ยงเจ้าบ้าน ประเพณีพื้นถิ่นของจ.เลย ซึ่งชาวบ้านในชุมชนจะรวมตัวกันนำข้าวปลาอาหาร และเครื่องเซ่นไหว้มาถวายแด่เจ้าบ้าน สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คอยปกปักคุ้มครองหมู่บ้านเพื่อความเป็นสิริมงคล
ตลอดจนภาพสะท้อนวิถีชีวิตประจำวันอันแสนสุขของชาวบ้าน บรรดาแม่ออก หรือ คุณยาย คุณป้า ที่มักไปทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันที่วัด คติความเชื่อแบบโบราณต่างๆ อีกทั้งยังมีการใช้ตัวหนังสือภาษาอีสานเขียนลงในผลงานแบบภาพจิตรกรรมพื้นถิ่นด้วย ศิลปินได้นำเรื่องราวอันหลากหลายมานำเสนอผ่านวิธีการสร้างสรรค์ผลงานแบบด้นสด (improvise) ซึ่งศิลปินจะค่อยๆ ใส่รายละเอียดต่างๆ
Art ตามจินตนาการลงไปบนผืนผ้าใบอย่างสนุก พร้อมผสมผสานแนวคิด วิธีการ และรูปแบบของศิลปะป๊อป อาร์ตเข้าไป เช่น สีสันอันสดใส เส้นสาย รูปทรงที่เรียบง่าย ของเล่น ตัวการ์ตูน เรือน้ำ องค์ประกอบที่เหมือนจะดูไม่เกี่ยวข้องกัน แต่สามารถมาอยู่รวมกันได้ และมีกลิ่นอายของงานศิลปะนามธรรม(abstract) ที่นำเสนอความงดงามของเส้น สี รูปทรง เพื่อให้ผู้ชมใช้อารมณ์ความรู้สึก มากกว่ามุ่งตีความหรือหาความหมายจนสูญเสียอรรถรสในการชมงานเลยล่ะ