More

    เทศกาลไพรด์ 2022 “Pride Month LGBTQ Pride Parades” พร้อมเปิดประวัติที่มาของพลังธงสีรุ้ง

    เทศกาลไพรด์ 2022 “Pride Month LGBTQ Pride Parades” พร้อมเปิดประวัติที่มาของพลังธงสีรุ้ง

    เทศกาลไพรด์ 2022

    เทศกาลไพรด์ 2022 “Pride Month LGBTQ Pride Parades” พร้อมเปิดประวัติที่มาของพลังธงสีรุ้ง…ก้าวเข้าสู่เดือนมิถุนายน หรือ “Pride Month” เดือนแห่งความภาคภูมิใจของชาว LGBTQ กันอีกครั้ง ซึ่ง Pride Month คือ เทศกาลไพรด์ หรือ LGBTQ Parades หรือ ไพรด์ พาเหรด เป็นเทศกาลของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ โบกธงสีรุ้งสะบัด เฉลิมฉลองกันอย่างคึกคัก เป็นการขับเคลื่อนให้มีการยอมรับ เพื่อเป็นแรงผลักดันให้เกิดความเสมอภาคของชาว LQBTQ ทั่วโลกนั่นเอง

    ดอกไม้มีหลายสี โลกนี้จึงมีความงดงาม… ในเวลานี้โลกของเรา คำว่า ชาย และ หญิง ไม่ใช่คำนิยามเพศที่ครอบคลุมอีกต่อไป LGBTQ (Lesbian, Gay , Bisexual, Transgender/Transsexual และ Queer) จึงกำเนิดมาเพื่อเป็นตัวแทนเพศทางเลือก สำหรับชาว LGBTQ ซึ่งทุกปีในเดือนมิถุนายน เป็นเดือนที่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเรียกว่าPride Month หรือ เดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ จะมีการเฉลิมฉลองขึ้น มีการประดับธงสีรุ้ง ที่เป็นสัญลักษณ์ตามอาคารบ้านช่องต่าง ๆ และมีไฮไลท์ของงานก็คือ การเดินขบวนพาเหรดซึ่งเรียกว่า ไพรด์ พาเหรด (Pride Parades) เพื่อสนับสนุนสิทธิเสรีภาพของกลุ่ม LGBTQ และเพื่อระลึกถึงการจลาจลสโตนวอล ในเดือนมิถุนายน ปี 1969

    ทำไมต้องเดือนมิถุนายน ถึงต้องเป็น “Pride Month ?”

    เทศกาลไพรด์ 2022

    มิถุนายนของทุกปีเป็นเดือนแห่ง Pride Month เดือนมหัศจรรย์ที่ประกาศจุดยืนอันยิ่งใหญ่ให้กับความภาคภูมิใจในความหลากหลายทางเพศของพวกเค้าเลย จุดเริ่มต้น ในช่วงปี ค.ศ.1969 สังคมโลกยังไม่เปิดกว้างเท่าที่ควร ความรักร่วมเพศ การแต่งตัวต่าง ๆ ที่ไม่ตรงกับเพศสภาพถือเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจจากสังคม นับว่าเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย มีเพียงไม่กี่ที่ที่เปิดกว้างยอมรับคนรักร่วมเพศได้ หนึ่งในนั้นก็คือ สโตนวอลล์ อินน์ (Stonewall Inn) บาร์เกย์ในนิวยอร์ก และที่นี่ก็คือจุดเริ่มต้นของ ไพรด์ พาเหรด LGBTQ Pride นั่นเอง

    และต่อมาได้เกิดเหตุการณ์จลาจลสโตนวอลล์ ซึ่งเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน ปี 1969 ที่ สโตนวอลล์ อินน์ (Stonewall Inn) เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มาตรวจค้นบาร์ตามปกติ แต่ในครั้งนั้นต่างจากที่เคย เพราะผู้คนในบาร์ต่างก็ขัดขืน และไม่ยอมต่อการเลือกปฏิบัติของตำรวจจนเกิดเป็นการจลาจลขึ้น จนขยายเป็นวงกว้าง เหตุการณ์รุนแรงในครั้งนั้นจึงกลายมาเป็นแรงผลักดันให้เกิดการเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมในสังคมของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศทั่วโลก 1 ปีหลังจากนั้น ก็เกิดการเดินขบวนของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศครั้งแรกในนิวยอร์ก ลอสแอนเจลิส ซานฟรานซิสโก และชิคาโก และมีการเดินขบวนในอีกหลายแห่งทั่วโลกตามมา จนกลายเป็นการจัดงานเฉลิมฉลองที่เต็มไปด้วยสีสัน ความสนุกสนาน และความฉูดฉาดแบบในปัจจุบัน

    ทำไมต้องเป็น “ธงสีรุ้ง 6 สี ?” สู่การเป็นสัญลักษณ์แห่ง Pride Month

    Pride Month

    หลายคนคงจะเห็นสัญลักษณ์ของธงสีรุ้ง (Rainbow Flag) สัญลักษณ์ของ Pride Month เดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) หลากหลายสื่อ หลายคนก็เปลี่ยนเป็นโปรไฟล์ที่มีสัญลักษณ์ของธงสีรุ้งนี้ แต่มีใครรู้และทันสังเกตกันมั้ยคะ ว่าสัญลักษณ์ของธงนี้นั้นมีเพียงแค่ 6 สี ไม่ใช่รุ้ง 7 สีแบบที่เราคุ้นเคยกัน

    ซึ่งสิ่งที่เราคุ้นเคยกันนั่นคือ “รุ้งกินน้ำ” (Rainbow) ซึ่งมี 7 สี ม่วง, คราม, น้ำเงิน, เขียว, เหลือง, แสด (ส้ม), แดง แต่ในสัญลักษณ์ของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) คือ “ธงสีรุ้ง” (Rainbow Flag) เป็นธงที่มี 6 สี สีแดง, สีส้ม, สีเหลือง, สีเขียว, สีฟ้า สีคราม, สีม่วง ซึ่งความหมายของแต่ละสีที่อยู่บนธง คือ สีแดง : การต่อสู้ หรือ ชีวิต, สีส้ม : การเยียวยา, สีเหลือง : พระอาทิตย์, สีเขียว : ธรรมชาติ, สีฟ้า สีคราม : ศิลปะ ความผสานกลมกลืน, สีม่วง : จิตวิญญาณของ LGBTQ

    ในแต่ละปี หลายประเทศก็จะมีกำหนดการจัดงาน LGBTQ Pride จุดเด่นอยู่ที่การเดินขบวน ไพรด์ พาเหรด และมีผู้คนเข้าร่วมมากมาย ตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม ซึ่งจะมีหลายประเทศที่จัดงาน LGBTQ Pride ขึ้น อย่าง NYC Pride นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา, EuroPride 2019 & Pride Week เวียนนา ออสเตรีย,Madrid Gay Pride มาดริด สเปน เป็นต้น

    เทศกาลไพรด์ 2022

    และประเทศไทย ก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ได้จัดกิจกรรม LGBTQ Pride ขึ้น ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา กับกิจกรรม Bangkok Naruemit Pride 2022 ขบวนพาเหรดเพื่อผลักดันความเท่าเทียมทางเพศ ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในกรุงเทพมหานคร โดยจะเริ่มต้นเดินขบวนจากวัดแขกไปจนถึงถนนสีลม ถนนที่เต็มไปด้วยเรื่องราวของ LGBTQ+ ในประเทศไทย บรรยากาศในงานเต็มไปด้วยสีสันความสดใสและความสนุกสนาน มีผู้ร่วมงานมากหน้าหลายตา ซึ่งนอกจากประชาชนผู้สนับสนุนและคนในชุมชน LGBTQ+ เองแล้ว ยังมีผู้ร่วมงานอื่นอีก

    และจะขาดคนนี้ไปไม่ได้เลยกับ ผู้ว่าคนใหม่ไฟแรง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร “ชัชชาติ” เข้าร่วมกิจกรรมปักธงฉลอง “Bangkok Pride Month” เพื่อสนับสนุนแนวคิดเพื่อกลุ่ม LGBTQIA+ ย้ำดูแลทุกคนอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติ เป็นการแสดงออกถึงความเข้าใจ สนับสนุนความเท่าเทียม และยอมรับความหลากหลายทางเพศ ของหน่วยงาน กทม. สนับสนุนกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQI+

    นี่ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีเลยทีเดียว เพราะโลกนี้ไม่ได้มีแค่สีขาวกับดำ แต่มีเฉดสีที่หลากหลาย ความเข้าใจ ความเท่าเทียม พวกเราแค่เพียงเปิดใจรับรู้ เราสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่เติมเต็มความสุขให้กับโลกนี้ได้ ไม่ว่าจะเพศหรือสถานะอะไร ทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพในการใช้ชีวิตในแบบที่ตัวเองต้องการอย่างเท่าเทียม Inzpy ขอร่วมสนับสนุนความเท่าเทียมและเสรีภาพทางการแสดงออกของคนทุกคนค่ะ

    และในวันพรุ่งนี้ ประเทศไทยเราจะมีการพิจารณา พรบ.คู่ชีวิต เพื่อให้กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นธรรมเท่าเทียมไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการผลักดันให้เกิดความเท่าเทียมกันในสังคมไทย เชิญชวนทุกคนร่วมแก้กฎหมาย #สมรสเท่าเทียม ม.1448 และสนับสนุนพรบ.อัตลักษณ์ทางเพศให้ผ่านสภาพิจารณาอีกครั้ง ใน วันพุธที่ 8 มิถุนายน 2565 สามารถร่วมลงชื่อได้ที่ support1448.org มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงสังคมให้เกิดความเท่าเทียมด้วยกันนะคะ

    Related Post