More

    รู้จัก ‘ไอกรน’ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ คล้ายหวัด-ติดต่อง่าย-รุนแรงในเด็กเล็ก

    โรคไอกรน (Whooping cough) เป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งชื่อว่า Bordetella pertussis (B. pertussis) ทำให้มีการอักเสบของเยื่อบุทางเดินหายใจ และเกิดอาการไอที่มีลักษณะพิเศษคือ ไอซ้อน ๆ ติด ๆ กัน 5-10 ครั้ง หรือมากกว่านั้น และมีอาการหายใจเข้าลึก ๆ เป็นเสียง ‘วู้ป’ (Whooping cough) สลับกันไปกับการไอเป็นชุด ๆ จึงมีชื่อเรียกว่า “โรคไอกรน” บางครั้งอาการอาจจะเรื้อรังนานเป็นเวลา 2-3 เดือน

    สาเหตุ

    ไอกรน เป็นโรคที่ติดต่อกันได้ง่ายจากการไอหรือจาม รดกันโดยตรง ผู้สัมผัสโรคที่ไม่มีภูมิคุ้มกันจะติดเชื้อและเกิดโรคเกือบทุกราย โรคนี้เป็นได้ในทุกวัยแต่จะมีความรุนแรงในบางกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะเด็กซึ่งจะมีอาการจะรุนแรงมากและมีอัตราเสียชีวิตสูงในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปีที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน โดยโรคไอกรนเป็นได้กับทารกตั้งแต่เดือนแรก เนื่องจากภูมิคุ้มกันจากแม่ผ่านมายังลูกไม่ได้หรือได้น้อยมาก ส่วนใหญ่ติดเชื้อมาจากผู้ใหญ่ในครอบครัว ซึ่งมีการติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ (carrier) หรือมีอาการไม่มาก ส่วนในวัยผู้ใหญ่และเด็กโต มักมีอาการไม่รุนแรงหรือไม่มีอาการแบบไอกรน ส่วนใหญ่จึงไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคไอกรน

    อาการของโรคไอกรน

    เบื้องต้นจะมีอาการคล้ายหวัด แต่ลักษณะพิเศษของโรคไอกรนคือการไอถี่ๆ ไอติดๆ กัน หรือมีอาการไอติดต่อนานเกิน 2 สัปดาห์ มีน้ำมูก มีเสียงของลมหายใจดัง “วู้ป” อาจมีการอาเจียน ในขณะไอหรือหลังอาการไอ หรือรู้สึกเหนื่อยมากหลังอาการไอ โดยทั่วไประยะฟักตัวของโรคประมาณ 6-20 วัน ที่พบบ่อย 7-10 วัน ถ้าสัมผัสโรคมาเกิน 3 สัปดาห์แล้วไม่มีอาการ แสดงว่าไม่ติดโรค

    การรักษาโรคไอกรน

    โรคไอกรน รักษาได้โดยการให้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งยารักษาจะได้ผลดีเมื่อให้ผู้ป่วยในช่วง 2-3 วันแรกที่มีอาการ หากผู้ป่วยได้รับยาหลังจากนั้นการรักษาอาจไม่เป็นผลดีนัก ดังนั้นควรรีบพบแพทย์ให้เร็วที่สุดเมื่อมีอาการเริ่มต้น อย่างไรก็ตาม แม้ไอกรนจะสามารถติดต่อได้ง่าย แต่หากได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและได้รับยาปฏิชีวนะ 5 วันก็จะไม่แพร่เชื้อแล้ว กรมควบคุมโรคแนะนำให้ป้องกันการติดเชื้อด้วยการใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ รักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล

    การป้องกันโรคไอกรน

    คือการฉีดวัคซีน ซึ่งสำหรับทารกแรกเกิดโดยปกติแล้ววัคซีนไอกรนจะอยู่ในวัคซีนเข็มรวมป้องกันทั้งหมด 3 โรค ได้แก่ ไอกรน คอตีบ และบาดทะยัก ส่วนผู้ใหญ่ สามารถฉีดวัคซีนชนิดไอกรนตัวเดียว หรือฉีดพร้อมกันทั้งคอตีบ ไอกรน บาดทะยักก็ได้ หรือเด็กโตสามารถตรวจเช็คข้อมูลการรับวัคซีน หากเคยได้รับวัคซีนที่มีไอกรนอยู่แล้วเมื่อ 10 ปีก่อน สามารถฉีดเข็มกระตุ้นอีกครั้งทุก 10 ปี

    ขอขอบคุณข้อมูลจาก กรมควบคุมโรค

    บทความที่น่าสนใจ

    7 เหตุผล ทำไมไม่ควรแว็กซ์ขน

    “หินปูนเกาะหลอดเลือดหัวใจ” ตัวการร้ายทำเส้นเลือดหัวใจตีบ เสี่ยงหัวใจวายเฉียบพลัน

    ชวนชาวออฟฟิศขยับนิด-ยืดหน่อย แก้ “ออฟฟิศซินโดรม”

    Related Post