More

    อย่าทำแบบนี้! ลดความอ้วนผิด ๆ เสี่ยงเป็นโรคจิตเวช

    อย่ากดดันตัวเองมากเกินไปหากคุณคิดอยากจะ “ลดความอ้วน” จริงอยู่ว่าอาจจะเป็นเรื่องที่ทำให้คุณเสียความมั่นใจไปบ้าง หรือบางทีอาจเกิดจากการฟังเสียงคนรอบข้างจนทำให้เสียกำลังใจมากเกินไป แอดอยากบอกทุกคนว่า ไม่ต้องไปสนใจ เพราะหลายพฤติกรรมที่จะบอกต่อไปนี้ หากคุณยังทำต่อไปเพื่อลดน้ำหนัก อาจไม่ใช่วิธีทีถูกต้อง และอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคจิตเวชขึ้นได้ด้วย

    “ลดความอ้วน” ต้องอดอาหาร

    หลายคนยอมหิวอดอาหารอย่างจริงจัง เพื่อลดความอ้วน ซึ่งวิธีนี้จะส่งผลเสียทั้งต่อสุขภาพกาย เพราะร่างกายต้องใช้พลังงานจากอาหาร และยังส่งผลต่อสุขภาพจิตในยามหิว ซึ่งเมื่อสมองขาดสารอาหาร ไม่ได้รับพลังงานที่เพียงพอ ก็ทำให้ไม่มีสมาธิ และหงุดหงิดง่าย รวมทั้งเกิดความหมกมุ่นเกี่ยวกับอาหารนำมาซึ่งความเสี่ยงต่อการเกิดโรคทางจิตเวช เช่น มีอารมณ์เศร้า วิตกกังวล มีความย้ำคิดย้ำทำ จนไปถึงโรคความผิดปกติทางการกิน เช่น Anorexia nervosa นอกจากนี้ ความหิวโหยจากการขาดอาหาร อาจนำไปสู่การกินอาหารปริมาณมากแบบควบคุมไม่ได้ก็ได้

    นับแคลอรี่และชั่งน้ำหนักถี่ ๆ

    แม้หลักการหนึ่งของการลดน้ำหนัก คือ การควบคุมปริมาณแคลอรี่จากการรับประทานอาหาร แต่การหมกมุ่นกับตัวเลขแคลอรี่ และตัวเลขบนตาชั่งจนมากเกินไปนั้น ย่อมไม่ส่งผลดี เพราะจะทำให้เกิดความกังวลกับอาหารในแต่ละมื้อเกินไปจนไม่มีความสุข นอกจากนี้ น้ำหนักของคนเราในแต่ละวัน หรือ แม้แต่ ในแต่ละช่วงเวลาของวัน ก็มีการขึ้น ๆ ลง ๆ ได้อยู่แล้ว การชั่งน้ำหนักบ่อยเกินไป จึงไม่มีประโยชน์ และก่อให้เกิดความหมกมุ่น ลองเปลี่ยนไปโฟกัสที่สารอาหารดีกว่า โดยลดการกินแป้งและน้ำตาลลง เพิ่มการกินโปรตีนมากขึ้น และจำกัดการกินไขมันให้พอดี แบบนี้จะทำให้ควบคุมน้ำหนักได้อย่างต่อเนื่อง ยั่งยืน และลดความเสี่ยงต่อโรคความผิดปกติทางการกิน

    ลดความอ้วน – ออกกำลังกายหนักหักโหม

    การออกกำลังกายเป็นเรื่องดี แต่เหรียญสองมีด้านเสมอ ใครที่คิดว่าการหักโหมออกกำลังกายทำให้เบิร์นไขมันได้เร็ว และทำควบคู่ไปกับการอดอาหารบอกเลยว่า ไม่ใช่เรื่องถูกต้อง เพราะความจริงจะยิ่งทำให้ร่างกายหวงไขมันมากขึ้น เพื่อสำรองไว้ใช้ในช่วงอดอยาก ถือเป็นหนึ่งพฤติกรรมที่ทำร้ายระบบเผาผลาญในร่างกาย สุดท้ายจะเกิดโยโย่เอฟเฟคเมื่อหยุดลดน้ำหนัก

    กินยาลดน้ำหนักหรือยาระบาย

    เลิกมองหาตัวช่วยเหล่านี้ เพราะนอกจากลดน้ำหนักไม่ได้นาน และหยุดกินเมื่อไหร่ก็จะเด้งกลับขึ้นมาแล้ว ยังสร้างผลกระทบต่อร่างกายอีกด้วย เช่น เหงื่อออกผิดปกติ หัวใจเต้นเร็ว เป็นต้น ส่วนยาระบายไม่ได้มีไว้เพื่อลดความอ้วน หากกินแล้วมีการขับถ่ายเยอะเกินไป ก็อาจมีความเสี่ยงต่อการทำให้เกลือแร่ในร่างกายผิดปกติ
    ล้วงคอให้อาเจียนเสี่ยงถึงหัวใจ

    กินแล้วล้วงคอให้อาเจียนเป็นเรื่องผิดปกติที่ไม่ควรทำ เพราะหลอดอาหารไม่ได้ถูกออกแบบไว้เพื่อให้เป็นทางออกของอาหาร ดังนั้น ระหว่างการอาเจียน กรดในกระเพาะจะสามารถทำให้ทางเดินอาหารบาดเจ็บ ถึงขึ้นอาจมีเลือดออก และทุกครั้งที่ทำให้เกิดการอาเจียนเราจะสูญเสียเกลือแร่บางอย่างที่มีผลต่อการทำงานของหัวใจ ถ้าหากเกลือแร่เสียสมดุลอาจทำให้หัวใจทำงานผิดปกติและถึงแก่ชีวิตได้

    ดังนั้น การควบคุมน้ำหนักให้มีประสิทธิภาพคือ ควรกินแบบปกติครบ 3 มื้อ กินให้สมดุลครบตามโภชนาการ มีทั้งคาร์โบไฮเดรต เนื้อสัตว์ และผัก ไม่ต้องตัดไขมัน 100% เพราะวิตามินบางอย่างจำเป็นต้องใช้ไขมันในการดูดซึม และไม่ควรลดน้ำหนักเกิน 1 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ เนื่องจากการลดน้ำหนักไวเกินไป อาจทำให้สมองได้รับพลังงานไม่เพียงพอ ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต

    สิ่งสำคัญที่ควรตระหนักไว้ คือ คุณค่าของคนแต่ละคน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพียงแค่น้ำหนักตัว หน้าตา หรือไซส์เสื้อผ้า คนที่ด่วนตัดสินเราจากภายนอกนั้น ไม่ควรค่าแก่การที่เราจะไปใส่ใจ จุดประสงค์ของการประเมินน้ำหนักนั้น แท้จริงแล้วเป็นเรื่องทางสุขภาพ และ ไม่ว่าจะน้ำหนักตัวมากเกินไป หรือ น้อยเกินไป  ล้วนส่งผลเสียต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิต ทั้งสิ้น

    บทความที่เกี่ยวข้อง
    ฉันเกลียดวันจันทร์! คนวัยทำงานเข้าข่าย ป่วยโรคจิตเภทมากกว่าวัยอื่น
    ติดหวานเกินไป ลดยังไง? ไม่ให้ซึม (เศร้า)

    Related Post