More

    ผู้สร้างงานศิลปะ เสียสละเพื่อสังคม อาจารย์ ชลิต นาคพะวัน

    เรื่องราวอันน่าประทับใจเกี่ยวกับงานศิลปะที่ก้าวไกลสู่ต่างประเทศ ในเชิงการสร้างงานศิลปะเพื่อสังคม ของ อาจารย์ ชลิต นาคพะวัน ที่ทำให้หลาย ๆ คนต้องหลงใหล

    ชีวิตที่ไม่เคยหยุดนิ่งของ อาจารย์ชลิต นาคพะวัน ที่ชื่นชอบงานศิลปะตั้งแต่สมัยเด็ก ๆ ศึกษาต่อที่ กรมศิลปากร และได้มีโอกาสก้าวเข้าสู่วงการนักแสดง จากภาพยนตร์ที่เคยโด่งดังมาก ๆ เรื่อง “กลิ่นสีและทีแปรง” จนหลายคนรู้จักกันในชื่อ “ชลิต กลิ่นสี” 

    จากคนขี้อาย ที่ตัดสินใจข้ามขีดความกลัว กลายเป็นนักแสดงมืออาชีพอยู่นานหลายปี เมื่อได้รับเลือกก็พร้อมที่จะทำให้ดีที่สุด วันหนึ่งต้องออกไปถ่ายงานมากถึง 3 จังหวัด ได้พบเจอประสบการณ์มากมาย จนเริ่มเขียนหนังสือให้กับนิตยสารชื่อดังหลายเล่ม เป็นช่วงเวลาที่ทำให้รู้สึกตื่นเต้นอยู่ทุกวินาที

    แต่หลังจากที่ทำงานจนรู้สึกว่าไม่มีเวลามากพอที่จะสานต่อเป้าหมายที่แท้จริงในเรื่องของงานศิลปะ ก็เริ่มรับงานน้อยลง แล้วหันมาเดินหน้าทำตามเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ นั่นก็คือ งานศิลปะ และหลังจากนั้นก็เริ่มเข้าสู่เส้นทางสาย Artist เน้นรับงานออกแบบเพื่อสังคมเป็นส่วนใหญ่ และเปิดโรงเรียนสอนวาดภาพที่บ้านชื่อว่า Charit Art Project And Gallery เป็นความสุขเล็ก ๆ ที่นอกจากได้ทำตามความฝันแล้ว ยังได้ช่วยเหลือสังคมไปในตัว

    อาจารย์บอกว่าการวาดภาพเป็น Therapy อย่างหนึ่ง มีนักเรียนระดับตั้งแต่เด็กประถม ไปจนถึงผู้สูงวัย ที่มาเรียนด้วย บางคนหายจากอาการซึมเศร้าเพราะใช้ ศิลปะบำบัด จึงทำให้มีนักเรียนที่สนใจมาเรียนกับอาจารย์มากมายทั่วทุกมุมโลก ทั้งคนไทย และชาวต่างชาติ

    ถึงแม้ชีวิตจะดูเรียบง่าย แต่ก็ได้รับงานที่ต้องบอกเลยว่าไม่ธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นการได้รับเชิญให้ไปสอนศิลปะที่สถานทูตฝรั่งเศส งานเพื่อสังคมใหญ่ ๆ อีกหลายงาน และผลงานล่าสุดที่น่าประทับใจมาก ๆ คือ การไปวาดภาพฝาผนังวัดไทยในประเทศฮอลแลนด์ 

    ดีไซน์จิตรกรรมฝาผนังวัดไทยในกรุงอัมสเตอร์ดัมชื่อ วัดพุทธวิหาร และยังเป็นสะพานบุญช่วยหาทุนมาสร้างโบสถ์ โดยการขอรูปจากศิลปินดัง ๆ ไปประมูล จนได้ทุนสร้างโบสถ์เสร็จเรียบร้อย  เป็นอีกหนึ่งผลงานชิ้นโบว์ทองของอาจารย์เลยก็ว่าได้

    อาจารย์ชลิตยังได้บอกอีกว่าการจะสร้างวัดในต่างประเทศนั้น เป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะขั้นตอนการสร้างจะต้องมีทั้งเรื่องการขอสถานที่ และยังต้องมีค่าบำรุงต่าง ๆ อีกมากมาย กว่าจะสร้างได้ ต้องมีการบริหารจัดการจากหน่วยงานหลายฝ่าย

    และด้วยความที่อาจารย์เองเป็นคนที่ชอบทำบุญอยู่แล้ว จึงได้ร่วมงานกับตระกูล “พรประภา” วาดภาพประมูลเพื่อสร้างสำนักสงฆ์นานาชาติที่เชียงราย ท่านให้มาระดมทุนสร้างสำนักสงฆ์เพื่ออยากจะให้ชาวต่างชาติมาฝึกปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิ และมาบวชกันเยอะ ๆ

    อาจารย์ยังเป็นคนที่ชื่นชอบการอ่านหนังสือมาก ๆ คอยอ่านหนังสือเพื่อเรียนรู้อยู่เสมอ อาจารย์บอกว่า “การที่ได้อ่านหนังสือจะทำให้เราเป็นคนที่มีหลายลิ้นชักสามารถหยิบจับความรู้ที่มีออกมาใช้ได้หลายอย่าง เปรียบเสมือนมีอาวุธพร้อมรบครบมือ ที่จะนำพาให้เราฝ่าฟันอุปสรรคเพื่อก้าวไปข้างหน้าได้”

    งานที่อาจารย์ได้รับเชิญแต่ละงานล้วนแล้วแต่เป็นงานใหญ่ ๆ งานที่ได้รับมานั้นมากมายมหาศาล แต่ก็ไม่เคยรู้สึกเหน็ดเหนื่อยเลยแม้แต่น้อย ยิ่งได้ทำยิ่งมีความสุข ถ้าเรามัวแต่กลัวเราก็จะไม่มีทางรู้เลยว่าเราจะทำมันได้หรือเปล่า

    บางงานอาจารย์ชลิตเองก็ทำเพื่อสังคมด้วยใจจริง โดยไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ และยังมีอีกหนึ่งเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าอยากทำคือ สร้างผลงานศิลปะเพื่อเป็นจุดเช็กอิน และเป็นแหล่งท่องเที่ยวในทุกจังหวัดของประเทศไทย จึงได้คิดโปรเจค “Party Lit” ขึ้น 

    โปรเจคนี้ได้เริ่มทำไปบ้างแล้วที่ จังหวัดนครปฐม สมุทรปราการ สวนสราญรมย์ เป็นต้น เพื่ออยากให้แต่ละจังหวัดมีพื้นที่สำหรับการสร้างความสนุกสนาน เป็นจุดศูนย์รวมเหมือนได้มาปาร์ตี้กันกับเพื่อน ๆ นอกจากนี้แล้วยังมีผลงานอีกมากมายที่น่าติดตาม

    ได้ฟังเรื่องราวของอาจารย์ชลิตแล้ว ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก ๆ โดยเฉพาะกับเด็กสมัยใหม่ที่หันมาเรียนรู้งานด้านศิลปะกันมากขึ้น พวกเราเองก็อย่าปล่อยให้ความกลัวเป็นตัวขัดขวางเส้นทางชีวิตที่จะทำให้เราก้าวไปข้างหน้า

    จงเผชิญหน้ากับมัน และต้องมีอาวุธครบมือเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ ใช้ความรู้ที่มี และหมั่นศึกษาหาความรู้อยู่เสมอ แล้วนำออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ชีวิตเราจะได้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

    อยากเรียนรู้งานด้านศิลปะ กับ อาจารย์ชลิต นาคพะวัน
    Charitart Art Project And Gallery
    Google Map: https://goo.gl/maps/8Ax5qXqg5RXz9KSTA
    เบอร์ติดต่อ: 0814985703

    _____

    ติดตาม Inzpy ได้ที่
    Website:
    https://inzpy.com/travel/
    Instagram
    https://www.instagram.com/inzpy2day/
    Youtube:
    https://www.youtube.com/c/Inzpy
    Facebook:
    https://www.facebook.com/inzpyth

    Related Post