เข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการดรียบร้อย สังเกตได้จากแสงแดดที่แผดเผาก็รู้ได้ทันทีว่าหน้าร้อนประเทศไทยในปีนี้ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ ใครที่คิดว่าเป็นเรื่องปกติอยู่แล้วเพราะประเทศเราร้อนตลอดปี อยากให้คิดใหม่เพราะในทุก ๆ ปี คนไทยโดน “โรคลมแดด” หรือ Heat Stroke เล่นงานแบบไม่ทันได้ตั้งตัว และรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตคิดเฉลี่ยต่อปีมีผู้เสียชีวิตจากโรคลมแดดอยู่ที่ 33 คน และนั่นก็คือสัญญาณเตือนที่เราไม่อาจคาดการณ์ได้ แต่เราสามารถป้องกันมันได้ค่ะ
จากการคาดหมายลักษณะอากาศช่วงฤดูร้อนของประเทศไทย พ.ศ. 2567 จากกรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่าฤดูร้อนของประเทศไทยปีนี้ เริ่มต้นในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 และจะสิ้นสุดช่วงกลางเดือนพฤษภาคม โดยลักษณะอากาศจะร้อนอบอ้าวโดยทั่วไป และมีอากาศร้อนจัดในหลายพื้นที่
อุณหภูมิสูงที่สุดอยู่ที่ 43.0 – 44.5 องศาเซลเซียส สำหรับอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยบริเวณประเทศไทยตอนบน 36.0-37.0 องศา เซลเซียส ซึ่งจะสูงกว่าค่าปกติ 1.0-1.5 องศาเซลเซียส (ค่าปกติ 35.4 องศาเซลเซียส) และจะสูงกว่าปีที่ผ่านมา (ช่วงฤดูร้อนปี พ.ศ. 2566 อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 35.8 องศาเซลเซียส) วันนี้ Inzpy เลยจะมาแชร์ข้อมูลดูแลตัวเองยังไงในหน้าร้อนนี้ให้เพื่อน ๆ ไม่เสี่ยงเป็นโรคลมแดดกันค่ะ
Heat Stroke (ฮีทสโตรก) หรือ โรคลมแดด คือ
ภาวะวิกฤตที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมระดับความร้อนภายในร่างกายได้ ทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้เกิดอาการปวดศีรษะ หน้ามืด เพ้อ ชัก ไม่รู้สึกตัว หายใจเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ช็อก หากปล่อยทิ้งไว้ให้มีอาการหรือไม่สามารถระบายความร้อนออกได้มากกว่า 2 ชั่วโมง อาจส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อหัวใจ สมอง ไต และกล้ามเนื้อ ซึ่งหากได้รับการรักษาที่ล่าช้า ก็มีอันตรายถึงชีวิตได้!
อาการ และ สัญญาณเตือน
- ความดันลดลง
- กระหายน้ำมาก
- หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น
- ร่างกายตอบสนองช้า
- วิงเวียน ปวดศีรษะ หน้ามืด
- ตัวร้อน ผิวแดง แต่ไม่มีเหงื่อออก
ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็น โรคลมแดด
- ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ
- ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินหรืออ้วน
- เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และผู้สูงอายุ เนื่องจากร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ดีเท่าคนหนุ่มสาว
- ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง หรือโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เบาหวาน
- ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดดเป็นเวลานาน เช่น ออกกำลังกาย นักกีฬากอล์ฟ เกษตรกร ผู้ที่ทำกิจกรรมกลางแจ้ง
- ผู้ที่ทำงานออฟฟิศ ที่ทำงานในห้องแอร์เป็นเวลานานแล้วออกมาเจอกับอากาศร้อนจัด จนร่างกายปรับตัวไม่ทัน
- ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร่างกายจะสูญเสียน้ำและเกลือแร่มากกว่าคนที่ไม่ได้ดื่ม และในสภาพอากาศที่ร้อนจัด เนื่องจาก แอลกอฮอล์ออกฤทธิ์กระตุ้นหัวใจให้สูบฉีดเลือดเร็วและแรงขึ้น ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น จนอาจทำให้ช็อกและเสียชีวิตได้
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ก่อนนำส่งโรงพยาบาล
- รีบนำคนป่วยเข้าไปอยู่ในที่ร่ม อากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่โดนแสงแดด เพื่อลดอุณหภูมิในร่างกายลง
- ให้คนป่วยนอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงสมองมากขึ้น
- คลายเสื้อผ้าให้หลวม เพื่อระบายความร้อนได้ไวขึ้น
- ใช้ผ้าชุบน้ำเย็น หรือน้ำแข็งประคบตามซอกคอ ตัว รักแร้ ขาหนีบ หน้าผาก ใช้พัดลมช่วยเป่าระบายความร้อน เพื่อลดอุณหภูมิของร่างกายให้ต่ำลงอย่างรวดเร็วที่สุด
- หากไม่หมดสติให้ดื่มน้ำเปล่ามาก ๆ และรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด
วิธีป้องกันจากโรคลมแดด
- หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรืออยู่ในที่ที่มีอากาศร้อนจัด
- สวมใส่เสื้อผ้าที่มีสีอ่อน โปร่ง ไม่หนา น้ำหนักเบา ระบายความร้อนได้ดีและป้องกันแสงแดดได้
- จิบน้ำบ่อยๆ อย่างน้อย 6-8 แก้วต่อวัน ถึงแม้ไม่กระหายน้ำก็ตาม เพื่อเติมความชุ่มชื้นและลดอุณหภูมิร่างกาย
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชา รวมถึงกาแฟ และเครื่องดื่มน้ำตาลสูง
- อย่าทิ้งเด็ก ผู้สูงอายุ หรือสัตว์เลี้ยงไว้ในรถที่จอดอยู่กลางแจ้ง ความร้อนภายในรถจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคสูงมาก
- เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว ไม่ควรอยู่ในที่อากาศร้อนและไม่ควรอยู่ตามลำพัง
- สำหรับผู้ที่ออกกำลังกาย แนะนำออกกำลังกายในที่ที่อากาศถ่ายเท ควรเลือกในช่วงเช้าหรือช่วงเย็น เนื่องจากเป็นช่วงที่อากาศไม่ร้อนมาก และควรมีการอบอุ่นร่างกายก่อนทุกครั้ง
- สวมแว่นกันแดด สวมหมวกปีกกว้าง
- ผู้ที่มีโรคประจำตัวหากมีอาการผิดปกติ หรืออาการที่บ่งบอกตามข้างต้น ขอให้รีบพบแพทย์โดยทันที
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : Phyathai / climate.tmd
บทความที่เกี่ยวข้อง