ตลอดระยะเวลากว่า 3 ปีที่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงนำประสบการณ์จากการทรงงาน และทรงศึกษาผ้าทอพื้นเมือง รวมถึงผลิตภัณฑ์งานหัตถกรรมพื้นบ้านในแต่ละภาค ทรงนำแนวคิดมาพัฒนาสร้างสรรค์ต่อยอดภูมิปัญญาผ้าไทยให้ทันสมัย พระราชทานลายผ้าพระราชทาน พระราชทานแนวคิดเรื่อง Sustainable Fashion ซึ่งเป็นมาตรฐานหลักของอุตสาหกรรมแฟชั่นและแนวทางการออกแบบที่นำสมัยให้เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ
แต่ยังคงไว้ซึ่งลวดลายของผืนผ้าที่สื่อถึงความเป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่นในแต่ละภาคนั้น ๆ นำไปสู่โครงการพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ที่ทรงส่งเสริมและพัฒนาภูมิปัญญาผ้าไทย สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการผ้าไทยสู่ความยั่งยืน เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 36 พรรษา และเพื่อสร้างการรับรู้ถึงผลสำเร็จของโครงการฯ
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับ สมาคมแม่บ้านมหาดไทย กำหนดจัดงาน Silk Festival 2023 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้แนวคิด Silk Success Sustainability ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน ถึง 3 ธันวาคม 2566 เวลา 10.00 – 20.00 น. ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น ฮอลล์ 6-7 เมืองทองธานี
โอกาสนี้ได้รับพระกรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จพระราชทาน เครื่องหมายรับรองสินค้าแฟชั่นและหัตถกรรมพระราชทาน “Sustainable Fashion แฟชั่นแห่งความยั่งยืน” แก่ช่างทอผ้า ช่างหัตถกรรม ผู้ผลิต และผู้ประกอบการที่สร้างสรรค์ผืนผ้าและหัตถกรรมด้วยขั้นตอนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
จากนั้นพระราชทานเหรียญรางวัลแก่คณะทำงานที่สนองพระเดชพระคุณ ผ่านโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก”, ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดที่เป็นต้นแบบในการขับเคลื่อนโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก”, ผู้ชนะการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” และงานหัตถกรรมระดับประเทศ,
พระราชทานโล่รางวัลต้นกล้านารีรัตนแก่ Young OTOP, พระราชทานโล่รางวัล TOP 5 ผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์ยอดเยี่ยม ตามโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Premium สู่สากล ประเภทผ้า เครื่องแต่งกาย ของใช้ของตกแต่ง และของที่ระลึก,
พระราชทานเหรียญรางวัลพร้อมโล่รางวัล แก่นักออกแบบตัดเย็บ “ชุดผ้าไทยใส่ให้สนุก” และทอดพระเนตรนิทรรศการ Silk Festival 2023 Silk Success Sustainability ประกอบด้วย นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ 36 พรรษา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา
นิทรรศการจากโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ได้แก่ ดอนกอยโมเดล, นาหว้าโมเดล, บาติกโมเดล, Young OTOP, จักสาน, Premium OTOP ตลอดจนนิทรรศการเปิดตัวหนังสือ 4 เล่ม ได้แก่ หนังสือสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา, หนังสือเครื่องสานไทย, หนังสือบาติกโมเดล สู่ตลาดสากล, หนังสือลายดอกรักราชกัญญา
จากนั้นทอดพระเนตรการจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP Luxury โซน OTOP ชวนชิมจากทั่วทุกภูมิภาค โซนร้านค้าของศิลปินโอทอปที่มีชื่อเสียง และทอดพระเนตรแฟชั่นโชว์ชุดผ้าไทย จาก 15 แบรนด์ไทยดีไซเนอร์ แบ่งเป็น 13 แบรนด์ไทยดีไซเนอร์ชื่อดัง
ได้แก่ SIRIVANNAVARI, ARCHIVE026, ASAVA, JANESUDA, IRADA, ISSUE, LANDMEE, MILIN, PYVET, TandT, THEATRE, TIRAPAN, WISHARAWISH
และ 2 Young Designers ได้แก่ แบรนด์ HAYA ผู้ชนะเลิศ และ AMEEN Studio รองชนะเลิศการประกวดตัดเย็บชุดผ้าไทยใส่ให้สนุก โครงการดีไซเนอร์รุ่นใหม่ของกรมการพัฒนาชุมชน โดยนำผ้าไทยซึ่งมีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัวของแต่ละชุมชน อาทิ ผ้าไหมแพรวา ผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าไหมยกดอก ผ้าปักชาวเขา ผ้าไหมหางกระรอก ผ้าบาติก ผ้าฝ้ายย้อมคราม ผ้าขาวม้า ผ้าหางกระรอก ฯลฯ มารังสรรค์ผลงานสุดประณีต สะท้อนแนวคิดผ้าไทยใส่ให้สนุก แสดงถึงศักยภาพของการพัฒนาลายผ้าทอให้เข้ากับยุคสมัย
สำหรับ เครื่องหมายรับรองสินค้าแฟชั่นและหัตถกรรมพระราชทาน “Sustainable Fashion: แฟชั่นแห่งความยั่งยืน” เป็นภาพตัวอักษร S หมายถึง เจ้าฟ้าหญิงสิริวัณณวรีฯ พระผู้ทรงเป็นดั่งแสงสว่างบนเส้นทางแห่งการฟื้นคืนภูมิปัญญาผ้าและหัตถศิลป์ไทย และยังหมายถึงแนวพระราชดำริแห่งความยั่งยืนในทุกมิติที่สร้างชีวิตที่ดีให้แก่ราษฎร
ทรงออกแบบให้มีตัวอักษรข้อความ Sustainable Fashion ล้อไปกับตัวอักษร S หมายถึง แนวพระราชดำริ “แฟชั่นแห่งความยั่งยืน” ที่ทุกกระบวนการสร้างสรรค์ผืนผ้าและงานหัตถกรรมล้วนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและโลกใบเดียวของเรา และทรงออกแบบรูปหัวใจประดับไว้ที่ส่วนต้น กลาง และปลาย ของข้อความ Sustainable Fashion ด้วยทรงปรารถนาให้ผู้สร้างสรรค์ผืนผ้าและงานหัตถกรรมนำแนวพระดำรินี้ ไปต่อยอดตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ
ในการนี้ทรงพระราชทานเครื่องหมายรับรองสินค้าแฟชั่นและหัตถกรรมพระราชทาน “แฟชั่นแห่งความยั่งยืน” แก่ช่างทอผ้า ช่างหัตถกรรม ผู้ผลิต และผู้ประกอบการที่สร้างสรรค์ผืนผ้าและหัตถกรรมด้วยขั้นตอนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่หมู่บ้านยั่งยืน โดยมีแนวทางคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ขยายผลไปสู่การคิดคาร์บอนเครดิตที่กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชนกำลังขับเคลื่อนอยู่ในขณะนี้ ซึ่งจะสามารถรับรองการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเป็นแนวทางของแฟชั่นแห่งความยั่งยืน มีเครื่องนุ่งห่มที่ย้อมสีธรรมชาติ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ปราศจากสารเคมี
สำหรับใครที่สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการและเลือกซื้อผ้าไทย ผ้าพื้นเมือง ผลิตภัณฑ์หัตถศิลป์ชั้นสูง และอาหารจากร้านดังทั่วประเทศได้ในงาน Silk Festival 2023 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ระหว่างวันนี้ ถึง 3 ธันวาคม 2566 เวลา 10.00 – 20.00 น. ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น ฮอลล์ 6-7 เมืองทองธานี สอบถามเพิ่มเติมโทร. 081-877-6969
ติดตาม Inzpy ได้ที่
Website: https://inzpy.com/
Youtube: https://www.youtube.com/c/Inzpy
Facebook: https://www.facebook.com/inzpyth