ปี 2024 เป็นปีที่มีเหตุการณ์แปลกๆ แบบคาดไม่ถึงอยู่มากมาย แต่สิ่งที่ได้รับการยกย่องให้เป็นปรากฏการณ์แห่งปีมีไม่มากนัก เพราะหลายเหตุการณ์มาแล้วก็ผ่านไปอย่างรวดเร็ว แต่หลายเหตุการณ์ได้รับการพูดต่อและแชร์กระหน่ำ ระดับที่ถ้านับยอดแชร์ น่าจะมากกว่านักแสดงชื่อดังหลายๆ คนด้วยซ้ำ สำหรับ 3 ปรากฏการณ์แห่งปี 2024 talk of the town ที่ #INZPY เลือกมาอยู่ใน #INZPY2024YearInReview ได้แก่
1. หมูเด้ง
ถึงเวลานี้ ใครยังไม่รู้จักหมูเด้ง คงต้องเรียกว่าเป็นพวกเชญตกขอบโลกแน่ๆ เพราะระดับซุปตาร์ระดับโลกยังต้องพูดถึงและหยิบไปทำมีมอยู่บ่อยๆ “หมูเด้ง” เป็นฮิปโปแคระตัวน้อยจากสวนสัตว์เปิดเขาเขียว จังหวัดชลบุรี กลายเป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวางทั้งในประเทศไทยและระดับโลกในปีนี้ ถึงขนาดได้รับรางวัล “คนมีสไตล์” จากนิตยสารชื่อดังระดับโลกอย่าง New York Times นอกจากนี้ยังได้รับการยอมรับอย่างล้นหลามจากผู้คนทั่วโลกผ่านโซเชียลมีเดีย จนทำให้ความนิยมของหมูเด้งขยายไปสู่ระดับสากล
ด้วยรูปลักษณ์ที่น่ารักและพฤติกรรมขี้เล่น ทำให้ “หมูเด้ง” กลายเป็นที่รักของทั้งผู้คนในประเทศและต่างประเทศ จากพฤติกรรมขี้วีน ขี้รำคาญ และการงับขาพี่เลี้ยงที่สร้างความเอ็นดูให้กับผู้ชมมากมาย ความน่ารักของหมูเด้งได้รับการพูดถึงอย่างมากในโซเชียลมีเดีย โดยผู้คนได้แชร์คลิปและภาพของหมูเด้งอย่างแพร่หลายมีอัตราการสร้างเอนเกจเมนต์กว่า 86 ล้านเอนเกจเมนต์ในเดือนกันยายน เกิดมาแค่ 2 เดือนก็กลายเป็นซุปตาร์ นอกจากนี้ สื่อต่างประเทศเช่น BBC และ National Geographic ยังให้ความสนใจรายงานเกี่ยวกับมัน ทำให้ชื่อเสียงของหมูเด้งขยายไปยังผู้ชมทั่วโลก
นอกจากชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกแล้ว “หมูเด้ง” ยังกระตุ้นให้ มีจำนวนผู้เข้าชมสวนสัตว์เปิดเขาเขียวเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่มีผู้มาเยือนถึง 20,000 คน การเพิ่มขึ้นของผู้เข้าชมสวนสัตว์ไม่เพียงแต่เป็นการยืนยันถึงความนิยมของหมูเด้ง แต่ยังช่วยสนับสนุนการส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ใกล้สูญพันธุ์อย่างฮิปโปแคระอีกด้วย
ความนิยมของหมูเด้งไม่เพียงแต่ทำให้ผู้คนสนุกสนานกับความน่ารักของมันเท่านั้น แต่ยังช่วยส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น พร้อมทั้งเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนในกิจกรรมต่าง ๆ ของสวนสัตว์ สร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์สัตว์ธรรมชาติในยุคปัจจุบัน
View this post on Instagram
2. วันที่ 4 มีนาคม 2567 วันกะเทยไทยผ่านศึก
ปรากฏการณ์กะเทยไทยนับพันมารวมตัวกันที่สุขุมวิท 11 โดยไม่ได้นัดหมาย ในวันที่ 4 มีนาคม 2567 กลายเป็นสิ่งที่ประวัติศาสตร์ไทยต้องจารึก เพราะเกิดเหตุการณ์ที่ไม่เพียงแต่กลายเป็นกระแสในวงการสังคมไทย แต่ยังได้รับการพูดถึงไปทั่วโลก เมื่อสาวประเภทสองชาวไทยรวมตัวกันในย่านสุขุมวิท 11 เพื่อล้างแค้นและปกป้องศักดิ์ศรีของตัวเอง หลังจากเกิดเหตุทะเลาะวิวาทกับกลุ่มสาวประเภทสองชาวฟิลิปปินส์ที่มีเรื่องเขม่นกันมาก่อน
โดยเหตุการณ์เริ่มต้นในเวลา 05.00 น. ของวันที่ 4 มีนาคม 2567 ขณะที่กลุ่มสาวประเภทสองชาวไทยกำลังนั่งรับประทานอาหารที่ร้านริมถนนสุขุมวิทใกล้สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสนานา จู่ๆ พวกเขาก็พบกับกลุ่มสาวประเภทสองชาวฟิลิปปินส์ที่เคยมีเรื่องทะเลาะกันมาก่อน จนเกิดการปากเสียงและบานปลายเป็นการลงไม้ลงมือกันนอกร้านอาหาร โดยฝ่ายสาวประเภทสองฟิลิปปินส์ที่มีอยู่ประมาณ 20 คน รุมทำร้ายกลุ่มสาวประเภทสองไทยที่มีเพียง 4 คน ทำให้ฝ่ายไทยได้รับบาดเจ็บ
หลังจากที่เหตุการณ์การรุมทำร้ายถูกเผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย สาวประเภทสองทั่วประเทศไทยเริ่มรู้สึกถึงการถูกเหยียดหยามและถูกดูหมิ่นศักดิ์ศรีของตัวเอง จึงเริ่มรวมตัวกันที่หน้าโรงแรมแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นที่พักของกลุ่มสาวประเภทสองฟิลิปปินส์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ แม้จะไม่ได้มีการนัดหมายล่วงหน้า บางคนยังขับรถมาจากพัทยาและภูเก็ตเพื่อร่วม “ศึกครั้งนี้” แม้ว่าจะไม่เคยรู้จักกันมาก่อน
การรวมตัวดังกล่าวสร้างความตึงเครียดในพื้นที่และตำรวจต้องเข้ามาห้ามปรามเพื่อขอความร่วมมือไม่ให้เกิดความรุนแรงขึ้นอีกครั้ง หลังจากการประท้วงที่เกิดขึ้นยาวนานไม่น้อย สถานการณ์ค่อยๆ สงบลงไป แต่เหตุการณ์นี้ยังคงเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงต่อไปในสื่อสังคมออนไลน์
การรวมตัวของสาวประเภทสองชาวไทยกลายเป็นกระแสโด่งดังในโซเชียลมีเดียในทันที โดยมีแฮชแท็ก #สุขุมวิท11 ที่ได้รับการแชร์และมีการมีเอ็นเกจเมนต์ทะลุ 13,186,696 ครั้ง และถูกแชร์ใน X กว่า 3,622,916 ครั้งภายในเวลาอันรวดเร็ว ส่งผลให้เหตุการณ์นี้ได้รับความสนใจจากสื่อต่างประเทศ เช่น เดลีเมล์ ที่รายงานข่าวนี้ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ เหตุการณ์นี้ยังสะท้อนถึงคำถามเกี่ยวกับการทำงานของชาวต่างชาติในประเทศไทย รวมถึงการดูแลความปลอดภัยของกลุ่มคนข้ามเพศในสังคมไทยอย่างจริงจัง
“วันกะเทยไทยผ่านศึก” จึงไม่ใช่แค่เหตุการณ์การทะเลาะวิวาทที่เกิดขึ้นในสุขุมวิท 11 แต่เป็นการแสดงออกถึงการปกป้องศักดิ์ศรีของสาวประเภทสองไทยที่ไม่ยอมให้ตัวเองถูกเหยียบย่ำเท่านั้น แต่ได้ทำให้ Adidas Samba ได้รับการยกย่องให้เป็น “รุ่นปราบกะเทยปินส์” เพราะเป็นทั้งรองเท้า เป็นทั้งอาวุธป้องกันตัว
View this post on Instagram
3. หมีเนย
ไม่มีใครทราบเหตุผลที่แน่ชัดของการสร้างมาสคอต “หมีเนย” หรือ Butterbear ว่าต้องการทำเพื่อโปรโมทแบรนด์ร้านขนม Butterbear Cafe ในเครือ Coffee Beans by Dao หรือสร้างไอคอนกันแน่ แต่พลันที่ “หมีเนย” หรือ Butterbear ถูกแนะนำออกสู่โลกโซเชียลได้ไม่นาน เธอก็กลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกออนไลน์ ด้วยความน่ารักขี้อายและท่าทางการเต้นกระดุ๊กกระดิ๊กที่แตกต่างจากมาสคอตตัวอื่น ๆ จนสร้างกระแสไวรัลอย่างล้นหลาม
กระแสของ “หมีเนย” เกิดขึ้นถึงสองครั้งในปีนี้ รอบแรกคือเดือน มกราคม 2567 “หมีเนย” กลายเป็นที่สนใจครั้งแรกเมื่อปรากฏในคลิปเต้นร่วมกับมาสคอตตัวอื่น ๆ ในกิจกรรมหนึ่ง จุดเด่นคือในขณะที่มาสคอตตัวอื่นเต้นอย่างเต็มที่ “หมีเนย” กลับเต้นเพียงกระดุ๊กกระดิ๊กเล็กน้อยอย่างเขินอาย สร้างความน่ารักที่ชาวเน็ตหลงรัก และกลายเป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัวของน้อง
ต่อมาในรอบที่สอง คือเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2567 โดยช่วงปลายเดือนพฤษภาคม คลิป TikTok จากประเทศจีนที่มี “หมีเนย” ออกมาปรากฏตัวถูกแชร์ต่อบนแพลตฟอร์ม X (Twitter) จากนั้นกระแสนี้ได้กลับมาที่ไทย โดยมีผู้สร้างคอนเทนต์ใน TikTok นำคลิปเหล่านั้นมาสร้างกระแสใหม่อีกครั้งในเดือนมิถุนายน ความน่ารักของ “หมีเนย” ได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวางจนกลายเป็นไวรัลและนำไปสู่การสร้าง Collaboration กับแบรนด์อื่น ๆ รวมถึงจัดกิจกรรมพิเศษเพื่อโปรโมต
เอ็นเกจเมนต์ของหมีเนย สูงถึง 6.5 ล้านครั้ง: ในช่วงระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึง 10 มิถุนายน 2567 “หมีเนย” ได้สร้างปฏิสัมพันธ์มหาศาลในโซเชียลมีเดีย ด้วยคาแรกเตอร์ชัดเจน แม้จะมีสีหน้าเดียว แต่ความเขินอายและความน่ารักของ “หมีเนย” กลับสื่อสารอารมณ์ได้เหมือนราวว่าตุ๊กตาตัวนี้มีชีวิตจริง และ การนำเสนอผ่านคอนเทนต์ที่สม่ำเสมอและการสร้างสรรค์กิจกรรมที่ตอบโจทย์ความสนใจของกลุ่มเป้าหมาย
View this post on Instagram
บทความที่น่าสนใจ
“หลานม่า” สร้างประวัติศาสตร์ใหม่ หนังไทยเรื่องแรกเข้ารอบ 15 เรื่องสุดท้ายออสการ์ 2025
RED ONE หนังต้อนรับคริสต์มาสแนวแอ็กชั่น-คอเมดี้สุดมันส์สู่โลกแห่งเวทมนตร์