5 เหตุผลที่ต้องมาชม โอเปร่าวาไรตี้โชว์ ตามรอยเสด็จประพาสยุโรป ร.5: โอเปร่า (opera) หรืออุปรากร ศิลปะการแสดงบนเวทีชนิดหนึ่ง ที่รวมศิลปะหลายแขนงเข้าไว้ด้วยกัน ได้แก่ ดนตรีซึ่งประกอบด้วยการขับร้องและการบรรเลงโดยวงดุริยางค์ วรรณกรรมที่ใช้เป็นเค้าโครงเรื่องของการแสดงรวมทั้งบทเนื้อร้องการแสดงและการเต้น การออกแบบเครื่องแต่งกายตลอดจนการแต่งหน้าให้เข้ากับท้องเรื่อง การออกแบบฉาก แสง เสียง เพื่อสร้างบรรยากาศให้เหมาะสมตามท้องเรื่อง
ในวาระฉลองครบรอบ 120 ปี แห่งการก่อตั้งสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ตั้งแต่ปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในพระบรมราชจักรีวงศ์ ได้จัดกิจกรรมการแสดงดนตรีพิเศษในชื่อชุด “1907: Rama V European Operatic Journey” ระหว่างวันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 – 1 ธันวาคม 2567 ณ หอประชุมสยามสมาคมฯ ถนนอโศกมนตรี (สุขุมวิท 21)
คณะทำงานได้ศึกษาความสนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับโอเปร่าของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้ค้นพบเรื่องราวการทอดพระเนตรโอเปร่า 7 เรื่องขณะเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 เมื่อปีพ.ศ. 2450 ยิ่งอ่านยิ่งพบ ยิ่งเจอยิ่งน่าค้นหา จนเกิดเป็นโชว์สุดพิเศษ “1907: Rama V European Operatic Journey” เพื่อเปิดประสบการณ์มนต์เสน่ห์ของศิลปะการแสดงและดนตรีสำหรับผู้ชมทุกผู้ทุกวัย โดยคณะศิลปินและนักดนตรีมากความสามารถ 50 กว่าชีวิต และนี่คือ 5 เหตุผล ที่ควรค่าแก่การมาชมการแสดงดนตรีชุดพิเศษ “1907: Rama V European Operatic Journey” ครั้งนี้
1. การแสดงดนตรีชุดพิเศษ “1907: Rama V European Operatic Journey” ได้แรงบันดาลใจมาจากเนื้อหาในหนังสือที่ชาวไทยรู้จักกันเป็นอย่างดีอย่าง “พระราชนิพนธ์ไกลบ้าน” หนังสือรวมพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงส่งมาพระราชทานแก่พระราชธิดา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี ขณะเสด็จเยือนประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรปเมื่อปีพ.ศ. 2450 หรือค.ศ. 1907นอกจากเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่เผยให้เห็นวัฒนธรรมยุโรปในเวลานั้นแล้ว เนื้อหาในพระราชนิพนธ์ไกลบ้านยังปรากฏรายละเอียดที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเสด็จเยือนโรงละครหลายแห่งเพื่อทอดพระเนตรโอเปร่าถึง 7 เรื่อง อันเป็นที่มาของการแสดงชุดพิเศษครั้งนี้
2. การแสดงครั้งนี้จะพาผู้ชมตามรอยเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กลับสู่โลกแห่งมหรสพยุโรปสมัยต้นคริสศตวรรษที่ 20 ผ่านฉากที่น่าสนใจจากโอเปร่าทั้ง 7 เรื่อง ซึ่งท้าทายทักษะของศิลปินและนักดนตรี ทั้งในด้านการขับร้อง การแสดง บัลเล่ต์ และการบรรเลงดนตรี นำมาร้อยเรียงต่อกันเป็นการแสดง 2 องก์ ความยาว 2 ชั่วโมงเศษ พร้อมการตีความในทุกมิติเพื่อให้เข้ากับยุคสมัยในปัจจุบัน
3. การออกแบบฉากการแสดงส่งเสริมให้ผู้ชมรู้สึกเสมือนเป็นส่วนหนึ่งของโชว์ (immersive) โดยผู้ออกแบบได้ดัดแปลงการวางผังภายในหอประชุมสยามสมาคมฯ ให้แตกต่างจากกิจกรรมที่เคยจัดมาก่อนทั้งหมด และเพิ่มพื้นที่การแสดงบนรันเวย์ที่สร้างขึ้นใหม่กลางหอประชุม เพื่อให้ผู้ชมรู้สึกใกล้ชิดกับศิลปิน เพิ่มอรรถรสในการดื่มด่ำความสละสลวยของดนตรีและบทร้อง และความซาบซึ้งกินใจของท้องเรื่อง ผู้ที่คุ้นเคยกับโอเปร่าจะได้พบกับความแปลกใหม่ในการนำเสนอโอเปร่าทั้ง 7 เรื่อง และผู้ชมโอเปร่าครั้งแรกจะได้เปิดประสบการณ์การชมศิลปะการแสดงในแบบที่หาไม่ได้ในโรงละครทั่วไป
4. การแสดงครั้งนี้รวบรวมศิลปินมากความสามารถจากหลากหลายแขนงทั้งชาวไทยและต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็น คุณ Martin Ng นักร้องเสียงบาริโทนชาวสิงคโปร์ ผู้โด่งดังในวงการดนตรีคลาสสิกทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คุณ มู่ หยู นักร้องเสียงโซปราโนชาวจีน ผู้กำลังศึกษาปริญญาเอกด้าน voice performance ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล คุณวรปรัชญ์ วงศ์สถาพรพัฒน์ วาทยากรชาวไทยดีกรีเกียรตินิยมอันดับหนึ่งสาขาดนตรี มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์และเจ้าของรางวัล Grand Prize จากรายการประกวด SCG Young Thai Artist Award in Composition 2020 คุณธาริน ปริญญาคณิต ผู้กำกับโอเปร่าชาวไทยจากรั้วสถาบัน Verona Accademia per l’Opera Italiana ประเทศอิตาลี และคุณแดเรน รอยส์ตัน นักออกแบบท่าเต้นชาวอังกฤษ
5. การแสดงครั้งนี้ชุบชีวิตฉากของโอเปร่าบางเรื่องที่รัชกาลที่ 5 ทอดพระเนตร แต่ได้หายไปจากความนิยมในปัจจุบันแล้วให้กลับมาใหม่ ผ่านกระบวนการสืบค้นและระบุชื่อเรื่องด้วยการเปรียบเทียบเนื้อหาของพระราชนิพนธ์ไกลบ้าน กับข้อเท็จจริงในหนังสือพิมพ์และนิตยสารบันเทิงภาษาฝรั่งเศส อิตาเลียนและอังกฤษสมัยปี ค.ศ. 1907 โดย ดร.พีรพัฒน์ อ่วยสุข ผู้เก็บข้อมูล อาศัยฐานข้อมูลห้องสมุดและจดหมายเหตุในยุโรป จนพบหลักฐานกำหนดการแสดงมหรสพในวันและสถานที่ซึ่งตรงกับข้อมูลในพระราชหัตถเลขา นอกจากจะช่วยระบุชื่อเรื่องได้แล้ว ยังเผยให้เห็นข้อเท็จจริงอื่นๆ ที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นรายนามนักแสดง คำวิจารณ์การแสดงของสื่อมวลชน บันทึกเสียงของนักแสดง ตลอดจนภาพร่างฉากการแสดงและเสื้อผ้า ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์การแสดงชุดนี้ทั้งสิ้น
การแสดงดนตรีพิเศษชุด “1907: Rama V European Operatic Journey” จะจัดขึ้น ณ หอประชุมสยามสมาคมฯ ถนนอโศกมนตรี (สุขุมวิท 21) รอบแรก ในวันอังคารที่ 26 พฤศจิกายน 2567 เวลา 19.00 น., รอบที่ 2 วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน 2567 เวลา 19.00 น., รอบที่ 3 วันเสาร์ที่ 30 พฤศจิกายน 2567 เวลา 19.00 น., รอบสุดท้ายวันอาทิตย์ที่ 1 ธันวาคม 2557 เวลา 16.00 น. ราคาบัตร 2,000 บาท (ทุกที่นั่ง ไม่ระบุที่นั่ง) และรอบพิเศษเฉพาะนักเรียน นักศึกษา วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน 2567 เวลา 16.00 น. ราคาบัตร 600 บาท (ทุกที่นั่ง ไม่ระบุที่นั่ง)
เริ่มจำหน่ายบัตรตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ที่อีเมล : [email protected] โทรศัพท์. 02-661-6470 (เฉพาะเวลาทำการ อังคาร-เสาร์ 9.00 – 17.00 น.) ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.thesiamsociety.org/ หรือเฟสบุ๊ก : TheSiamSocietyUnderRoyalPatronageรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายสมทบทุนเพื่อพัฒนากิจกรรมส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้ทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ศิลปะ และอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมของไทยและประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
บทความที่น่าสนใจ
ชมโอเปร่า 7 เรื่อง รังสรรค์จากพระราชหัตถเลขา ร.5
Jim Thompson Farm เตรียมเปิดประตูต้อนรับคนคึดฮอดกลิ่นทุ่งดอกไม้บาน ปลายปีนี้
ร่วมฉลองเทศกาลลอยกระทงแบบหรูหรา ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ