พาไปทำความรู้จัก “ชาญี่ปุ่น” แบบต่าง ๆ
ถ้าพูดถึงชาญี่ปุ่น หลาย ๆ คนก็คงจะนึกถึงชาเขียวใช่ไหมคะ แต่จริง ๆ ชาญี่ปุ่นแบ่งออกเป็นหลายประเภทมาก ๆ โดยจะขึ้นอยู่กับวิธีการปลูก, วิธีการผลิต และช่วงเวลาของการเก็บเกี่ยว ซึ่งหลัก ๆ แล้วสามารถแบ่งได้เป็น 7 ประเภท วันนี้เราจะพามาทำความรู้จัก “ชาญี่ปุ่น” ในชื่อเรียกต่าง ๆ กันค่ะ
มัทฉะ
เป็นชาที่ปลูกในพื้นที่ร่ม พอให้มีแสงผ่านเข้ามาที่ต้นชาเล็กน้อย เพื่อช่วยกระตุ้นให้ต้นชามีการสร้างสารคลอโรฟิลล์มากขึ้น ลดการสังเคราะห์แสง ใบชาที่ได้จะมีสีเขียวเข้ม เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วจะนำใบชาไปนึ่ง และบดด้วยหินให้ละเอียดจนกระทั่งละลายน้ำได้ ชาชนิดนี้จะมีกลิ่น และรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ และต้องผ่านขั้นตอนที่ค่อนข้างพิถีพิถันกว่าจะได้มาเป็นผงชา ทำให้มัทฉะมีราคาสูงมากกว่าชาเขียวอื่น ๆ นิยมนำไปใช้เสิร์ฟในพิธีชงชาที่เรียกว่า “ซะโด” (茶道) นั่นเอง นอกจากนี้ยังใช้เป็นส่วนผสมของอาหาร ขนม และเครื่องดื่มต่าง ๆ อีกด้วย
เกียวคุโระ
เป็นชาเขียวคุณภาพสูง จากยอดใบชาเขียวชั้นดี กรรมวิธีการปลูกค่อนข้างพิถีพิถัน โดยจะต้องปลูกในพื้นที่ที่ไม่มีแสงอาทิตย์ประมาณ 20-30 วัน ซึ่งจะใช้วิธีคลุมด้วยฟางหรือใยสังเคราะห์ จนเกิดเป็นสีเขียวสวยงาม นำมานึ่ง นวด และทำให้แห้ง ได้ออกมาเป็นชาที่รสชาติไม่ฝาด กลิ่นหอม มีสารอาหารสูง สีเขียวสด เนื่องจากเป็นชาที่เก็บเกี่ยวได้ในปริมาณน้อยทำให้มีราคาสูง อีกทั้งการชงให้ได้รสชาติที่ดีต้องใช้น้ำที่ไม่ร้อนจัด อุณหภูมิประมาณ 50-60 องศาเซลเซียสซึ่งต่ำกว่าการชงชาทั่วไป
คาบูเซะ
เป็นชาที่ปลูกด้วยการใช้ผ้าตาข่ายสีดำปกคลุมต้นชาเอาไว้ประมาณ 14 วัน โดยจะต้องคลุมไปทีละต้น ซึ่งวิธีนี้จะช่วยลดความขมและฝาดของใบชาได้เป็นอย่างดี จึงทำให้คาบูเซะมีรสชาติหวาน กลมกล่อม อร่อยลงตัว และด้วยวิธีการปลูกที่ต้องละเอียด และใช้แรงงานคนค่อนข้างเยอะ ทำให้ชาชนิดนี้เป็นชาที่มีราคาสูง
เซนฉะ
ถือเป็นชาที่ดื่มกันเยอะ และอยู่ในชีวิตประจำวันของชาวญี่ปุ่นมากที่สุด ชาเขียวชนิดนี้นิยมปลูกกันค่อนข้างเยอะกว่า 60% ของชาเขียวทั้งหมดในประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากปลูกง่าย สามารถโดนแสงอาทิตย์ได้ตามปกติ เมื่อเก็บใบมาแล้วต้องนำมาผ่านกระบวนการนึ่งและนวดให้แห้ง รสชาติของเซนฉะจะมีความสมดุลระหว่างความอร่อย และความขม ให้ความรู้สึกสดชื่นเวลาดื่ม
ทามะเรียวกุฉะ
เป็นชาที่ลักษณะหยิกเกลียว ซึ่งเกิดจากการนำใบชามาคั่วด้วยกระทะเหล็กเพื่อให้มีกลิ่นหอมของกระทะ ชาชนิดนี้จะมีรสฝาดเล็กน้อย กลิ่นหอมเบา ๆ เหมือนลูกเบอร์รี
บันฉะ
ได้มาจากใบชาที่เก็บนอกฤดูกาล เช่น ก่อนต้นชาแตกยอดใหม่ หรือมีขนาดไม่ได้ตามมาตรฐาน รวบรวมมาผ่านกระบวนการต่าง ๆ จนได้เป็นชาราคาย่อมเยา หากชงเป็นชาเขียวธรรมดา บางครั้งอาจมีสีออกไปทางเหลืองอมเขียว รสฝาดกว่าชาชนิดอื่น มีกลิ่นเฉพาะตัว ไม่หอมเท่าประเภทอื่น จึงมีการดัดแปลงเป็นเมนูชาอีกหลากหลายประเภทเพื่อเพิ่มรสหรือกลิ่น เช่น โฮจิฉะ เป็นต้น
โฮจิฉะ
เป็นใบชาที่ผ่านการคั่วด้วยความร้อนสูงจนเกิดกลิ่นเฉพาะตัว ความร้อนทำให้วิตามินซีในใบชาหายไป แต่ขณะเดียวกันก็ช่วยลดกาเฟอีนในตัวชาลงไปได้ด้วย จึงเป็นชาที่ดื่มง่าย และทำให้รู้สึกสดชื่นนั่นเอง สีของชาเมื่อชงออกมาจะเป็นสีออกน้ำตาล เนื่องจากใบชาชนิดนี้ผ่านการคั่วมานั่นเอง ในอดีตเชื่อว่าไม่ควรเสิร์ฟชาชนิดนี้ให้ลูกค้าคนสำคัญเพราะส่วนใหญ่เป็นชาที่เหลือจากการขายแล้วจึงนำมาคั่ว แต่ในปัจจุบันจะเห็นตามร้านอาหารเสิร์ฟชาชนิดนี้เป็นปกติ
ติดตาม Inzpy ได้ที่
Website:
https://inzpy.com/travel/
Youtube:
https://www.youtube.com/c/Inzpy
Facebook:
https://www.facebook.com/inzpyth
ฝาก กดติดตาม กดไลก์ กดแชร์เป็นกำลังใจให้พวกเราด้วยนะคะ