XYX นิทรรศการกลุ่ม โดยสามศิลปินมากฝีมือ นอกจาก X และ Y คือตัวอักษรในภาษาอังกฤษแล้ว ยังเป็นสัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ ที่ใช้อ้างอิง 2 แกน ในแนวนอน (X) และแนวตั้ง (Y) ในระบบพิกัดฉาก
รวมถึง X และ Y ยังถูกใช้เป็นสัญลักษณ์แทน โครโมโซมเพศ หรือกำหนดเพศของสิ่งมีชีวิต โดยโครโมโซมเพศชายแทนด้วยสัญลักษณ์ XY และโครโมโซมเพศหญิงแทนด้วยสัญลักษณ์ XX อีกด้วย
จึงเป็นสาเหตุให้นิทรรศการศิลปะครั้งนี้ได้ใช้ตัวอักษรคู่นี้ มาเป็นนิยามแทนตัวตนของสามศิลปินนามธรรมเพศชายและหญิงที่จัดแสดงในนิทรรศการครั้ง ณ Xspace Gallery
และไม่เพียงผลงานของศิลปินทั้งสามมีบุคลิก และเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่แตกต่างกัน หากแต่ยังมีสไตล์ วิธีคิด แรงบันดาลใจ และรูปแบบในการแสดงออกผ่านกระบวนการสร้างสรรค์ที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน ในขณะเดียวกัน ความแตกต่างที่ว่านี้ก็สร้างบทสนทนาโต้ตอบสื่อสารซึ่งกันและกันได้อย่างน่าสนใจ จึงกลายเป็นที่มาของชื่อนิทรรศการที่เป็นเสมือนการปฏิสัมพันธ์ทางศิลปะระหว่างบุรุษและสตรีอย่าง “XYX” นั่นเอง
เริ่มต้นด้วยศิลปินคนแรก เป็นเพศหญิงชื่อ Aimi Kaiya ซึ่งเธอได้ทำงานในแนวทางศิลปะนามธรรม ที่เน้นในการแสดงออกของอารมณ์ความรู้สึก ผ่านสีสันและร่องรอยความเคลื่อนไหวของฝีแปรงที่ใกล้เคียงกับแนวทางศิลปะแบบ Abstract Expressionist
ผลงานชุด Motherland (ถิ่นกำเนิด) ของเธอชุดนี้ จึงเป็นดั่งบทกวีแห่งชีวิต ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากความฝันที่เต็มไปด้วยสีสัน การผจญภัย และการสำรวจจิตวิญญาณอันไร้เดียงสาในยามหลับใหล โลกในความฝันอันเต็มไปด้วยความสุข ความสดใส ความอบอุ่น ความเมตตากรุณา ไม่ต่างอะไรกับมุมพักใจอันแสนสงบ ที่ช่วยปลอบประโลมชีวิตของเธอในวันที่ยากลำบาก เป็นกลไกทางจิตใจที่จะช่วยรักษาสมดุลในวันที่ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนของชีวิต และกระตุ้นให้เธอตระหนักรู้ถึงความหมาย และเป้าหมายที่แท้จริงของการมีชีวิตอยู่ ทำให้เธอเข้าใจความเป็นไปของโลกนี้ได้มากขึ้น และถ่ายทอดประสบการณ์ที่ว่าออกมาให้ผู้คนได้รับรู้ผ่านผลงานศิลปะ
ศิลปินเลือกใช้สีสันสดใส เส้นสายแปลกตา ผ่านสื่อศิลปะหลากหลายประเภท เพื่อเป็นตัวแทนของการค้นหาการมีอยู่ของตัวตน ประสบการณ์ของความรัก ความเมตตา และการให้อภัย อันเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในการดำรงชีวิตในฐานะศิลปินของเธอ ดังคำกล่าวของเธอที่ว่า
“ถึงแม้โลกภายนอกจะเลวร้ายจนทำให้ฉันรู้สึกแย่เพียงใด แต่ฉันเลือกที่จะสร้างสรรค์ผลงานศิลปะจากความรู้สึกที่สวยงามเพื่อปลอบประโลมผู้คนและตัวฉันเอง”
สำหรับคนที่สอง คือ Kristof Ghekiere ศิลปินชายชาวเบลเยียม ที่อาศัยและทำงานในกรุงเทพฯ เดิมทีเขาสนใจและหลงใหลศิลปะมาตั้งแต่ครั้งวัยเยาว์ แต่สถานการณ์ในชีวิตพลิกผันให้เขาหันเหไปในเส้นทางสายอื่น ก่อนที่จะแสวงหาหนทางหวนกลับมาสู่เส้นทางศิลปะอีกครั้งในที่สุด
ผลงานศิลปะของเขาดำเนินไปในแนวทางอันนิ่ง น้อย เรียบง่าย ลดทอน เช่นเดียวกับแนวทางศิลปะแบบ Minimalism, จุดเริ่มต้นในการทำงานของเขา เกิดจากการสังเกตและเฝ้ามองสิ่งที่เกิดขึ้นรอบ ๆ ตัว และหยิบฉวยเอาภาพประทับใจที่บันทึกไว้ในความทรงจำหรือภาพถ่าย นำเข้ามาสู่กระบวนการระหว่างเหตุผลและความรู้สึก
โดยศิลปินเชื่อว่า ทุกภาพจากความทรงจำหรือภาพถ่าย ต่างมีเส้นสาย รูปทรง หรือระนาบอันเปี่ยมความหมายลึกซึ้ง ศิลปินเสาะหาความหมายที่ว่านั้นด้วยการลบหรือตัดองค์ประกอบส่วนเกินออกไปนั่นเอง ก่อนเผยแก่นแท้ของความหมายอันลึกซึ้งของความเรียบง่าย ที่ลดทอนแบบ minimalism ในผลงานของเขาให้ปรากฏขึ้นมา
ส่วนคนสุดท้ายคือ สมนึก หวงธนะภัณฑ์ ศิลปินชาวภูเก็ต ผู้ดั้นด้นเดินทางมาร่ำเรียนศิลปะในกรุงเทพฯ และหวนกลับไปอาศัยและทำงานอยู่ในจังหวัดภูเก็ต ผลงานของเขาเป็นการบันทึกเรื่องราวรอบ ๆ ตัวทั่ว ๆ ไปในชีวิตแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็นสิ่งเล็ก ๆ หรือใหญ่ ทั้งสิ่งที่เป็นรูปธรรมอย่างรูปทรงในธรรมชาติ หรือสิ่งที่มนุษย์สร้างอย่างข้าวของเครื่องใช้ สถาปัตยกรรม หรือสิ่งที่เป็นนามธรรมอย่างอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด โดยเปลี่ยนจากการเล่าเรื่องผ่านตัวหนังสือให้กลายเป็น เส้น สี นํ้าหนัก ลวดลาย จังหวะ และการสังเคราะห์รูปทรงและพื้นที่ว่างในงานจิตรกรรม
ผลงานของเขาแสดงความเป็นคู่ตรงข้ามระหว่างงานจิตรกรรมนามธรรม ที่นำเสนอระนาบของเส้นสาย และรูปทรงเรขาคณิตแบบ Geometric abstraction กับงานจิตรกรรมนามธรรมที่สำแดงอารมณ์ความรู้สึกผ่านสีสัน และร่องรอยความเคลื่อนไหวของฝีแปรงแบบ Abstract expressionist
ศิลปินใช้ผลงานภาพวาดสีอะคริลิก สื่อผสมของเขาชุดนี้ เพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติในแผ่นดินเกิด ในขณะเดียวกัน ต้องการสื่อสะท้อนถึงการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว ที่นับวันยิ่งบ่อนทำลายความสมดุลทางชีวภาพระหว่างสังคม และธรรมชาติในผืนแผ่นดินไทยลงทุกที
สำหรับใครสนใจ XYX นิทรรศการกลุ่ม โดยสามศิลปินมากฝีมือ อย่าง Aimi Kaiya, Kristof Ghekiere และ สมนึก หวงธนะภัณฑ์ สามารถเข้าชมได้ฟรี ตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ – 9 เมษายน 2565 (จันทร์ – เสาร์ 10:00 น. – 17:00 น.) ณ Xspace Gallery ถนนสุขุมวิท 71 ซอยปรีดีพนมยงค์ 14
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Xspace Gallery
บทความน่าสนใจ : Love letter to Bangkok นิทรรศการสุดน่ารักจากผลงานการวาดของ Sundae Kids