สำนักงานประกันสังคม ให้ความสำคัญกับการดูแลผู้ประกันตนทุกช่วงวัย
ซึ่งแม้บางท่านจะเลยวัยทำงานไปแล้ว หรืออยู่ในช่วงเกษียณอายุที่ส่วนใหญ่จะมีอายุราว 55-60 ปีหรือบางท่านอยู่ในช่วงสูงวัยอายุ60 ปีขึ้นไป แต่ยังไม่มีหลักประกันอะไรไว้ให้ครอบครัวในช่วงชราภาพ หรือช่วงบั้นปลายสุดท้ายของชีวิต ซึ่งการสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยให้ผู้สูงวัยได้รับ
สิทธิประโยชน์มากมาย โดยไม่เสียสิทธิบัตรทองและสิทธิรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และเงินสมทบที่จ่ายมานั้นยังสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย
นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า สำหรับผู้สูงวัยที่สนใจจะสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 จะต้องเป็นผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ เช่น
- พ่อค้า แม่ค้า
- วินมอเตอร์ไซค์ ไรเดอร์
- หรือทำงานฟรีแลนซ์
ซึ่งมีอายุไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ สัญชาติไทย ไม่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 ไม่เป็นข้าราชการ หรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นบุคคลที่ถูกยกเว้นตามกฎหมาย
ทั้งนี้ผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบทุกเดือนหรือจ่ายเงินสมทบล่วงหน้าได้ 12 เดือน แต่หากกรณีผู้สมัครไม่มีทายาท ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่เพิ่มเติม เพื่อระบุผู้มีสิทธิ โดยผู้สมัครสามารถเลือกรับความคุ้มครองได้ใน 3 ทางเลือก ดังนี้
- ทางเลือกที่ 1 จ่ายเงินสมทบ 70 บาทต่อเดือน รับสิทธิประโยชน์ 3 กรณี
- ทางเลือกที่ 2 จ่ายเงินสมทบ 100 บาทต่อเดือน รับสิทธิประโยชน์ 4 กรณี
- ทางเลือกที่ 3 จ่ายเงินสมทบ 300 บาทต่อเดือน รับสิทธิประโยชน์ 5 กรณี
โดยสำนักงานประกันสังคมจะดูแลผู้สูงวัยเมื่อมาสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ทั้งหมด 5 กรณี ประกอบด้วย
1. กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ผู้ประกันตนทุกทางเลือก ต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 3 ใน 4 เดือน ก่อนเดือนที่ประสบเหตุ หรือเจ็บป่วย จึงจะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้วันละ 300 บาท เมื่อนอนพักรักษาในโรงพยาบาลตั้งแต่ 1 วันขึ้นไป หรือหากไม่นอนพักรักษาในโรงพยาบาล แต่มีใบรับรองแพทย์ให้หยุดพักรักษาตัวตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป รับเงินทดแทนการขาดรายได้วันละ 200 บาท
โดยทั้ง 2 กรณีนี้ สำหรับทางเลือกที่ 1 และ 2 ไม่เกิน 30 วันต่อปี ส่วนทางเลือกที่ 3 ไม่เกิน 90 วันต่อปี นอกจากนี้ ถ้าไปพบแพทย์ เป็นผู้ป่วยนอก โดยแพทย์ไม่มีความเห็นให้หยุดพักรักษาตัว หรือแพทย์ให้หยุดพักรักษาตัว ไม่เกิน 2 วัน และมีใบรับรองแพทย์มาแสดง จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ปีละไม่เกิน 3 ครั้ง ครั้งละ 50 บาท สำหรับทางเลือกที่ 1 และ 2 เท่านั้น
2. กรณีทุพพลภาพ ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 500-1,000 บาท ซึ่งขึ้นอยู่กับระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบ โดยทางเลือกที่ 1 และ 2 จะได้รับเป็นเวลา 15 ปี และทางเลือกที่ 3 จะได้รับตลอดชีวิต
โดยหากเสียชีวิตระหว่างรับเงินทดแทน จะได้รับเงินค่าทำศพ 25,000 บาท ยกเว้นทางเลือกที่ 3 ได้รับเงินค่าทำศพ 50,000 บาท
3. กรณีตาย จ่ายเงินสมทบ 6 ใน 12 เดือน ก่อนเดือนที่ตายได้รับเงินค่าทำศพ 25,000 บาท ยกเว้นทางเลือกที่ 3 ได้รับเงินค่าทำศพ 50,000 บาท แต่สำหรับทางเลือกที่ 1 และ 2 หากจ่ายเงินสมทบมาแล้ว
60 เดือน ก่อนเดือนที่ตาย จะได้รับเงินสงเคราะห์กรณีตายเพิ่มอีก 8,000 บาท ยกเว้นเสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุ หากจ่ายเงินสมทบ 1 ใน 6 เดือน ก่อนเดือนที่ตายมีสิทธิรับเงินค่าทำศพ
4. กรณีชราภาพ เมื่ออายุ 60 ปีบริบูรณ์และสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนจะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพจากเงินสมทบเดือนละ 50 บาทสำหรับผู้ประกันตนทางเลือกที่ 2 แต่สำหรับทางเลือกที่ 3 จะได้รับเดือนละ 150 บาท
และได้รับเงินบำเหน็จเพิ่มอีก 10,000 บาท เมื่อจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 180 เดือนขึ้นไป อีกทั้งยังสามารถจ่ายเงินสมทบเพิ่มเติมเป็นเงินออมได้ไม่เกินเดือนละ 1,000 บาท สำหรับทางเลือกที่ 2 และ 3
5. กรณีสงเคราะห์บุตร ผู้ประกันตนเฉพาะทางเลือกที่ 3 ต้องเป็นผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบมาแล้ว 24 ใน 36 เดือน จะได้รับเงินสงเคราะห์บุตรรายเดือน เดือนละ 200 บาท ต่อบุตร 1 คน
คราวละไม่เกิน 2 คน อายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ โดยขณะที่รับเงินสงเคราะห์บุตรผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบทุกเดือนจึง
จะได้รับสิทธิครบถ้วน
ผู้สนใจสมัครได้ง่าย ๆ ไม่เสียค่าธรรมเนียมเพียงใช้บัตรประชาชนและแบบคำขอสมัครเป็นผู้ประกันตน มาตรา 40 (สปส.1-40) โดยสมัครได้หลายช่องทาง ผ่านสำนักงานประกันสังคม เครือข่ายประกันสังคมทั่วประเทศ เซเว่น-อีเลฟเว่น ทุกสาขา ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
และที่เว็บไซต์ www.sso.go.th ซึ่งผู้ประกันตนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง