Crossing the Lines : แรงงานข้ามเส้น นิทรรศการศิลปะของคนทำงาน
Crossing the Lines : แรงงานข้ามเส้น นิทรรศการศิลปะที่จะพาคุณไปทำความเข้าใจ ลงลึก ในงานทุกงาน แรงทุกแรง นิทรรศการนี้เป็นผลงานของกลุ่มที่ออกแบบและพัฒนาโดยผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจากโครงการ Start! Art Curator รุ่นที่ 2 ได้แก่ กูกสิณา กูบาฮา | ตรีธิดา ไตรสิงห์ | ปณต ศรีนวล ซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมภัณฑารักษ์รุ่นใหม่เรียนรู้การสร้างสรรค์นิทรรศการ ผ่านประสบการณ์ทำงานร่วมกันกับทีมงานมืออาชีพ
นิทรรศการถ่ายทอดเรื่องราวของคำว่า “แรงงาน” ที่แน่นอนว่าเป็นคำที่ทุกชีวิตบนโลกใบนี้คงรู้จักและเคยได้ยิน แต่ด้วยประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เราได้เจอนั้นทำให้เราเข้าใจและตระหนักถึงความหมายของคำว่าแรงงานแตกต่างกันออกไปคนละทิศละทิศ และบางครั้งก็หลงลืมไปด้วยซ้ำว่าตัวเองก็เป็นแรงงานอีกคนหนึ่งเช่นกัน และโลกทุนนิยมที่กำลังหมุนไป เงินตราเป็นปัจจัยหลักใหญ่ในการที่ทำให้สถานะความเป็นคนทำงานจึงค่อย ๆ มีความแตกต่างกันออกไป และความแตกต่างนั้นก็เริ่มทำให้เกิดการแบ่งแยก เส้นบางอย่างเริ่มเข้ามาตีกั้นความแตกต่างอย่างละเล็กละน้อยให้มีชัดเจนยิ่งขึ้น
ด้วยเหตุนี้ นิทรรศการ Crossing the Lines : แรงงานข้ามเส้น ต้องการตอกย้ำคำพูดที่ว่า ทุกคนเป็นแรงงาน แต่แน่นอนว่าทางผู้จัดไม่ได้มีเจตนาเหมารวมว่าแรงงานทุกคนเหมือนกันและสามารถทดแทนกันได้ แต่พวกเขาเชื่อว่าผู้ที่ใช้สติปัญญาและแรงงานในการทำงานทุกคน จะต้องเคยประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความไม่ยุติธรรม ความเหนื่อยยากและท้อแท้เหมือน ๆ กัน
ในนิทรรศการนี้คำว่า แรงงาน จะถูกตีความใหม่ผ่านคุณค่าที่ไม่ได้จำกัดอยู่ที่มูลค่าทางเศรษฐกิจ ในทางกลับกัน แรงงานจะถูกนำเสนอผ่านเรื่องราว คำบอกเล่า ประสบการณ์ชีวิต ที่อาจจะไม่ปรากฎในสื่อกระแสหลักตลอดจนหน้าประวัติศาสตร์ งานศิลปะโดยศิลปินไทยร่วมสมัยเพศหญิงและ LGBTQ+ จะทำหน้าที่ขับเคลื่อนสังคมด้วยการพาเราไปตั้งคำถามในระหว่างการสำรวจเรื่องราวของแรงงานที่สังคมไม่คุ้นชินอันเกิดจากการบกพร่องในการนำเสนอของสื่อ
นิทรรศการจะเน้นย้ำไปที่การสำรวจ เส้นแบ่ง ที่เป็นปัจจัยสำคัญในกร แบ่งแยกหมวดหมู่ ซึ่งเกณฑ์ที่ใช้ในการแบ่งแยกผลงานภายในงานของศิลปินนั้นจะถูกนำเสนอจะแบ่งผ่านเส้นในเชิงกายภาพและเส้นในเชิงนามธรรม โดยหมวดหมู่แรกคือ เส้นในเชิงภายภาพ จะประกอบไปด้วยผลงานของ จุรีพร เพชรกิ่ง ในชื่อ จีนนอกนา ซึ่งเป็นการสำรวจเรื่องราวของชาวจีนที่เข้ามาหาเงินจุนเจือปากท้องในสยาม งานสื่อผสมของ สมัคร์ กอเซ็ม ชุด Ethnography of the House, Aliens in Adam’s Apple, The Blue Guy และ Animal Man Show (2022) ที่บอกเล่าการเคลื่อนย้ายของชายไทใหญ่ที่ต้องพลัดถิ่นมาค้าบริการในเชียงใหม่ และภาพถ่ายชุด Nannies (2022) ของ ดวงตะวัน ศิริคูณ จะพาผู้ชมไปพิจารณาถึงความพร่าเลือนของอัตลักษณ์คนทำงานจากต่างจังหวัดเมื่อต้องก้าวเข้าไปสู่พื้นที่ที่เป็นบ้านของคนอื่น
และต่อมาก็มาถึงโลกที่ถูกกางกั้นด้วยเส้นในเชิงนามธรรม โดยงานของ โยษิตา พานิชเจริญ ชุด Homemaker Creed (2020) จะเชื่อมกับประเด็น แม่บ้าน จากงานศิลปะที่ผ่านมาแต่ใช้วิธีการวิพากษ์ผ่าน Concept ที่ตาจับต้องไม่ได้อย่าง กรอบเพศ ที่ทำให้เราเข้าใจถึงอารมณ์ของผู้หญิงที่ถูกกรอบทางเพศกำหนดไว้ให้เป็นเพียง เมีย และ แม่ จนกลายเป็นคำถามที่สังคมไม่เคยให้คำอธิบาย คล้ายกับวิธีการนำเสนองานของ พันเลิศ ศรีพรหม ศิลปินข้ามเพศหนึ่งเดียวในนิทรรศการ ที่วิจารณ์กระบวนการการก้าวข้ามทางจิตวิญญาณผ่านเครื่องนุ่งห่ม ที่ถูกควบคุมโดยสถาบันสงฆ์และสงวนไว้ให้เพียงเพศชายตามกำเนิดเท่านั้น ผ่านชุดงานประเภทภาพถ่ายของเธอ และปิดท้ายด้วยศิลปะการแสดงชุด A Bloody Business (2022) จาก ศศพินทุ์ ศิริวาณิชย์ และทีมงาน ที่ฉายให้ผู้ชมเห็นถึงชีวิตประจำวันของแรงงานที่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายจากผลิตภัณฑ์ ประจำเดือน ที่สวนทางกับค่าครองชีพ
สำหรับใครที่สนใจนิทรรศการ Crossing the Lines : แรงงานข้ามเส้น มีการจัดแสดงในวันที่ 4 มิถุนายน – 16 กรกฎาคม 2022 ที่บริเวณหอศิลป์ ชั้น 2 SAC Gallery ในเวลา 10.00 – 18.00 น. และมีกำหนดปิดวันอาทิตย์และวันจันทร์ หรือติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Facebook : SAC Gallery