ภาวะซึมเศร้าและโรคซึมเศร้า
โรคซึมเศร้า คืออะไร
เป็นความผิดปกติทางจิตซึ่งทำให้ผู้ป่วยเกิดอารมณ์ซึมเศร้าอย่างน้อย 2 สัปดาห์ในแทบทุกสถานการณ์ มักเกิดร่วมกับการขาดความภูมิใจแห่งตน การเสียความสนใจในกิจกรรมที่ปกติทำให้เพลิดเพลินใจ อาการไร้เรี่ยวแรง และอาการปวดซึ่งไม่มีสาเหตุชัดเจน ผู้ป่วยอาจมีอาการหลงผิดหรือมีอาการประสาทหลอน
ผู้ป่วยบางรายมีช่วงเวลาที่มีอารมณ์ซึมเศร้าห่างกันเป็นปี ๆ ส่วนบางรายอาจมีอาการตลอดเวลา โรคซึมเศร้าสามารถส่งผลกระทบในแง่ลบให้แก่ผู้ป่วยในหลาย ๆ เรื่อง เช่น ชีวิตส่วนตัว ชีวิตในที่ทำงานหรือโรงเรียน ตลอดจนการหลับ อุปนิสัยการกิน และสุขภาพโดยทั่วไป ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าผู้ใหญ่ประมาณ 2–7% เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายและประมาณ 60% ของผู้ฆ่าตัวตายกลุ่มนี้มีโรคซึมเศร้าร่วมกับความผิดปกติทางอารมณ์ชนิดอื่น
โดยทั่วไป โรคซึมเศร้ารักษาได้ด้วยจิตบำบัดและยาแก้ซึมเศร้า ดูเหมือนยาจะมีประสิทธิภาพ แต่ฤทธิ์อาจสำคัญเฉพาะในผู้ที่ซึมเศร้ารุนแรงมาก ๆ เท่านั้น ไม่ชัดเจนว่ายาส่งผลต่อความเสี่ยงการฆ่าตัวตายหรือไม่ ชนิดของจิตบำบัดที่ใช้มีการบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (cognitive behavioral therapy) และการบำบัดระหว่างบุคคล หากมาตรการอื่นไม่เป็นผล อาจทดลองให้การรักษาทางจิตเวชด้วยไฟฟ้า (ECT) อาจจำเป็นต้องให้ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงทำร้ายตนเองเข้าโรงพยาบาลแม้บางทีอาจขัดต่อความประสงค์ของบุคคล
อาการ
ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าปกติจะมีอารมณ์เศร้าเกี่ยวกับทุกด้านของชีวิต และไม่สามารถเพลิดเพลินกับกิจกรรมเดิมที่เคยชอบ ผู้ป่วยอาจหมกมุ่นครุ่นคิดถึงความคิดและความรู้สึกว่าตนไร้ค่า ความรู้สึกผิดหรือเสียใจอย่างไม่เหมาะสม ไร้ที่พึ่ง สิ้นหวัง และเกลียดตนเอง ในกรณีที่รุนแรง คนซึมเศร้าอาจมีอาการโรคจิต (psychosis) ได้แก่ ความหลงผิด หรือที่พบน้อยกว่าคือ ประสาทหลอน อาการอื่นมีทั้งสมาธิและความจำไม่ดี โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการเหงาหงอย (melancholic) หรือมีลักษณะโรคจิต การปลีกตัวจากสถานการณ์หรือกิจกรรมทางสังคม ความต้องการทางเพศที่ลดลง ความขัดเคืองง่าย และความคิดเกี่ยวกับความตายหรือการฆ่าตัวตาย การนอนไม่หลับเป็นเรื่องสามัญในคนไข้ ซึ่งปกติเป็นแบบนอนตื่นเช้ามากแล้วนอนต่อไม่ได้ แม้ว่าการนอนมากเกินไป (Hypersomnia) ก็พบได้ยาแก้ซึมเศร้าบางอย่างอาจทำให้นอนไม่หลับเพราะมีฤทธิ์กระตุ้น
ปัจจัยเสี่ยง
- ความสัมพันธ์ที่ห่างไกลมากขึ้น : วิถีชีวิตของความเป็นคนเมือง ทำให้เกิดความรู้สึกเหงาเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคซึมเศร้า
- ค่านิยมการทำงานที่เปลี่ยนไป : ความรู้สึกภูมิใจในตัวเองลดลง คนตกงานจำนวนมาก ความรู้สึกเปรียบเทียบกับคนอื่นในสื่อโซเชียล
- ห่างไกลจากธรรมชาติ : การกิน การนอน การออกกำลังกาย เปลี่ยนไปส่งผลต่อระบบชีวภาพของร่างกาย มีงานวิจัยพบว่า จุลินทรีย์ในลำไส้สัมพันธ์กับโรคซึมเศร้า
- ขาด mindset ในการจัดการปัญหา : ไม่ถูกฝึกทักษะทางความคิดและแก้ปัญหาเชิงรุก เช่น การฝึกคิดแง่บวก บ่อย ๆ ว่า ทุกปัญหาจะต้องมีทางออกในที่สุด และเมื่อเราแก้ปัญหานั้นได้แล้ว เราจะเก่งขึ้น เชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น
- มีปมค้างในใจ: เป็นสิ่งที่ลึกซึ้งสุด เช่น ครอบครัวขาดความอบอุ่น ทั้งการดุด่า ละเลย ไม่มีเวลาให้ ล้วนเป็นปมค้างใจในวัยเด็ก และส่งผลเปราะบางทางอารมณ์ วิธีสังเกตคือการมีความทรงจำทางลบในเหตุการณ์และประเด็นที่ยังไม่ถูกคลี่คลาย
ข้อมูลอ้างอิง: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)Website: https://www.thonburi2hospital.com/
TikTok: @thonburi2hospital
Line: @Thonburi2hospital
Facebook: Thonburi2Hospital โรงพยาบาลธนบุรี2
ติดตาม Inzpy ได้ที่
Website: https://inzpy.com/
Youtube: https://www.youtube.com/c/Inzpy
Facebook: https://www.facebook.com/inzpyth