ใครวางแผนไปเที่ยวญี่ปุ่นช่วงนี้ โปรดทราบโดยทั่วกันว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่นประกาศใช้ธนบัตรรุ่นใหม่เป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี ตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยธนบัตรใหม่นี้ใช้ เทคโนโลยีโฮโลแกรม พิมพ์ภาพใบหน้าบุคคลสำคัญซึ่งจะหันซ้ายหรือขวาไปตามมุมมองของผู้ดูธนบัตรเพื่อป้องกันการปลอมแปลง ซึ่งสำนักพิมพ์แห่งชาติของญี่ปุ่นกล่าวว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกของโลกที่ใช้เทคโนโลยี Banknotes with Hologram Portraits นี้พิมพ์บนธนบัตร
แม้ธนบัตรแบบเดิมยังคงใช้ได้ตามปกติไปก่อน จนกว่าจะมีการเก็บจนหมดตลาดหรือตามเวลาที่รัฐบาลกำหนด แต่ตามสถานีรถไฟ ลานจอดรถ และร้านราเม็งทั่วไป ต้องปรับตัวเพื่ออัปเกรดเครื่องชำระเงินสดแบบอัตโนมัติมากขึ้น
สำหรับธนบัตรใหม่ชนิด 10,000 เยน (ราว 2,270 บาท) เป็นภาพของ นายเออิจิ ชิบุซาวะ ผู้ก่อตั้งธนาคารและตลาดหลักทรัพย์แห่งแรกในญี่ปุ่นซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็น “บิดาแห่งลัทธิทุนนิยมญี่ปุ่น”
ส่วนธนบัตร 5,000 เยน (ประมาณ 1,135 บาท) แบบใหม่เป็นรูปนางอุเมะโกะ สึดะ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยสตรีแห่งแรกในญี่ปุ่น และธนบัตร 1,000 เยน (ราว 227 บาท) เป็นรูปของนายชิบะซาบุโระ คิตะซาโตะ ผู้ริเริ่มวิทยาศาสตร์การแพทย์
โดยโรงพิมพ์ธนบัตรจะพิมพ์ธนบัตรรูปแบบใหม่จำนวน 7,500 ล้านฉบับภายในสิ้นปีงบประมาณนี้ซึ่งจะเป็นการเพิ่มธนบัตรจำนวน 18,500 ฉบับ มูลค่า 125 ล้านล้านเยน (กว่า 28 ล้านล้านบาท) ที่ใช้หมุนเวียนอยู่แล้วตั้งแต่เดือน ธ.ค.ปีก่อน
แม้รัฐบาลจะให้ข้อมูลว่าการชำระแบบไร้เงินสดเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าในช่วง 10 ปีมานี้ เมื่อปีที่แล้วมีการใช้จ่ายแบบไร้เงินสดถึงร้อยละ 39 แต่ก็ยังน้อยว่าประเทศอื่นๆ และควรเพิ่มให้สูงถึงร้อยละ 80 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตหรือใช้ทรัพยากรต่าง ๆ
ส่วนภาคเอกชนที่ต้องเตรียมรับมือกับเรื่องนี้ สมาคมผู้ผลิตเครื่องจำหน่ายอัตโนมัติของญี่ปุ่นกล่าวว่าเครื่องอัตโนมัติต่างๆ ร้อยละ 90 ทั้งตู้เอทีเอ็ม เครื่องจำหน่ายตั๋วโดยสารรถไฟ และเครื่องคิดเงินสดตามร้านค้าปลีก ได้เตรียมรับธนบัตรรูปแบบใหม่แล้ว
แต่ร้านอาหารและลานจอดรถเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่มีเครื่องพร้อมใช้งาน นอกจากนี้ตู้ขายเครื่องดื่มอัตโนมัติเกือบร้อยละ 80 จากทั้งหมด 2.2 ล้านเครื่องทั่วประเทศจะต้องอัปเกรดใหม่หมด
ไปเที่ยวตอนที่เขากำลังรีเซ็ตระบบใหม่ Banknotes with Hologram Portraits อาจจะติดขัดนิดนึง แต่อย่างเพิ่งโวยวายไป หรือไม่ก็รอไปเที่ยวปีหน้าเลยนะ ระบบน่าจะโอเคแล้ว
บทความที่น่าสนใจ