More

    “เป้ -ภูษิต ช้างแก้วมณี” Mr. Gay World Thailand 2024 กับภารกิจ “Pride at Work” บนเวทีโลก

    กองประกวดเวทีต่างๆ ในประเทศไทยทั้งชายและหญิง มีเยอะจริงๆ เยอะมากจนจำชื่อแทบไม่ได้ แต่หนึ่งในเวทีที่แหวกออกไป เพราะคาแรกเตอร์ชัดเจน คงต้องยกให้การประกวด Mr. Gay World Thailand ซึ่งจัดมาแล้ว 6 ครั้ง โดยเจ้าของมง Mr. Gay World Thailand 2024 คนล่าสุด ได้แก่ “เป้ – ภูษิต ช้างแก้วมณี” หนุ่มชลบุรีวัย 35 ปี ที่นอกจากจะซิวมงใหญ่มาครองแล้ว ยังพ่วงตำแหน่ง Best Formal Wear และ Best Swimwear เรียกได้ว่าทำแฮตทริกกันไปเลยเชียว

    ก่อนมาประกวดเวทีนี้ เป้ – ภูษิ เคยเป็นหนุ่มโรงงานมาก่อน และไม่เคยอายที่จะกล่าวถึง

    “ผมเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยหรือ Safty Officer ในโรงงานมาก่อนครับ หลายคนอาจจะไม่คุ้นกับตำแหน่งนี้ แต่ถ้าใครเคยทำงานในโรงงานจะรู้ดีว่านี่คือตำรวจโรงงานที่ดูแลเรื่องความปลอดภัยในโรงงานให้ได้มาตรฐาน เช่น ทางหนีไฟ ระบบป้องกันอันตราย รวมไปถึงการตรวจสารเสพติดของพนักงานด้วยครับ”

    Mr. Gay World

    เกย์ในโรงงานกับประสบการณ์ตรงที่เจอมา

    “ผมเป็นเกย์ แต่ไม่ได้ออกสาวมาก เลยไม่ค่อยมีประเด็นอะไร แต่รุ่นพี่ที่เป็นทรานส์เจนเดอร์น่ะ จะเจอบ่อย อย่างรุ่นพี่ไปเตือนพนักงานที่ไม่สวมใส่อุปกรณ์ที่ดูเซฟในการทำงาน พนักงานพวกนั้นก็จะพูดว่า ‘เฮ้ย อย่ามายุ่งสิตุ๊ด’ อะไรแบบนี้ เป็นคําที่หยาบคาย สะเทือนจิตใจ จนหลายคนไม่อยากทํางานอีกเลยก็ลาออกเปลี่ยนไปทำงานด้านอื่นก็มีครับ “ เป้กล่าว

    การผ่านงานในโรงงานนี่เอง ที่ทำให้เป้พบเจอประสบการณ์ตรงจากการ “เหยียด”

    จากกลุ่มคนที่สถาปนาตัวเองว่าเป็น “ชายแท้” ทั้งด้วยท่าทางและคำพูด จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม แต่นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เป้ตัดสินใจเดินเข้าสู่การประกวด Mr. Gay World Thailand 2024 พร้อมแคมเปญจัดทำ Line OA รวมรายชื่อบริษัทที่ยินดีต้อนรับกลุ่ม LGBTQ+ เข้าทำงาน, รวบรวมกฎหมายเกี่ยวกับการถูกกีดกัน, รวบรวมบทความ, คู่มือ, และสื่อการศึกษาเกี่ยวกับประเด็น LGBTQ+, รวบรวมสายด่วนเกี่ยวกับการถูกกีดกัน, ห้องแชทพื้นที่ปลอดภัยสำหรับสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับ Discrimination และร่วมลงรายชื่อยุติการเลือกปฏิบัติกับ LGBTQ

    “อย่างที่บอกไปว่าเราเคยเผชิญปัญหาเกี่ยวกับ LGBTQ ในที่ทำงานมาโดยตรง นอกจากสิ่งที่ได้พบแล้วยังมีเรื่องของการไม่ได้รับสิทธิ์อื่นๆ อย่างเต็มที่ ในบางตำแหน่งงานนายจ้างจะระบุไปเลยว่าไม่รับ LGBTQ  ให้มาทํางานด้านนี้ เพราะเขาคิดว่าอาชีพนี้มันต้องแข็งแกร่ง แข็งแรง คุมคนงานได้ แต่จริงๆ แล้วเขาคิดผิดนะครับ ผมรู้สึกว่าทางด้านทำงานไม่ควรเอาเรื่องเพศมาตัดสิน ควรดูที่ความสามารถ สิ่งที่ผมเคยเจอมานี้ ผมคิดว่าเป็นประเด็นที่สามารถจะช่วยกันแก้ไขได้ จึงคิดทําแคมเปญที่ชื่อ ‘Open Door’ ขึ้นมา เปิดประตูให้พวกเราเถอะ เพราะพวกเรา LGBTQ เรามีความสามารถ อย่ามองในเรื่องของเพศสภาพอย่างเดียวนะครับ” เป้กล่าว

    หรือจริงๆ งานบางประเภทมันถูกตีตราโดยคนกลุมหนึ่งว่า คนที่จะมาทำงานนี้ต้องมีลักษณะอย่างไร เลยนำไปสู่ปัญหาของการเลือกปฏิบัติและกีดกันทางเพศ เป้กล่าวว่า “ใช่ครับ ผมคิดว่าเป็นทัศนคติของผู้บริหารมากกว่า ผมรู้สึกว่าการที่ผู้บริหารยังไม่เปิดใจ ยังไม่เข้าใจในวิถีชีวิตของ LGBTQ เขาจึงมักสรุปเอาเองว่า LGBTQ ต้องไปโชว์ ต้องไปทําเรื่องของงานบริการต่างๆ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่เลยครับ จริงๆ คนกลุ่มนี้สามารถทําได้ทุกอย่างจะเป็นอาชีพไหนเราก็มีคนหลากหลายทางเพศเข้าไปอยู่ในอาชีพนั้นได้ แค่เปิดใจกว้างยอมรับ”

    Mr. Gay World

    เพื่อให้โครงการนี้ดูเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เราถามเป้กลับไปว่า ได้วางไกด์ไลน์ตัวแคมเปญนี้ไว้หรือไม่

    ว่าแต่ละขั้นตอนต้องทำอย่างไร มีอะไรบ้าง “จริงๆ ตอนที่ผมยังทํางานอยู่ผมก็คิดนะครับว่าผมจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไรดี สเต็ปแรก ผมคิดว่าแต่ละบริษัทในประเทศไทยไม่ควรระบุเพศในคุณสมบัติการทํางาน หรือระบุว่าเปิดกว้างรับ LGBTQ ด้วยเนี่ยก็ดีนะครับ ผมได้ข้อมูลมาว่ามีบริษัทประมาณ 73 บริษัททั่วประเทศไทย ที่เปิดกว้างและเปิดรับ LGBTQ แม้จะน้อยแต่ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี

    Mr. Gay World

    สเต็ปต่อไปก็คือ บริษัทควรกำหนดเป็นนโยบายว่าเราจะอยู่ร่วมกันกับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศเนี่ย ต้องวางตัวอย่างไรบ้าง เพราะบางครั้งบางคนที่มาทํางานในโรงงานจะมาจากหลากหลายที่ หลากหลายมุมมองอาจจะไม่เคยสัมผัสกับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศมาก่อน ฉะนั้นพอต้องมาอยู่ร่วมกันอาจจะไม่รู้ว่าควรทำตัวอย่างไร ปฏิบัติตัวอย่างไรถึงจะเป็ฯการให้เกียรติกันและกัน ในอีกด้านหนึ่ง LGBTQ ก็ควรปรับตัวและและปรับทัศนคติด้วยเช่นกัน” เป้กล่าว

    สมมติว่าแคมเปญนี้ถูกเผยแพร่ออกไปแล้วมีนายจ้างหรือบริษัทต่างๆ สนใจอยากนำไปใช้ให้เป็นรูปธรรมล่ะ เราเปิดประเด็นใหม่ เป้ตอบทันทีนี้ว่า “อันดับแรกครับเรามีตัวอย่างของบริษัทของต่างประเทศ เช่น บริษัทในอเมริกาว่าเขาจัดการกรณี LGBTQ ในบริษัทอย่างไร มีสวัสดิการแยกไปต่างหากว่าถ้าคุณสมมติเป็น LGBTQ มาสมัครโรงงานเรา คุณก็จะต้องรับอะไรให้ได้บ้าง อีกอย่างหนึ่งก็คือจะมีนโยบายในเรื่องของการปฐมนิเทศพนักงานด้วยว่าจะของการอยู่ร่วมกันกับ LGBTQ เป็นอย่างไรบ้าง คือไม่ใช่ว่า LGBTQ เป็นสิ่งที่ผิดปกตินะครับ แล้วจะต้องมาอยู่ร่วมกัน แต่อยากให้เขารู้ในองค์กรมีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้นและเราจะต้องปฏิบัติตนอย่างไร เหมือนเคารพซึ่งกันและกันมากขึ้น ผมอยากให้บริษัทในประเทศไทยเปิดกว้างในเรื่องนี้ซึ่งเราสามารถที่จะศึกษาจากต่างประเทศได้ครับ”

    Mr. Gay World

    กฎระเบียบก็เรื่องหนึ่งซึ่งทําง่ายกว่า แต่การเปลี่ยนทัศนคติของผู้บริหาร ตลอดจนทัศนคติของเพื่อนร่วมงานในที่ทํางานนี่สิ

    “ใช่ครับมันยาก” เป้ตอบ

    “แต่ผมเองมีโปรเจกต์หนึ่ง คือสมัยที่ผมทํางานโรงงานอยู่ เขามักจะมีรางวัลประเภทโรงงานสีขาวเกี่ยวกับเรื่องยาเสพติด โรงงานอุตสาหกรรมดีเด่นที่ได้ ISO อะไรพวกนี้ ผมอยากเอารางวัลพวกนี้มาปรับเปลี่ยนใหม่ จะใช้ชื่ออะไรก็ได้ซักชื่อ เพื่อให้รางวัลสําหรับกลุ่มโรงงานหรือบริษัทที่นโยบายเป็นมิตรกับ LGBTQ อย่างชัดเจน ซึ่งรางวัลพวกนี้จะไปกระตุ้นให้องค์กรออกแบบระเบียบหรือนโยบายต่างๆ พัฒนาทั้งตัว LGBTQ เอง หรือสนับสนุนความก้าวหน้า LGBTQ ในเรื่องหน้าที่การงาน และถ้ารางวัลมันได้มาตรฐาน บริษัทที่ได้รับรางวัลไปก็จะเป็นเครื่องหมายว่าบริษัทของคุณ สนับสนุนหรือเป็นมิตรกับ LGBTQ”

    แต่ “สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งถ้าจะให้ประสบความสำเร็จมันต้องเกิดจากการร่วมมือกันอย่างจริงจังของทั้ง 3 ภาค คือ ภาครัฐ ภาคเอกชน แล้วก็ภาคประชาชนครับ จึงจะเกิดขึ้นได้”

    สมมติเรามองในมุมกลับบ้างนะ เมื่อกี้เรามองในมุมของ LGBTQ ต่อเรื่อง Pride at Work สมมติว่ากลับมามองในมุมของนายจ้างหรือเจ้าของกิจการดูบ้าง เขาอาจจะมองว่า LGBTQ มีความเอ็นเตอร์เทนอยู่ในตัว เพราะฉะนั้นคงไม่สามารถทํางานหลักๆ ได้เหมือนชายหญิงทั่วไป เราจะไป defend ประเด็นนี้อย่างไรดี ?

    “ผมชอบเทศกาลๆ หนึ่งมากนะครับ ชื่อเทศกาล IDAHOT ที่เขาชูประเด็นเรื่องอย่าเกลียดกลัว LGBTQ เลย เราก็คนเหมือนกัน ผมคิดว่างานนี้ ถ้าสมมติถ้ารัฐบาลหรือเอกชนหลายๆ แห่งลงมาช่วยกันกระตุ้นเนี่ย มันจะทำให้เกิดพลังมากขึ้น การที่ LGBTQ  มีตัวตนในสังคมมันไม่ได้มีความน่ากลัวอะไร อีกอย่างตอนนี้เรามีเน็ตไอดอลที่มีความสามารถ รวมถึงผู้บริหารองค์กรที่เป็นLGBTQ อย่าง คุณแอนจักรพงษ์ เขาก็ทําให้เราเห็นแล้วว่า LGBTQ สามารถทําอะไรได้อีกหลายอย่าง”

    Mr. Gay World

    อีกไม่กี่วันต้องเดินทางไปประกวดที่อังกฤษแล้วเตรียมความพร้อมไว้แค่ไหนสำหรับเวทีนานาชาติ

    “อันดับแรกที่เตรียมตัวมาคือเรื่องภาษาครับ จริงๆ ผมสื่อสารภาษาอังกฤษได้พอสมควร แต่สำเนียงอาจจะยังไม่ถึงขั้นเป็นเนทีฟสปีกเกอร์ และได้ไปเรียนรู้คำศัพท์ที่เป็นเกี่ยวกับด้านของสิทธิ LGBTQ อยากใช้คําที่ทัชใจคณะกรรมการ สองคือเรื่องของรูปร่างหน้าตาและหุ่น มีการเข้าฟิตเนสเพิ่มมากขึ้น ฟิตหุ่นมากขึ้น ซึ่งก็ต้อมยอมรับว่าในเรื่องนี้เราเสียเปรียบคนยุโรปอยู่ไม่น้อย ส่วนเรื่องอื่นๆ บรรดารุ่นพี่ที่เคยได้รางวัลนี้มาก่อน เขาก็มาช่วยสอนเราด้วยว่าต้องเจออะไรบ้าง ต้องวางตัวอย่างไร แต่ส่วนตัวผมคิดว่า แม้เราจะเสียเปรียบเรื่องบอดี้ แต่เราก็มีเสน่ห์แบบเอเชียอยู่ คือเรื่องรูปร่างหน้าตา รอยยิ้มและในเรื่องของความเป็นไทยที่ไม่เหมือนชาติอื่นๆ ครับ” เป้ตอบ

    ในการประกวดที่ไทย เป้ทำแคมเปญ ‘Open Door’

    ได้ศึกษารายละเอียดของฝรั่งหรือของประเทศอื่นบ้างหรือไม่ว่าเขาทําแคมเปญอะไร เราสู้เขาได้หรือไม่

    “ในส่วนนี้ทำการบ้านมาครับ ก็อย่างที่บอกคือต่างชาตินะเขามีการยอมรับกันอยู่แล้ว ฉะนั้นเรื่องกฎหมายต่างๆ เขาอาจจะล้ำหน้าเราไปในหลายเรื่อง แต่ตอนนี้ประเทศเราก็มี พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม แล้วซึ่งก็นับเป็นก้าวแรกและเป็นก้าวที่สําคัญ ที่ผมบอกจะเอาไปบอกกับต่างชาติได้ว่าคุณรู้ไหมกับประเทศไทยของเราเห็นความสําคัญแล้วนะ ประชาชนของเราก็ตื่นตัวในเรื่องนี้ นี่เป็นก้าวที่สําคัญที่จะทําให้คนต่างชาติเห็นว่าเราเปิดกว้างเรื่องความหลากหลายมากขึ้น”

    Mr. Gay World

    คําถามสุดท้ายคิดว่า พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม จะช่วยสร้างความเท่าเทียมในประเทศไทยได้จริงหรือไม่ ?

    “อันดับแรกผมคิดว่ามันเป็นก้าวที่สําคัญนะครับ อย่างน้อยกฎหมายฉบับนี้ มันไม่ใช่แค่พวกเรา LGBTQ อย่างเดียวที่จะได้ประโยชน์ แต่กฎหมายฉบับนี้จะเป็นสารตั้งต้นให้ประชาชนทุกคนได้ตระหนักรู้ และทำให้ทุกคนได้รู้จัก LGBTQ เพิ่มมากขึ้น ได้รู้ว่า LGBTQ เป็นอย่างไร พวกเราไม่ใช่สิ่งผิดธรรมชาติ และจะเป็นก้าวแรกที่เราจะผลักดันกฎหมายตัวอื่นๆ ต่อไป เช่น “เปลี่ยนคํานํา” เป้กล่าวปิดท้าย

    ชมคลิปสัมภาษณ์ Exclusive Interview ได้ทาง YouTube Channel ของเรา และฝากกดฟอล กดไลค์ กดแชร์ เป็นกำลังใจให้พวกเราด้วยนะคะ

    บทความที่น่าสนใจ

    รู้จักตัวตนของ “เอ็ม-คณิน โมกขะเวส” ผ่าน Sicknature แฟชั่นบำบัดซึมเศร้า

    ถ้าสลับ อัพ เป็นโจและ ภูมิ เป็นหมิงในตัวนาย ตัวแทนของ อัพภูมิพัฒน์ และ ภูมิภูริพันธ์

    “ภีม-ณัฐภัทร ประภานนท์” นักแสดงหนุ่มคมเข้มที่น่าจับตามอง จากซีรีส์ “กล้าทะเล”

    Related Post