ฝนตกเกือบทุกวันแบบนี้เพื่อน ๆ อย่าชะล่าใจกับเรื่องสุขภาพกันนะคะ บอกได้เลยว่า โรคที่มากับหน้าฝน นั้นอันตราย และร้ายแรงเสี่ยงต่อชีวิต และสุขภาพมาก ๆ วันนี้ Inzpy จะพาไปรู้จัก 3 โรคยอดฮิตในฤดูฝน และหาวิธีรับมือป้องกันเพื่อกันไว้ดีกว่าแก้ไม่ให้เจ็บตัว เสียทั้งสุขภาพ เสียเวลา เพราะรู้อะไรไม่เท่ารู้งี้!
โรคไข้เลือดออก
โรคไข้เลือดออกเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสแดงกี (dengue virus) โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค มักพบได้บ่อยในประเทศเขตร้อน และระบาดในช่วงฤดูฝน เป็นอีกหนึ่ง โรคที่มากับหน้าฝน ที่คนไทยตกเป็นผู้ป่วยจำนวนมาก นายแพทย์ โอภาศ การ์ยกวินพงศ์ รายงานว่า กรมควบคุมโรครายงานสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปีนี้จะมีแนวโน้มพบผู้ป่วยสูงขึ้น โดยจากข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2566 -14 มิ.ย. 2566 พบผู้ป่วยแล้วทั้งหมด 21,457 ราย เมื่อเทียบกับเวลาดังกล่าวในปี 2565 จะมากกว่าถึง 3.3 เท่า
อาการของโรคไข้เลือดออก
- มีอาการปวดท้อง
- คลื่นไส้ อาเจียน มีอาการเบื่ออาหาร ทานอะไรไม่ลง
- ในระยะแรกผู้ป่วยจะมีไข้สูงเฉียบพลัน อุณหภูมิในร่างกายเกิน 38-40 องศา ประมาณ 2-7 วัน
- หน้าแดง ตัวแดงเป็นจ้ำ ๆ หรือมีเลือดออกตามจุดต่าง ๆ เช่น ไรฟัน, ผิวหนัง, ปัสสาวะเป็นเลือด, อุจจาระออกมาเป็นสีดำ
- ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ไข้จะขึ้นสูงหลายวัน อาจเกิดภาวะการไหลเวียนของเลือดล้มเหลว หรือภาวะช็อกเข้าสู่ระยะที่เรียกว่า กลุ่มอาการไข้เลือดออกช็อก (dengue shock syndrome) ผู้ป่วยจะมีอาการกระสับกระส่าย ปลายมือเย็น ปลายเท้าเย็น ปัสสาวะลดลง ไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว ความดันโลหิตต่ำ วัดชีพจรไม่ได้
การป้องกันโรคไข้เลือดออก
- ป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด โดยสวมใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดมิดชิด
- งดอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีสีดำ และสีแดง เพื่อไม่ให้สับสนถ้าเกิดมีอาการเลือดออกในทางเดินอาหาร ว่าสีของปัสสาวะ และอุจจาระที่ออกมามีเป็นสีของเลือดจริง ๆ หรือของที่รับประทานเข้าไปกันแน่
- กำจัดแหล่งเพาะพันธ์ุยุง เช่น ไม่ปล่อยให้พื้นที่ในบ้านหรือบริเวณบ้าน มีน้ำขัง หรือมีพื้นที่ฉ่ำแฉะ หากมีกะละมังที่มีน้ำอยู่ให้รีบเทออกโดยทันที หรือให้ใช้ฝาปิดภาชนะที่มีน้ำไว้เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย
- ฉีดวัคซีนไข้เลือดออก ซึ่งต้องทำการพบแพทย์ก่อนได้รับวัคซีน
โรคไข้หวัดใหญ่
โรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza) เกิดขึ้นจากการติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจ ความชื้นเป็นตัวแพร่ของเชื้อโรคได้อย่างดี รวมถึงจมูก ลำคอ และปอด โดยไวรัสตัวนี้เป็นคนละสายพุันธ์กับไวรัสที่ทำให้เกิด โรคไวรัสลงกระเพาะ อันเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดท้องเสีย หรืออาหารเป็นพิษ อาเจียนออกมา โดยปกติแล้วผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สามารถหายเองได้ แต่ในบางคนอาจมีภาวะแทรกซ้อน หรือไปกระตุ้นโรคเดิมที่เป็นอยู่ทำให้อาการอาจจะร้ายแรงขึ้นได้
อาการของผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่
- มีไข้ หนาวสั่น หรืออาจมีอาการเหงื่อออก
- ปวดศีรษะ และปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
- เจ็บคอ และไอแห้ง
- ปวดกระบอกตา
- มีน้ำมูก จาม
- หายใจถี่ หรือหายใจติดขัด
- ท้องเสียหรือมีอาการอาเจียนร่วมด้วย ซึ่งอาการนี้พบบ่อยในเด็กอายุ 3-7 ขวบ
อาการของผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ที่ควรไปพบแพทย์
- ชัก
- เวียนศีรษะ
- เจ็บหน้าอก
- กล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง
- โรคประจำตัวกำเริบหรือทำให้อาการทรุดลง
วิธีการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่
วิธีการรักษาของโรคไข้หวัดใหญ่สามารถรักษาได้เองที่บ้าน ในกรณีที่ไม่ร้ายแรงหรือไม่มีโรคแทรกซ้อน
- ควรดื่มน้ำให้มาก ๆ ไม่ว่าจะเป็น น้ำผลไม้ น้ำเปล่า หรือซุปอื่น ๆ เพื่อให้ร่างกายไม่ขาดน้ำ
- นอนพักผ่อนให้เพียงพอให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่อสู้กับเชื้อแบคทีเรียได้ดี
- รับประทานยาลดไข้ตามที่เภสัชจ่ายให้ตรงเวลา
วิธีป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่
- ล้างมือเป็นประจำสม่ำเสมอ เมื่อมือเราสัมผัสโดนกับสิ่งของพยายามป้องกันเชื้อโรคด้วยการล้างมือกับสบู่ให้สะอาด หรือฉีดแอลกอฮอล์เพื่อฆ่าเชื้อ
- ไม่เอามือที่ไปจับสิ่งของมาสัมผัสกับ ตา จมูก และปาก
- เมื่อต้องการจามให้จามใส่ข้อพับศอก หรือถ้ามีผ้าเช็ดหน้า ทิชชู่ ให้จามใส่ในนั้น ห้ามจามใส่มือเด็ดขาด
- ทำความสะอาดหรือเช็ดแอลกอฮอล์กับสิ่งของที่เราต้องสัมผัสบ่อย ๆ เช่น โทรศัพท์ กระเป๋าตังค์
- เมื่ออยู่ในพื้นที่แออัดแนะนำให้ใส่แมสก์ เพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ
- หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงหรือเป็นไข้หวัดใหญ่
- หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น
โรคฉี่หนู
โรคฉี่หนูหรือโรคเลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่อยู่ในปัสสาวะสัตว์พาหะอย่างหนู สุนัข สุกร ม้า ซึ่งจะมีการปนเปื้อนในพื้นที่บริเวรที่มีน้ำท่วมขัง โดยวิธีการติดเชื้อจะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางผิวหนังที่มีบาดแผล หรือรอยขีดข่วนหากต้องเดินลุยน้ำ นอกจากนี้อาจเข้ามาทางเยื่อบุตา จมูก ปาก ได้เหมือนกัน โรคฉี่หนูเป็นอีกโรคที่หากไม่รีบพบแพทย์เพื่อรักษามีโอกาสเสี่ยงที่จะเสียชีวิตได้
อาการของโรคฉี่หนู
- ไข้สูง
- ปวดศีรษะ
- หนาวสั่น
- คลื่นไส้
- ท้องเสีย
- ตัวเหลือง ตาเหลือง
- ตาแดง ระคายเคืองที่ตา
- มีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อหรือข้อต่ออย่างรุนแรง
การรักษาโรคฉี่หนู
แพทย์จะพิจารณาจากอาการ และความรุนแรงเป็นหลัก ซึ่งถ้าหากอยู่ในอาการร้ายแรงจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาผ่านแพทย์โดยตรงเท่านั้น
- รักษาผ่านการให้ยาปฏิชีวนะ รวมถึงยาที่รักษาตามอาการ
- ทานยาให้ครบ และตรงเวลาตามที่แพทย์สั่ง เพื่อให้หายจากโรค และจะไม่กลับมาติดซ้ำอีกรอบ
การป้องกันโรคฉี่หนู
- เลี่ยงการเดินลุยน้ำ หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ แนะนำให้ใส่รองเท้าบูธที่ข้อยาวที่สูงกว่าระดับน้ำ
- อย่าให้แผลสัมผัสน้ำที่ไม่สะอาดโดยเด็ดขาด
- หากแผลสัมผัสกับสิ่งที่สกปรกให้ล้างน้ำให้สะอาดทันที
- หมั่นทำความสะอาดบริเวณบ้านไม่ให้มีน้ำขัง หรือพยายามล้างด้วยสบู่ให้บริเวณที่เคยมีน้ำขังสะอาด และแห้ง
และนี่ก็คือ 3 โรคฮิตที่มาพร้อมกับฤดูฝน ที่เราควรระมัดระวัง และใส่ใจกันให้มาก ๆ เนื่องจาก โรคที่มากับหน้าฝน เหล่านี้ มีเชื้อแบคทีเรียที่สัตว์เป็นพาหะแพร่ระบาดสู่คน รวมถึงเชื้อโรคที่ระบาดไปทั่วอากาศชื้น ๆ เพื่อน ๆ ต้องหมั่นล้างมือ ล้างเท้า อาบน้ำ ทันทีเมื่อถึงบ้าน จะช่วยป้องกันการติดโรคดังกล่าวได้ในเบื้องต้น
อ้างอิงข้อมูลจาก: pr.moph.go.th / medparkhospital / bangkokhospital