More

    ชวนไปชมภาพยนตร์สุดยอดผลงานของผู้กำกับ Lee Chang-dong

    โรงภาพยนตร์ House สามย่าน เปิดฉายโปรแกรมพิเศษภาพยนตร์จากผลงานการกำกับของ อี ชางดง หนึ่งในผู้กำกับชาวเกาหลีใต้ที่นำภาพยนตร์เกาหลีสู่วงการภาพยนตร์โลกผ่านเทศกาลหนังเมืองคานส์ ชมภาพยนตร์ 3 เรื่อง 3 แนว ที่เน้นการเล่าเรื่องอย่างเรียบง่าย แต่แฝงไว้ซึ่งประเด็นทางสังคม ทั้ง Peppermint Candy (1999), Oasis (2002), Poetry (2010) และปิดท้ายด้วยสารคดี Lee Chang-dong: The Art of Irony (มีรอบฉายถึงวันที่ 25 ก.ย. 2567)

    Peppermint Candy (1999)

    บนรางรถไฟ ชายวัย 40 นาม ‘ยองโฮ’ พยายามฆ่าตัวตาย…มันเกิดอะไรขึ้น? หนังพาเราย้อนสู่อดีตของยองโฮผ่านเรื่องราวช่วงต่าง ๆ ในชีวิตของเขา จากเด็กหนุ่มผู้มีอุดมการณ์ สู่การเป็นทหาร นายตำรวจ และนักธุรกิจผู้ขมขื่น ทีละน้อยที่มันเผยให้เห็นว่าเหตุการณ์ประวัติศาสตร์และความรุนแรงทางการเมืองค่อย ๆ หล่อหลอมให้เขากลายมาเป็นชายผู้สิ้นหวังในนาทีสุดท้ายได้อย่างไร

    Oasis (2002)

    ‘ฮองจองดู’ ชายหนุ่มที่เพิ่งพ้นโทษจากคุกติดต่อครอบครัวของชายที่ตายเพราะน้ำมือเขา ในบ้านหลังนั้น เขาได้พบ “ฮันกองจู’ หญิงสาวที่เป็นอัมพาตเพราะโรคสมองพิการ ท่ามกลางสังคมที่ไม่เข้าใจและครอบครัวที่ไม่ยอมรับ ความสัมพันธ์อันลึกซึ้งระหว่างคนสองคนที่ถูกสังคมเขี่ยไปไว้ชายขอบก็ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้น

    Poetry (2010)

    มิจาอาศัยอยู่กับหลานชายในเมืองเล็ก ๆ แถบชานเมืองริมแม่น้ำฮัน เธอเป็นหญิงชราร่างบอบบางที่ชอบแต่งตัวด้วยหมวกประดับดอกไม้และเสื้อผ้าสวยเก๋ แต่ขณะเดียวกันเธอก็เป็นคนที่คาดเดาไม่ได้และมีจิตใจอยากรู้อยากเห็น ด้วยความบังเอิญเธอได้เข้าเรียนวิชากวีนิพนธ์ที่ศูนย์วัฒนธรรมใกล้บ้านและได้รับโจทย์ให้ทดลองเริ่มเขียนบทกวีเป็นครั้งแรกในชีวิต มิจาออกแสวงหาแรงบันดาลใจสำหรับลงมือเขียน โดยเริ่มต้นด้วยการสังเกตเพื่อค้นหาความงามของชีวิตประจำวันที่ไม่เคยตั้งใจมองมาก่อน การกระทำนี้สร้างความประหลาดใจและปิติให้แก่ตัวเธอเองที่ทั้งตื่นเต้นและกังวลราวกับเป็นเด็กหญิงน้อยผู้เพิ่งค้นพบสิ่งต่าง ๆ เป็นครั้งแรก แต่แล้ววันหนึ่ง เมื่อจู่ๆ เธอก็ต้องเผชิญกับความเป็นจริงอีกบางอย่างซึ่งรุนแรงเกินจินตนาการ มิจาก็ตระหนักว่าบางทีชีวิตก็ไม่ได้สวยงามอย่างที่คิด

    Lee Chang-dong

    สารคดี Lee Chang-dong: The Art of Irony

    ใน Peppermint Candy อีชางดงสร้างเอกลักษณ์ให้แก่เรื่องเล่าของเขาด้วยการเล่าชีวิตของตัวละครจากจุดปลายย้อนกลับสู่จุดเริ่มต้น และในสารคดีเรื่องนี้ อาแลง มาซาร์ส ผู้กำกับชาวฝรั่งเศสก็แสดงความคารวะต่อหนึ่งในคนทำหนังเกาหลีใต้ที่ดีที่สุดผู้นี้ด้วยการใช้กลวิธีเดียวกัน นั่นหมายความว่าเราจะได้ทำความรู้อีชางดงผ่านหนังทั้ง 6 เรื่องของเขา เริ่มจาก Burning (2018) แล้วค่อย ๆ ย้อนไปสู่งานชิ้นแรกคือ Green Fish (1997) ซึ่งจะทำให้เราได้เรียนรู้ชีวิตของอีชางดงจากปัจจุบันกลับสู่วัยเยาว์ โลกที่เขาซึมซับ สัญลักษณ์และสถานที่ต่าง ๆ ที่เขาใช้ในภาพยนตร์ โดยมีตัวเขาเองมาช่วยบอกเล่า ร่วมกับเพื่อนร่วมงานคนสำคัญอย่างโอจองมี ทั้งหมดส่งผลให้การดูสารคดีเรื่องนี้เทียบได้กับการเข้าร่วมมาสเตอร์คลาสของสุดยอดผู้กำกับตัวจริงเสียงจริง

    บทความที่น่าสนใจ

    ตัวอย่างแรก ‘Mickey 17’ หนังไซไฟ-ระทึกขวัญเรื่องใหม่ของ Bong Joon-Ho (ผู้กำกับ Parasite)

    เดมี่ มัวร์รับบทเด่นใน “The Substance สวยสลับร่างหนังเขย่าขวัญ จิกกัดค่านิยมความงามใหม่

    Related Post