More

    “ภาพบันดาล” (Art Decoded) นิทรรศการต่อยอดไอเดียเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทย

    พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป มีนิทรรศการน่าชมที่ชื่อ ภาพบันดาล (Art Decoded) ที่พร้อมเสนอคุณค่าของงานศิลปะด้วยประสบการณ์และผัสสะใหม่ ที่ไม่ใช่แค่เพียงการนำเสนอหรือจัดแสดงผลงานศิลปะให้ผู้ชมสัมผัสความงดงามได้ด้วยสายตาดังที่ผ่านมา แต่นำเสนอว่าความงดงามของงานศิลปะหรือสุนทรียะภายในผลงานนั้นสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ต่อยอดเป็นผลงานการออกแบบผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกอันทรงคุณค่าและสร้างสรรค์ และเพื่อให้เป็นนิทรรศการต้นแบบในการนำเสนอแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (creative economy) ภายในสังคมไทย

    งาน Art Decoded นี้มี รศ.ดร.น้ำฝน ไล่สัตรูไกล รับหน้าที่เป็นภัณฑารักษ์นิทรรศการ และได้รับการสนับสนุนผลงานศิลปะจากศิลปินแห่งชาติและศิลปินระดับนานาชาติ ได้แก่ ศ. (เกียรติคุณ) ปรีชา เถาทอง, Emer. Prof. Peter Pilgrim, ศ. (เกียรติคุณ) ปริญญา ตันติสุข, รศ. ศรีวรรณ เจนหัตถการกิจ, รศ. สมศักดิ์ เชาวน์ธาดาพงศ์, ศ. สุธี คุณาวิชยานนท์, ชลิต นาคพะวัน, รศ. กันจณา ดำโสภี, ผศ. ชัยพร ระวีศิริ, Konstantin Ikonomidis และ ยุรี เกนสาคู โดยนักออกแบบได้รับแรงบันดาลใจจากสุนทรียะของผลงานศิลปกรรมของศิลปิน จากนั้นถ่ายทอดออกมาเป็นงานสามมิติและถอดแบบออกมาเป็นของที่ระลึกให้สอดคล้องกับแนวคิดของงานศิลปะ

    นิทรรศการภาพบันดาล – Art Decoded เป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการวิจัยการจัดนิทรรศการระดับนานาชาติและศึกษาต้นแบบสินค้าที่ระลึกภายในพิพิธภัณฑ์เพื่อต่อยอดสู่สินค้าเชิงพาณิชย์จากฐานทุนวัฒนธรรมของไทย” มีวัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการการทำงานและส่งเสริมงานทางด้านศิลปกรรมของไทย การพัฒนาอุตสาหกรรมด้านงานออกแบบหัตถกรรมไทย และการสรรค์สร้างต้นแบบสินค้าที่ระลึกที่มีคุณค่าและยกระดับผลิตภัณฑ์ของไทยไปสู่เวทีเศรษฐกิจสร้างสรรค์ระดับโลก

    ภายในนิทรรศการประกอบไปด้วย ผลงานภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดเชียงทองของ ศ. (เกียรติคุณ) ปรีชา เถาทอง ที่นำเสนอเรื่องราวต่าง ๆ ไว้ ขณะที่นักออกแบบได้เลือกสรรเรื่องราวแต่ละชีวิตนั้นถ่ายถอดเป็นงาน 3 มิติในรูปของเครื่องเคลือบเบญจรงค์และเครื่องประกอบโต๊ะอาหาร

    ด้านผลงานของ Emer. Prof. Peter Pilgrim นำเสนอภาพ Definition ซึ่งเสนอภาพการรับรู้ต่อแสงและความสว่างไสวโดยปราศจากการใช้สีที่มีโทนเข้มสลับกับสีที่ซีดและเบาบางเพื่อสร้างภาพลวงตา ขณะที่ผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกได้ใช้เส้นแนวนอนและแนวตั้งที่สื่อถึงพื้นผิวหลายชั้นมาออกแบบเป็นผ้าของที่ระลึก ส่วนภาพจิตรกรรมชีวิตที่ไม่หยุดนิ่งอันเต็มไปด้วยเหตุการณ์หลากหลายทั้งสุขและทุกข์ที่ผ่านมาของ ศ. (เกียรติคุณ) ปริญญา ตันติสุข ได้รับแรงบันดาลใจและถอดสุนทรียะออกมาเป็นโมบายแขวนที่หมุนวนตามแรงลม สื่อถึงการตั้งมั่นในความดีคือแกนกลางโมบายที่ช่วยให้เรายังคงสมดุลในทุกสถานการณ์นำพาชีวิตไปสู่จุดหมายที่งดงาม

    ส่วนงานของ รศ. ศรีวรรณ เจนหัตถการกิจ นำเสนอศิลปกรรมลอยตัวที่ศิลปินต้องการถ่ายทอดความรักและความห่วงใยและนำเสนอการออกแบบเป็นหุ่นคนย่อส่วนโดยใช้มือเป็นสัญญลักษณ์แห่งความรักและความห่วงใย

    ผลงานภาพ Aqua (น้ำ) ของ รศ. สมศักดิ์ เชาวน์ธาดาพงศ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ถูกนำเสนอผ่านการออกแบบสร้างสรรค์เป็นพัดที่ระลึกโดยได้แรงบันดาลใจจากความเย็นของสายน้ำที่ไหลผ่านอย่างชื่นฉ่ำภายในภาพที่มีลวดลายที่พลิ้วไหว

    Art Decoded

    และผลงาน Today is the best day ของ ศ. สุธี คุณาวิชยานนท์ นำเสนอภาพและถ้อยคำ (Message) ให้เป็นภาษาภาพ (Visual Art) และศิลปะสื่อผสม (Fusion Art) และถูกนำมารังสรรค์เป็นของที่ระลึกเครื่องประดับโต๊ะทำงาน

    Art Decoded

    Dragon Year ผลงานของ ชลิต นาคพะวัน ที่ถ่ายทอดตัวตนของศิลปิน สะท้อนถึงการทำงานศิลปะและการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ โดยนักออกแบบได้สร้างสรรค์งานของที่ระลึกเป็นงานพิมพ์รอยสัก

    Art Decoded

    ขณะที่ รศ.กันจณา ดำโสภี นำเสนอผลงาน Madame Horse: An embracing touch ที่เกิดการรวบรวมประสบการณ์ที่จางหายจากความนึกคิดและความทรงจำ โดยสะท้อนผ่านการเล่าเรื่องราวและเหตุการณ์ของม้าเพศเมียที่ถูกเลี้ยงผ่านตัวละครที่เป็นผู้หญิง สำหรับงานออกแบบได้แรงบันดาลใจจากม้าที่แฝงเร้นอยู่ในผลงานของศิลปิน โดยใช้ลักษณะของรูปสามเหลี่ยมนำมาเป็นองค์ประกอบหลักที่เชื่อมโยงกันอย่างละเอียดอ่อน

    Art Decoded

    และ ผลงาน ผศ.ชัยพร ระวีศิริ อันเกิดจากสร้างรูปทรงจากปรากฏการณ์ในธรรมชาติและนำมาแปรสภาพเป็นทัศนธาตุต่าง ๆ โดยนำมาตีความใหม่ออกมาเป็นเข็มกลัด โดยใช้เทคนิคการกัดกรดหรือการกัดด้วยแม่พิมพ์โลหะ (Etching) จากการทำภาพพิมพ์

    Art Decoded

    แรงบันดาลใจจากภาพของศิลปินเหล่านี้ก่อให้เกิดเป็นงานออกแบบผลิตภัณฑ์ของที่ระลึก ถือเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่สำหรับนิทรรศการและพิพิธภัณฑ์ไทย ชมนิทรรศการ “ภาพบันดาล Art Decoded” ได้ถึงวันที่ 27 กันยายนนี้ เวลา 09:00 – 16:00 น. ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 081-427-4998

    บทความที่น่าสนใจ

    “พิพิธภัณฑ์บำบัด” (meseo-theraphy) ใช้พลังของศิลปะเยียวยารักษาโรค

    Thailand Biennale, Phuket 2025 เปิดตัวธีมงานและทีมภัณฑารักษ์ใหม่

    Related Post