ทำความรู้จัก ประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีป 1,000 ดวง
ประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีป เป็นมรดกทางภูมิปัญญาของชาวจังหวัดตาก ที่ได้รับสืบทอดจากบรรพบุรุษมาหลายชั่วอายุคน โดยเริ่มต้นจากความคิดริเริ่มสร้างสรรค์เล็ก ๆ หล่อหลอมจนกลายเป็นประเพณีอันยิ่งใหญ่ระดับประเทศที่ควรค่าแก่การรักษาไว้ เอกลักษณ์ของกระทงสายจังหวัดตาก คือ กระทงที่ทำจากกะลามะพร้าว ซึ่งเป็นของเหลือใช้จากทุกครัวเรือน เนื่องจากชาวเมืองตากนั้นเวลาประกอบอาหาร ทั้งอาหารคาว และของหวาน ก็จะมีมะพร้าวเป็นส่วนประกอบอยู่เสมอ
ที่จังหวัดตากนั้นมีอาหารว่างขึ้นชื่อที่เรียกกันว่า “ไส้เมี่ยง” ก็ทำมากจากมะพร้าวเช่นกัน เพราะฉะนั้นกะลามะพร้าวจึงเป็นวัสดุเหลือทิ้งในทุก ๆ บ้านเรือน ด้วยเหตุนี้ชาวเมืองตากจึงได้นำกะลามะพร้าวมาประดิษฐ์เป็นกระทงที่มีความสวยงาม จนก่อเกิดมาเป็นประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีป 1,000 ดวง สืบต่อกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนั่นเองค่ะ
ประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีป 1,000 ดวง ถูกจัดขึ้นในวันเพ็ญเดือนสิบสองของทุกปี โดยมีจุดมุ่งหมายให้ชาวเมืองตากได้พักผ่อนหย่อนใจจากความเหนื่อยล้า ทั้งยังสร้างความสามัคคีในหมู่คณะอีกด้วย โดยก่อนถึงวันจัดงานแต่ละชุมชนจะนำกระทงสายที่ได้ร่วมกันประดิษฐ์ และตกแต่งอย่างสวยงาม ออกมาแห่เป็นขบวน ก่อนที่จะนำไปลอยในแม่น้ำปิง เพื่อเป็นการขอขมาพระแม่คงคา ซึ่งกระทงสายนั้นจะประกอบไปด้วย กระทงนำ กระทงกะลา และกระทงปิดท้าย
กระทงนำ เป็นกระทงขนาดใหญ่ ฐานกระทงมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 150 เซนติเมตร ประดับตกแต่งด้วยใบตองสดรูปแบบต่าง ๆ และดอกไม้สวยงาม ภายในกระทงจะต้องมีผ้าสบง, เครื่องกระยาบวช, หมากพลู, สตางค์, ธูป, เทียน, ขนม และของกิน ซึ่งประยุกต์มาจากแพผ้าป่าน้ำในสมัยโบราณ โดยรอบกระทงจะประดับด้วยไฟเพื่อความสว่างไสว สวยงาม ก่อนนำกระทงลงลอยในแม่น้ำจะต้องกล่าวคำขอขมาต่อพระแม่คงคา และกล่าวบูชารอยพระพุทธบาท แล้วจึงนำกระทงนี้ลงลอยเป็นอันดับแรก
กระทงกะลา นำกะลามะพร้าว 1,000 ใบ มาขัดถูจนสะอาด ภายในกะลาใส่ด้ายดิบที่ฟั่นเป็นรูปตีนกาแล้วหล่อด้วยเทียนขี้ผึ้ง ซึ่งนำมาจากเทียนจำนำพรรษาที่พระสงฆ์จุดเพื่อทำพิธีสวดมนต์ในโบสถ์วิหารตลอดสามเดือน หลังจากออกพรรษาชาวบ้านจะนำเทียนขี้ผึ้งเหล่านั้นมาหล่อใส่ในกะลา สำหรับเป็นเชื้อเพลิงจุดไฟก่อนที่จะปล่อยลงลอยเป็นสายในแม่น้ำปิง ซึ่งถือว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ และเป็นสิริมงคลแก่ผู้นำไปลอย ทั้งนี้การจุดไฟที่ด้ายซึ่งฟั่นเป็นรูปตีนกานั้น ถือเป็นความเชื่อของชาวบ้านที่ว่าแสงไฟจะสร้างความสว่างไสวให้กับชีวิตของตน
กระทงปิดท้าย มีลักษณะคล้ายกับกระทงนำ แต่มีขนาดที่เล็กกว่า ฐานกระทงมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 100 เซนติเมตร ประดับตกแต่งด้วยใบตองสดรูปแบบต่าง ๆ และดอกไม้สวยงามเช่นกัน กระทงนี้จะใช้ลอยปิดท้ายตามกระทงกะลา 1,000 ใบ พร้อมทั้งมีการแสดงสัญลักษณ์ว่าสิ้นสุดการลอยของกระทงสายนั้นแล้ว เช่น การจุดพลุดอกไม้ไฟ เป็นต้น
สำหรับใครที่สนใจประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีป 1,000 ดวง สามารถไปเที่ยวชมงานกันได้ งานจะจัดขึ้นในวันที่ 5-8 พฤศจิกายน 2565 ณ บริเวณริมสายธารลานกระทงสาย เชิงสะพานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี อำเภอเมือง จังหวัดตาก รายละเอียดงาน คลิก
ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก : Thailand Festival, Amazing Thailand และ ททท.สำนักงานตาก