More

    ไวรัส RSV อาการคล้ายหวัดธรรมดา แต่ทำไมถึงเป็นวายร้ายในผู้สูงอายุ

    ไวรัส RSV อาการคล้ายหวัดธรรมดา แต่ทำไมถึงเป็นวายร้ายในผู้สูงอายุ: RSV Virus หรือ Respiratory Syncytial Virus เชื้อไวรัสที่คุ้นหูในหลายๆ ครอบครัวที่มีเด็กเล็ก รู้หรือไม่ว่า ผู้ใหญ่ก็ติดเชื้อนี้ได้เช่นกัน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ หรือคนที่ภูมิต้านทานต่ำ RSV ทำให้เกิดการติดเชื้อในทางเดินหายใจทั้งส่วนบน และส่วนล่าง ช่วงฤดูฝนไปจนถึงฤดูหนาว เป็นช่วงที่มีการระบาดของโรคนี้สูงขึ้นกว่าฤดูอื่นๆ หากเกิดการติดเชื้อในระบบการหายใจส่วนล่าง อาทิ หลอดลม และปอด อาจทำให้อาการรุนแรง ซึ่งบทความจะมาไขข้อสงสัยไวรัส RSV ในผู้สูงอายุเกิดได้อย่างไรโดยพื่อให้รู้เขา รู้เรา เข้าใจ เฝ้าระวัง รักษา ป้องกัน ช่วยลดความเสี่ยง รวมถึงการเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ได้

    การก่อโรค RSV

    โรค RSV  เกิดจากการติดเชื้อไวรัส RSV โดยผู้ติดเชื้อ ไอ จาม ทำให้เชื้อไวรัส RSV กระจายผ่านละอองฝอย โดยเชื้อเข้าสู่ร่างกายผ่านทางจมูก ปาก หรือดวงตา  หรือจากการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อโดยตรง เช่น นำมือมาสัมผัสใบหน้า ทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส โดยเชื้อสามารถอยู่บนพื้นผิวต่างๆ ได้นานหลายชั่วโมง และแพร่กระจายได้ง่าย

    อาการของโรค RSV

    ผู้สูงอายุ และกลุ่มคนที่มีโรคประจำตัว เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อ RSV ได้ง่ายกว่าคนทั่วไป โดยส่วนใหญ่อาการของ RSV จะมีลักษณะคล้ายกับอาการของหวัดธรรมดา แต่อาการแสดงนานกว่า โดยอาการแสดง เช่น ไข้, ไอเรื้อรัง, หอบเหนื่อย, เสมหะมากขึ้น และอ่อนเพลีย สำหรับผู้ใหญ่ทั่วไปโรค RSV มักจะมีอาการ 5-7 วัน และดีขึ้นได้ แต่กลุ่มผู้สูงอายุ หรือกลุ่มเสี่ยง เช่น โรคเบาหวาน หอบหืด โรคปอดอุดกั้น โรคหัวใจ โรคไตเรื้อรัง หรือภูมิต้านทานต่ำ อาจทำให้อาการรุนแรง

    ความร้ายแรงของโรค RSV ในผู้สูงอายุ

    ผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะมีระบบภูมิคุ้มกันที่ไม่แข็งแรง ทำให้มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ RSV ได้ง่ายกว่าวัยอื่น ๆ นอกจากนี้ ผู้สูงอายุมักมีโรคประจำตัวอื่น หรือระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ยิ่งทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน ซึ่งเป็นผลมาจากการติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนล่าง เช่น หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ หรือเกิดภาวะหายใจล้มเหลว อาการอาจเป็นต่อเนื่องหลายสัปดาห์หรือเป็นเดือนได้ เพราะฉะนั้นการดูแลสุขภาพ และการป้องกันการติดเชื้อจึงเป็นสิ่งสำคัญ

    รู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรค RSV Virus
    ถ้าผู้ป่วยพบว่ามีอาการเบื้องต้น และยังไม่แน่ใจว่าได้รับเชื้อ RSV หรือไม่ แนะนำให้มาพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย โดยการตรวจสารคัดหลั่งจากจมูกหรือคอ เพื่อหาหลักฐานของไวรัส RSV

    การรักษา
    โรค RSV เป็นโรคติดเชื้อที่ถึงแม้หายแล้วก็สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีก เพราะภูมิคุ้มกันอยู่ได้ไม่นาน ในผู้สูงอายุ และเด็กเล็ก หากมีอาการป่วย ควรสังเกตอาการของตนเอง การรักษาให้ทันท่วงทีจะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรค การรักษาในรายที่อาการรุนแรง ควรอยู่ในการดูแลของแพทย์ที่มีความชำนาญการ

    การป้องกันการติดเชื้อ

    หลีกเลี่ยงการรับเชื้อ ไวรัส RSV เช่น หลีกเลี่ยงการไปที่อับแคบ ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือให้สะอาด หากมีคนในบ้านป่วยติดเชื้อ RSV ควรแยก และงดใช้ของส่วนตัวร่วมกัน

    วัคซีน RSV เป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง ช่วยป้องกัน และลดความเสี่ยงการติดเชื้อ และความรุนแรงของโรค RSV และโรคแทรกซ้อนอื่นๆ  ได้โดยตรง ซึ่งมีทั้งวัคซีนสำหรับเด็ก และวัคซีนสำหรับผู้ใหญ่

    ข้อมูล:  พญ.พวงรัตน์ ตั้งธิติกุล แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์โรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤตโรคระบบการหายใจ ศูนย์อายุรกรรม โรงพยาบาลนวเวช

    ภาพ: Pexels

    บทความที่น่าสนใจ

    สมองล้า เพลีย ความจำแย่ลง! แนะ 5 สารอาหารบำรุงสมอง

    ใครเป็นบ้าง? “ภาวะนอนไม่หลับ” สมองไม่หยุดคิด เครียดไม่รู้ตัว

    Related Post