เจ้าของที่เตรียมกระอัก มติชน รายงานว่ากระทรวงมหาดไทยเปิดเผยว่า ภาษีที่ดิน 2567 ‘ใช้อัตราเดิมเก็บเต็ม 100%’ ไม่มีการลดหย่อน หากปล่อยที่ร้าง 3 ปีติดต่อกัน จ่ายเพิ่มอีกเท่าตัว
ภาษีที่ดิน 2567 เคาะแล้ว! ใช้อัตราเดิมเก็บเต็ม 100%
เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2567 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า แนวทางการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประจำปี 2567 จะใช้อัตราที่จัดเก็บปัจจุบัน ได้แก่
- ที่ดินเกษตรกรรมจัดเก็บ 0.01-0.1%
- ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยจัดเก็บ 0.02-0.1%
- ที่ดินอื่น ๆ เช่น การพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม จัดเก็บ 0.3-0.7%
- ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์จัดเก็บ 0.3-0.7%
และเก็บ 100% ไม่มีลดหย่อนให้ แต่ได้มีการขยายเวลาการชำระให้อีก 2 เดือน จากเดิมที่ผู้เสียภาษีจะต้องเสียภาษีภายในเดือนเมษายน 2567 เป็นภายในเดือนมิถุนายน 2567
นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในปี 2567 จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ คือ เก็บในอัตรา 100%
ไม่มีลดหย่อนเหมือนปี 2566 ที่ลดให้ 15% เพื่อลดภาระงบประมาณภาครัฐที่ต้องจัดสรรงบมาชดเชยให้กับหน่วยงานท้องถิ่น คาดจะเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในปี 2567 ได้ประมาณ 41,459 ล้านบาท
นายขจรกล่าวว่า อย่างไรก็ตามองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถออกข้อบัญญัติกำหนดอัตราภาษีที่สูงกว่าอัตราภาษีที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 37 วรรคหกได้ แต่จะกำหนดอัตราภาษีแยกตามประเภทการใช้ประโยชน์หรือตามเงื่อนไขแต่ละประเภทการใช้ประโยชน์ไม่ได้
เนื่องจากกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้ และกรณีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ 3 ปีติดต่อกัน ในปีที่ 4 จะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 0.3 เพิ่มขึ้นเท่าตัว
การพิจารณาลด-ยกเว้น ภาษีที่ดิน 2567
มติชน รายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับการลดและการยกเว้นภาษีนั้น
- ให้พิจารณาลดภาษีในอัตราร้อยละ 50 และร้อยละ 90 สำหรับทรัพย์สินบางประเภท ตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2563 ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาลดภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท (ถ้ามี)
- ผู้บริหารท้องถิ่นโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประจำจังหวัดมีอำนาจลดหรือยกเว้นภาษีที่ดินให้แก่ผู้เสียภาษี โดยพิจารณาตามระยะเวลาประกอบกับสัดส่วนความเสียหาย ใน 2 กรณี ได้แก่
- กรณีมีเหตุพ้นวิสัยที่ยากจะป้องกันได้โดยทั่วไป เช่น อัคคีภัย วาตภัย อุทกภัย ภัยแล้ง ภาวะฝนแล้งฝนทิ้งช่วง ภัยจากลูกเห็บ ไฟป่า โรคระบาดของแมลงหรือศัตรูพืช อากาศหนาวจัด ภัยสงคราม ภัยจากการก่อการร้าย เป็นต้น
ไม่ว่าเกิดจากธรรมชาติ หรือมีบุคคลหรือสัตว์ทำให้เกิดขึ้นซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างเมื่อเหตุดังกล่าวได้ยุติลงแล้วให้ประกาศให้ผู้เสียภาษีมาลงทะเบียน และประกาศรายชื่อผู้มาลงทะเบียน พร้อมทั้งแต่งตั้งเจ้าหน้าที่สำรวจความเสียหาย เพื่อจัดทำบัญชีรายชื่อผู้เสียภาษี จำนวนพื้นที่ และสัดส่วนของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับความเสียหายและจำนวน ภาษี ที่เห็นควรลดหรือยกเว้น ภาษีตามหลักเกณฑ์เสนอคณะกรรมการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประจำจังหวัดหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแล้วแต่กรณีพิจารณาให้ความเห็นชอบตามรอบระยะเวลาที่ระเบียบกระทรวงมหาดไทยกำหนด
- กรณีมีเหตุนอกจากข้อ (1) ทำให้ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างเฉพาะรายได้รับความเสียหาย หรือถูกรื้อถอนหรือทำลาย หรือชำรุดเสียหายจนเป็นเหตุให้ต้องซ่อมแซมในส่วนสำคัญโดยมิได้มีเหตุมาจากผู้เสียภาษี (พิจารณาตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่)
- กรณีมีเหตุพ้นวิสัยที่ยากจะป้องกันได้โดยทั่วไป เช่น อัคคีภัย วาตภัย อุทกภัย ภัยแล้ง ภาวะฝนแล้งฝนทิ้งช่วง ภัยจากลูกเห็บ ไฟป่า โรคระบาดของแมลงหรือศัตรูพืช อากาศหนาวจัด ภัยสงคราม ภัยจากการก่อการร้าย เป็นต้น
ให้ผู้เสียภาษีมายื่นคำร้องภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างได้รับความเสียหายฯ พร้อมทั้งแต่งตั้งเจ้าหน้าที่สำรวจความเสียหาย เพื่อจัดทำบัญชีรายชื่อผู้เสียภาษี จำนวนพื้นที่ และสัดส่วนของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างซึ่งได้รับความเสียหาย และจำนวนภาษีที่เห็นควรลดหรือยกเว้นภาษีตามหลักเกณฑ์
เสนอคณะกรรมการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประจำจังหวัดหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแล้วแต่กรณีพิจารณาให้ความเห็นชอบตามรอบระยะเวลาที่ระเบียบกระทรวงมหาดไทยกำหนด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากปี 2567 อัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะเก็บอัตราเดิมแล้ว ในส่วนของราคาประเมินที่ดิน ทางกรมธนารักษ์ยังไม่ปรับขึ้นเช่นกัน
ที่มา matichon
บทความน่าสนใจ