More

    สงกรานต์ 2565 ทำอะไรได้บ้าง? (อัปเดต 29 มี.ค. 65)

    สงกรานต์ 2565 ทำอะไรได้บ้าง? (อัปเดต 29 มี.ค. 65)

    นายขจิต ชัชชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ได้เปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้มีการจัดกิจกรรม สงกรานต์ 2565 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

    แต่ข้อปฏิบัติและระเบียบต่าง ๆ จะต้องให้ผ่านการพิจารณาของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ชุดใหญ่ ที่ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งคาดว่าจะมีการลงนามในเร็ว ๆ นี้ และ กทม.จะออกคำสั่งตามระเบียบดังกล่าว ภายในวันที่ 31 มีนาคมนี้ เพื่อให้มีผลในวันที่ 1 เมษายน 2565

    สงกรานต์ 2565

    โดยได้มีข้อสรุปเบื้องต้นว่า จะอนุญาตให้จัดกิจกรรมตามประเพณีได้ เช่น รดน้ำดำหัว สรงน้ำพระ การละเล่น การแสดงทางวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น ขบวนแห่ การแสดงดนตรี ในส่วนของการเล่นน้ำสามารถเล่นได้แบบ “ประพรม” ห้ามประแป้ง ห้ามปาร์ตี้โฟม รวมถึงห้ามจำหน่าย และบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่จัดงาน

    ทั้งนี้ทั้งนั้นการจัดงานจะต้องปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting ต้องมีการควบคุมความหนาแน่นในพื้นที่จัดงาน 1 คน ต่อ 4 ตารางเมตร กำหนดช่องทางเข้า-ออกจากงาน จัดจุดคัดกรอง และจะต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาด้วย

    สงกรานต์ 2565

    ส่วนกิจกรรมรวมกลุ่มในครอบครัวนั้น ควรจัดกิจกรรมในที่มีการระบายอากาศได้ดี สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา งดกิจกรรมการสัมผัสใกล้ชิด หรือใช้สิ่งของร่วมกัน หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหาร หรือเครื่องดื่มร่วมกันเป็นเวลานาน อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุควรได้รับวัคซีนให้ครบก่อนเข้าร่วมกิจกรรม ผู้ติดเชื้อและผู้สัมผัสเสี่ยงสูงห้ามร่วมกิจกรรม

    ปลัด กทม. ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้มีพื้นที่ต่าง ๆ ที่ยื่นเรื่องขอจัดงาน “สงกรานต์ 2565” มาแล้วประมาณ 7-8 แห่ง ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบ ส่วนการจัดงานสงกรานต์ของแต่ละสำนักงานเขตนั้น ขณะนี้ ยื่นเรื่องมาว่าไม่จัดงานแล้ว 46 เขต เหลืออีก 4 เขต ยังไม่ได้แจ้งว่าจะจัดหรือไม่จัด

    สำหรับพื้นที่ที่ต้องการจัดกิจกรรมสงกรานต์ใน กทม. หากมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมไม่เกิน 1,000 คน ให้ทำเรื่องขออนุญาตไปที่สำนักงานเขตนั้น ๆ แต่หากมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเกิน 1,000 คน จะต้องทำเรื่องขออนุญาตไปยังสำนักอนามัย กทม. โดยจะต้องทำเรื่องขออนุญาตล่วงหน้าก่อนจัดกิจกรรม 5 วันเป็นอย่างน้อย

    สำหรับการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น ร้านค้าที่ไม่ได้อยู่ในสถานที่จัดงาน สามารถเปิดให้บริการจำหน่าย และบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ตามปกติ แต่ต้องเป็นร้านที่มีสัญลักษณ์มาตรฐาน SHA หรือ SHA Plus และต้องอยู่ภายใต้มาตรการป้องกันโควิด-19 และตามระเบียบของ กทม. อีกทั้งยังจำกัดเวลาจำหน่ายและบริโภคถึงเวลา 23.00 น. เท่านั้น

    สำหรับการปฏิบัติตนหลังกลับจากงานสงกรานต์
    1.สังเกตอาการตนเอง 7 วัน
    2.หลีกเลี่ยงพบปะกับผู้คนจำนวนมาก หากพบว่ามีอาการสงสัยติดเชื้อ ให้ทำการตรวจ ATK
    3.พิจารณามาตรการ WFH ให้เป็นไปตามความเหมาะสม และการพิจารณาของหน่วยงาน

    ขอบคุณข้อมูลจาก
    Sanook.com และ คมชัดลึก

    fahwoww
    fahwoww
    สิ่งแรกที่ทำหลังกลับจากเที่ยว คือ วางแพลนทริปถัดไป ^..^ เรื่องกิน เรื่องเที่ยว ขอให้บอกงานถนัด

    Related Post